ใกล้ความจริง! “วัคซีนใบยา” ผลเบื้องต้นเฟสแรก ปลอดภัย ไม่มีผลข้างเคียง

ใกล้ความจริง! “วัคซีนใบยา” ผลเบื้องต้นเฟสแรก ปลอดภัย ไม่มีผลข้างเคียง

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลกที่ยืดเยื้อ ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง ทั้งชีวิต และเศรษฐกิจ ซึ่งความหวังเดียวของคนไทยและทั่วโลกในการแก้ปัญหาการระบาดของโควิด-19 คือ "วัคซีน" ที่จะช่วยชะลอและลดการแพร่ระบาดของโรคและอัตราการเสียชีวิตได้

ปัจจุบันประเทศไทยได้มีการพัฒนาวัคซีนเองตั้งแต่การระบาดช่วงแรกต้นปี 2563 แล้วกว่า 20 ชนิด โดย ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางการวิจัยและพัฒนาวัคซีนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วันนี้ (1ต.ค.2564)งานสัมมนาออนไลน์ Covid-19 Vaccines and Thailand's Stance in the World Market จัดโดย บริษัท เมอร์ค จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจยา เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ทางนวัตกรรม ร่วมเปิดมุมมองของนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนโควิด-19

  • วัคซีนใบยา ใช้พืชเป็นแหล่งทดลอง

รศ.ดร.วรัญญู พูลเจริญ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด สตาร์ตอัพไบโอเทคสัญชาติไทย ผู้คิดค้นวัคซีนป้องกันโควิดจากใบพืชแห่งแรกในประเทศไทย กล่าวว่าวัคซีนชนิดนี้ถือเป็นการผลิตวัคซีนจาก “ใบยาซาร์สโควีทูแวกซ์1(Baiya SARS CoV-2 Vax 1” ซึ่งในอุตสาหกรรมยาทั่วโลกที่ใช้พืชเป็นแหล่งผลิต 95% มีการใช้ใบยาสูบเช่นเดียวกับใบยาเป็นแพลตฟอร์มในการผลิต

โดยจะเป็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิด subunit vaccine ที่ผลิตจากพืชใบยาสูบ โดยใช้เทคโนโลยีนำโปรตีนจากพืชมาสร้างเลียนแบบไวรัส จากนั้นแบคทีเรียจะเป็นตัวนำโปรตีนเข้าสู่ต้นพืชและกระตุ้นให้พืชผลิตโปรตีนที่เราต้องการ เปรียบเสมือนมีต้นใบยาสูบเป็นโรงงานผลิตโปรตีนให้นั่นเอง

 

 

  • ผลทดลองในคนเบื้องต้นปลอดภัย

ทั้งนี้ โปรตีนที่ได้จากเทคนิคดังกล่าวจะมีความบริสุทธิ์และไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ปลอดภัยต่อการใช้งาน โดยที่ผ่านมาได้ทำการทดลองในสัตว์ทดลอง ทั้งลิง และหนูขาวได้ประสบผลสำเร็จ พบว่ามีการสร้างแอนติบอดีที่สามารถยับยั้งการติดเชื้อไวรัสได้เป็นอย่างดี และสามารถช่วยยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าสู่กระแสเลือดและสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับสูง

รศ.ดร.วรัญญู กล่าวต่อไปว่าใช้งานในพืชให้เป็นแหล่งทดลองวัคซีน ซึ่งในขณะนี้ได้มีการทดลองในมนุษย์เฟสแรก ซึ่งมีการกำหนดไว้ทั้งหมด 16 คน แต่จำนวน 4 คน ซึ่งคุณสมบัติผู้ที่จะเข้ารับวัคซีนดังกล่าวได้จะต้องผู้ที่มีสุขภาพดี มีอายุระหว่าง 18 – 75 ปี และไม่เคยได้รับวัคซีนโควิดมาก่อน เบื้องต้น พบว่า อาสาสมัคร 4 ท่านแรกที่ได้มีการฉีดวัคซีนใบยาในปริมาณ 10 ไมโครกรัมวันที่ 27 ก.ย.2564 พบว่า ปลอดภัยไม่มีผลข้างเคียง ต่อมาในวันที่ 30 ก.ย.2564 ได้มีการฉีดในอาสาสมัครอีก 12 คน เบื้องต้นทั้งหมด ปลอดภัย และไม่มีผลข้างเคียงใดๆ เกิดขึ้น

ดังนั้น ในปริมาณ 10 ไมโครกรัมโปรตีนขณะนี้ อาสาสมัครปลอดภัย และไม่มีผลข้างเคียง หลังจากนี้จะมีการทดสอบเพื่อดูปริมาณโปรตีนที่เหมาะสม ว่าควรจะ 50 ไมโครกรัม หรือ 100 ไมโครกรัม โดยต้องคำนึงถึงความปลอดภัย และผลของการกระตุ้นภูมิที่ดีแก่คนให้ดีที่สุด

 

  • ยืนยันช่วงกลางปี 2565 คาดมีวัคซีนใบยา

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยไทยได้มีความพยายาม และหาผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนา เพราะไทยไม่ได้เป็นประเทศที่ร่ำรวย แต่เราต้องใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้ได้คุ้มค่ามากที่สุด เกิดประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด ซึ่งในกระบวนการขอวัคซีนใบยานั้น ในเฟสแรกนี้ น่าจะสิ้นสุดในปีนี้ และดำเนินการในเฟส 2 ทันที

รศ.ดร.วรัญญู กล่าวอีกว่าคณะนักวิจัยยังได้พัฒนาวัคซีนใบยารุ่นที่ 2 เพื่อรับมือการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 เพื่อให้คนไทยได้ใช้ในช่วงกลางปี 2565 โดยจะปรับปรุงศักยภาพของวัคซีนในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันดีขึ้น สำหรับกำลังการผลิตวัคซีนใบยานี้ ตอนนี้คนไทยจำนวนหนึ่งได้รับวัคซีนไปแล้ว ซึ่งใบยาเอง พื้นที่การผลิตที่มีอยู่ในโรงงานของจุฬาฯ  สามารถผลิตได้ 60 ล้านโดส ต่อปี  และมีแผนที่จะขยายกำลังผลิตไป 300-500 ล้านโดส เมื่อมีองค์ความรู้ในการพัฒนาวัคซีนด้วยตัวเองแล้ว ประเทศไทยของเราก็จะสามารถรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือเชื้ออื่นๆในอนาคตได้ทันการณ์

นายโชติวัฒน์ สีเพชรดี นักศึกษาปริญญาเอก ภาควิชาชีวเคมี มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้วิจัยเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ชนิดmRNA ในประเทศไทย กล่าวว่า วัคซีน COVID-19 ชนิด subunit โดยใช้ Spike protein เป็นแอนติเจน โดยโปรตีนดังกล่าวได้รับการดัดแปลงให้มีความเสถียรมากขึ้นโดยการเปลี่ยนแปลงกรดอะมิโน 6 ตำแหน่งให้เป็นProline (HexaPro) จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 2 ตำแหน่ง (S-2P) ซึ่ง S-2P ถูกใช้ในวัคซีนของหลาย ๆ บริษัท อาทิ Moderna, Pfizer-BioNTech, Novavax, Janssen (J&J)

ทีมวิจัยได้ทดสอบวัคซีน HexaPro subunit (+ alum adjuvant) ในหนูทดลองและพบว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันชนิด neutralizing antibody ได้ในระดับที่สูงเทียบเท่าหรือมากกว่าในผู้ป่วยโควิด-19 โดยวัคซีนอื่น ๆ ที่ใช้แอนติเจนรูปแบบ HexaPro และกำลังทดสอบในระยะ คลินิกในประเทศไทยได้แก่ NDV-HXP-S โดยองค์การเภสัชกรรมร่วมกับคณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล