แพทย์ยืนยัน’สูบบุหรี่’เสี่ยงติดโควิด และป่วยรุนแรงมากกว่าไม่สูบ  

แพทย์ยืนยัน’สูบบุหรี่’เสี่ยงติดโควิด และป่วยรุนแรงมากกว่าไม่สูบ   

"สูบบุหรี่"นอกจากสร้างปัญหาให้ปอดและทางเดินหายใจแล้ว ยังพบว่า เสี่ยงติดเชื้อ"โควิด19" และถ้าติดเชื้อแล้ว ยังมีความเสี่ยงมากกว่าคนไม่สูบบุหรี่

ล่าสุดมีผลวิจัยยืนยันว่า คนที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงติดเชื้อควิด 19 มีโอกาสป่วยรุนแรง รักษายาก ส่งผลกระทบระยะยาว และเสียชีวิตมากกว่าคนไม่สูบบุหรี่

แพทย์ มหาวิทยาลัยฮาเวิร์ด ศูนย์วิจัยยาสูบฯ แคลิฟอร์เนีย นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยฯ  เผยผลวิจัยสูบบุหรี่จะเพิ่มเสี่ยงติดเชื้อโควิด 19 โดยพบร้อยละ 10 ที่สูบบุหรี่ป่วยโควิดต้องรักษาตัวในไอซียู

นพ.คอนสแตนติน วาร์ดาวาส (Constantine Vardavas) จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าว บนเวทีการประชุมบุหรี่หรือสุขภาพเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 13 ว่า การศึกษาในกลุ่มผู้ติดเชื้อกว่าพันราย ทำให้ทราบว่า บุหรี่มีส่วนเชื่อมโยงกับสาเหตุการเสียชีวิตจากโควิด 19 ร่วมกับโรคที่มีสาเหตุจากการสูบบุหรี่อื่นๆ คือ โรคปอดติดเชื้อ ปอดอักเสบ

และโรคระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะกลุ่มนักสูบเพศชาย ทั้งผู้มีเคยมีประวัติการสูบบุหรี่แต่เลิกแล้ว และผู้ที่ยังสูบอยู่ การสูบบุหรี่ เป็นสาเหตุทำให้อาการติดเชื้อโควิด 19 รุนแรงขึ้น และรักษายากขึ้นด้วย

  163081854922

พิษภัยบุหรี่มีมากกว่าที่คิด ล่าสุดแพทย์ยืนยันว่า ถ้าติดเชื้อโควิดจากการควันบุหรี่มีโอกาสป่วยรุนแรงมากกว่าคนไม่สูบบุหรี่

สูบบุหรี่มีโอกาสติดเชื้อโควิดง่ายขึ้น

ทางด้านดร.สแตนตัน แกลนซ์ (Stanton Glanz, PhD) ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและศึกษาด้านการ ควบคุมยาสูบ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา นำเสนอผลการศึกษา ในสัตว์ทดลองพบว่า สารนิโคตินจากบุหรี่ไฟฟ้าและควันบุหรี่ส่งผลต่อปอด และส่งผลกับ ACE2 receptor ซึ่งทำหน้าที่เหมือนเป็นประตูรับไวรัสเข้าสู่เซลล์ในร่างกาย หากมีการสูบบุหรี่จะมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายขึ้น

สำหรับประเด็นข่าวในเดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งฝรั่งเศสระบุว่าสารนิโคตินมีส่วนป้องกัน การเกิดอาการของโควิด19 นั้น ผู้เชี่ยวชาญในเวทีประชุมในครั้งนี้ต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า กลุ่มตัวอย่าง ที่ทำการศึกษานั้นยังไม่มากพอ

อีกทั้งรายงานดังกล่าวก็ยังไม่ผ่านการกลั่นกรอง และยังไม่ได้ตีพิมพ์ เผยแพร่อย่างเป็นทางการ รวมทั้งมีข้อสังเกตว่านักวิจัยที่ออกมาตั้งสมมติฐานนี้ มีประวัติว่ามีความสัมพันธ์ กับบริษัทบุหรี่มาเป็นระยะเวลายาวนาน จึงคาดว่าบริษัทบุหรี่คือผู้อยู่เบื้องหลังการกระพือข่าวการสูบบุหรี่ และนิโคตินป้องกันการติดเชื้อโควิด 19

“ไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่าการสูบบุหรี่ป้องกันโควิด 19 และยังไม่มีหลักฐานตามที่ตั้งสมมุติฐานว่า นิโคตินลดจำนวนตัวรับ ACE-2

แต่มีหลักฐานจากงานวิจัยที่ยืนยันชัดในระดับนานาชาติแล้วว่า การสูบบุหรี่ เพิ่มจำนวนตัวรับ ACE-2 ซึ่งตามทฤษฎีแล้วยิ่งร่างกายมีจำนวนตัวรับนี้มาก จะส่งผลให้ร่างกายรับเชื้อไวรัสโคโรน่าได้ง่าย จะทำให้การติดเชื้อโควิดเกิดได้ง่ายขึ้น” ดร.สแตนตัน กล่าว

 

 

 

163081933461

(การประชุมบุหรี่หรือสุขภาพเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 13 จัดประชุมแบบ Live Stream)

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชา อายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ นายกสมาคมอุรเวชช์ แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำเสนอผลการศึกษา ในกลุ่มผู้ติดเชื้อที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช

“ช่วงการแพร่ระบาดระลอกแรกของเชื้อไวรัส โคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด 19) เมื่อปี 2563 พบ ผู้ติดเชื้อโควิดที่เป็นชายมาก ทั้งในกลุ่มอายุน้อยกว่า 35 ปี และกลุ่มที่อายุมากกว่า 35 ปี โดยมากกว่าครึ่งเคยมีประวัติการสูบบุหรี่ และจำนวนผู้ติดเชื้อมีราวร้อยละ 10 ต้องเข้ารับการรักษาในห้องไอซียู”  

 แม้ว่าตัวเลขกลุ่มผู้ติดเชื้อในระลอกแรกของไทยมีจำนวนน้อย แต่ผลการเก็บ ข้อมูลครั้งนั้นทำให้ทีมวิจัยทราบว่า ผู้ป่วยโควิด19 ที่เคยมีประวัติสูบบุหรี่ จะมีอาการรุนแรงและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่า

และให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทีมวิจัยกำลังเก็บข้อมูลผู้ป่วยโควิดในช่วงการระบาดระลอกใหม่นี้ เพื่อทำการศึกษาต่อไป เพราะมียอดผู้ติดเชื้อที่เข้ารับการรักษาด้วยอาการปอดอักเสบที่โรงพยาบาลเป็นจำนวนมาก

 

“ในขณะที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการระบาดของโควิด19 การออกมาให้ข้อมูลและข้อเท็จจริง ถึงความเชื่อมโยงของเชื้อไวรัสและพฤติกรรมการสูบบุหรี่เป็นเรื่องจำเป็น เพราะบุหรี่ทำให้เกิดการติดเชื้อ ที่ปอดด้านล่างได้ง่าย เชื้อโควิดจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันลดลง ยิ่งคนสูบบุหรี่อยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม ก็จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสได้

นอกจากนี้ผู้ที่มีประวัติการสูบบุหรี่อาจต้องเผชิญปัญหาโรคพังผืดที่ปอด  โรคปอด และทางเดินหายใจเรื้อรังได้ในระยะยาวหากติดเชื้อโควิด แม้ว่าจะได้รับการรักษาหายแล้วก็ตาม” นพ.นิธิพัฒน์ กล่าว

ข้อสังเกต และคำแนะนำของหัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ศิริราชพยาบาล มีส่วนเชื่อมโยงกับการศึกษาของ ดร.เฮเบ กาวด้า (Hebe Gouda) ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา จากโครงการพิเศษ “ปลอดบุหรี่เชิงรุก” (Tobacco Free Initiative)  ขององค์การอนามัยโลก (WHO)

163081947870

(การสูบบุหรี่นำมาซึ่งโรคทางปอด และยังมีโอกาสติดเชื้อไวรัส) 

โดยนำเสนอการศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างสถานการณ์โควิด19 กับพฤติกรรมการเลิกสูบบุหรี่ ในระดับโลกว่า มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด หลายคนอยากเลิก บางคนเลิกเลยก็มี บางคนเครียดหนักขึ้นสูบบุหรี่เยอะขึ้นโดยเฉพาะคนอายุน้อย ซึ่งทั้งหมดนี้ควรได้รับการจัดการดูแลอย่างเป็นระบบ

เวทีการประชุมบุหรี่หรือสุขภาพเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 13 ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดงานครั้งที่ 3 ในปีนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และอีก 12 องค์กรพันธมิตร จัดการประชุมแบบ Live Stream วันที่ 3-4 กันยายน 2564 เนื่องจากสถานการณ์โควิด 19