งานวิจัยสหรัฐพบ “บีอาร์ไอ”ซุกหนี้ 3.58 แสนล้านดอลลาร์

งานวิจัยสหรัฐพบ “บีอาร์ไอ”ซุกหนี้ 3.58 แสนล้านดอลลาร์

ผลการศึกษาชี้ โครงการบีอาร์ไอของจีนผลักให้ชาติยากจนติดกับดักหนี้ที่ซุกซ่อนอยู่ถึง 3.85 แสนล้านดอลลาร์ โครงการกว่า 1 ใน 3 ถูกกล่าวหาว่าทุจริต ประชาชนพากันประท้วง

งานวิจัยจาก “เอดดาต้า” หน่วยงานวิจัยการพัฒนาระหว่างประเทศ ฐานปฏิบัติการที่วิทยาลัยวิลเลียมแอนด์แมรี รัฐเวอร์จิเนียของสหรัฐ

ระบุว่า ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (บีอาร์ไอ) ซึ่งเป็นโครงการการลงทุนสำคัญของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงทำข้อตกลงที่คลุมเครือกับธนาคารของรัฐและบริษัทต่างๆ ทำให้รัฐบาลประเทศรายได้น้อยหลายสิบประเทศติดกับดักหนี้ที่ไม่ปรากฏอยู่ในบัญชีงบดุล

ตั้งแต่ประกาศโครงการในปี 2556 จีนลงทุนกว่า 8.43 แสนล้านดอลลาร์ตัดถนน สร้างสะพาน ท่าเรือ และโรงพยาบาลในราว 163 ประเทศ รวมถึงในหลายประเทศทั่วแอฟริกาและเอเชียกลาง

แบรด พาร์คส ผู้อำนวยการบริหารเอดดาตา กล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่าเกือบ 70% ของเงินก้อนนี้ปล่อยกู้ให้กับธนาคารของรัฐหรือบริษัทร่วมทุนระหว่างธุรกิจจีนกับพันธมิตรท้องถิ่นในประเทศที่เป็นหนี้จีนหนักอยู่แล้ว

“รัฐบาลประเทศยากจนไม่สามารถกู้ยืมได้อีก ดังนั้นจีนจึงต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์” พาร์คสกล่าวและว่าสินเชื่อถูกปล่อยให้กับตัวแสดงโดดเด่นมากกว่าให้รัฐบาลกลาง แต่บ่อยครั้งได้รัฐบาลค้ำประกันใช้หนี้ให้ถ้าหุ้นส่วนไม่จ่าย

“สัญญาไม่ชัด รัฐบาลเองก็ไม่ทราบตัวเลขที่เป็นหนี้จีนแน่ชัด” พาร์คสกล่าว การศึกษาครั้งนี้พบว่า มีหนี้ที่ไม่ได้รายงานมูลค่าราว 3.85 แสนล้านดอลลาร์

เอดดาต้าเผยรายชื่อ 45 ประเทศรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ ที่ตอนนี้มีระดับการก่อหนี้กับจีนสูงเกิน 10% ของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)

ในหลายๆ ที่ความไม่พอใจเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเงินจีนทะลักเข้ามา เช่น ที่บาโลจิสถานทางตะวันตกเฉียงใต้ของปากีสถาน ชาวบ้านกล่าวว่าพวกตนได้ประโยชน์เพียงน้อยนิด ขณะที่กลุ่มติดอาวุธเปิดฉากโจมตีบ่อยครั้งพุ่งเป้าทำลายการลงทุนของจีน

“สิ่งที่เราเห็นขณะนี้กับข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทางคือผู้ซื้อสำนึกผิด ผู้นำต่างชาติหลายคนที่ตอนแรกรีบโดดร่วมขบวนบีอาร์ไอตอนนี้ระงับหรือยกเลิกเพราะห่วงเรื่องหนี้”

การศึกษาชี้ด้วยว่า การรุกปล่อยกู้ของปักกิ่งชลอลงช่วงสองปีที่ผ่านมาเนื่องจากผู้กู้ยืมเปลี่ยนใจ

ปีนี้กลุ่ม 7 ประเทศร่ำรวย(จี7) ก็ประกาศโครงการมาตอบโต้จีนเช่นกัน ซึ่งเอดดาตาพบว่า เงินกู้ของจีนเรียกดอกเบี้ยสูงกว่าต้องชำระคืนเร็วกว่า งานวิจัยสรุปว่า บีอาร์ไอ “ไม่ใช่เครื่องมือสำคัญในการสร้างพันธมิตรอย่างที่ปักกิ่งพยายามบอก แต่จีนกำลังไล่ล่าหาโครงการที่ทำกำไรได้มากที่สุด”