มกอช. ดัน4 ร่างมาตรฐานพืช สอดรับอาเซียน จีเอพี

มกอช. ดัน4 ร่างมาตรฐานพืช สอดรับอาเซียน จีเอพี

มกอช. เห็นชอบ 4 ร่าง มาตรฐานสินค้าเกษตรด้านพืช สอดรับมาตรฐาน ASEAN GAP พร้อมเดินหน้าพัฒนาการผลิต “สตรอว์เบอร์รี” เน้นคุณภาพและความปลอดภัยสู่ผู้บริโภค

นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร ว่า ได้เห็นชอบให้สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) จัดทำมาตรฐานเพิ่มเติมตามที่ผู้ผลิตและผู้ประกอบการ หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเสนอขอมา จำนวน 2 เรื่อง ได้แก่  1. การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไก่รุ่น และ2. การปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุทุเรียน

 

มกอช. ดัน4 ร่างมาตรฐานพืช สอดรับอาเซียน จีเอพี

 และเห็นชอบร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร 4 เรื่อง ได้แก่ 1.เกษตรอินทรีย์ : การผลิต การแปรรูป การแสดงฉลาก และการจำหน่ายผลิตผลและผลิตภัณฑ์อินทรีย์ 2.สตอรว์เบอร์รี 3.การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร และ4.แนวปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร เพื่อดำเนินการประกาศ เป็นมาตรฐานทั่วไปของประเทศต่อไป

โดยสาระสำคัญ ของมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ได้รวมมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ มกษ. 9000 เล่ม 1 ถึงเล่ม 6 มาไว้เป็นมาตรฐานฉบับเดียว จากที่เคยประกาศแยกเป็นรายกลุ่มสินค้า ได้แก่ พืชอินทรีย์ ข้าวอินทรีย์ ปลาสลิดอินทรีย์ อาหารสัตว์น้ำอินทรีย์ การเลี้ยงกุ้งทะเลระบบอินทรีย์ ปศุสัตว์อินทรีย์ และผึ้งอินทรีย์ พร้อมขยายขอบข่ายให้ครอบคลุม อาหารสัตว์ ส่วนที่ใช้ขยายพันธุ์และแมลงที่บริโภคได้ โดยเพิ่มความชัดเจนในบ้างข้อกำหนดและวัตถุประสงค์ให้เป็นไปตามมาตรฐานอาเซียน โดยเฉพาะในส่วนของการผลิตพืช

ส่วนมาตรฐานสตอรว์เบอร์รี จัดทำเพื่อพัฒนาคุณภาพ ส่งเสริมการผลิตที่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงในการค้าในประเทศและระหว่างประเทศเพื่อความเป็นธรรมทางการค้า โดยมีข้อกำหนดด้านคุณภาพและความปลอดภัยกับสตรอว์เบอร์รี ที่มีการจัดเตรียมและบรรจุหีบห่อ ใช้กับผลสตรอว์เบอร์รีพันธุ์ที่ผลิตเป็นการค้า เพื่อจำหน่ายในรูปผลิตผลสดแก่ผู้บริโภค แต่ไม่รวมสตรอว์เบอร์รีที่ใช้แปรรูปในอุตสาหกรรม ได้แก่ พันธุ์พระราชทาน 80 พันธุ์พระราชทาน 88 พันธุ์ 329 พันธุ์อากิฮิเมะ (Akihime) พันธุ์แมฮยัง (Maehyang) และพันธุ์ลองเสตม (Long-stem)

ส่วนการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร และแนวปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร จะครอบคลุมข้อกำหนดการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการผลิตพืชเพื่อใช้เป็นอาหาร เช่น พืชผัก ไม้ผล พืชไร่ พืชเครื่องเทศ พืชสมุนไพร ทุกขั้นตอนของการผลิตและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวในระดับฟาร์มเพื่อจำหน่าย เพื่อให้ได้ผลิตผลที่ปลอดภัย มีคุณภาพเหมาะสมในการบริโภค

 โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม รวมถึงสุขภาพ ความปลอดภัยและสวัสดิภาพของปฏิบัติงาน พร้อมทั้งมีการปรับแก้ไขข้อกำหนดให้สอดคล้องกับมาตรฐาน ASEAN GAP เช่น การไม่เก็บสารเคมีชนิดเหลวอยู่บนชั้นที่เหนือกว่าสารเคมีชนิดผง ให้มีมาตรการเพื่อลดผลกระทบหากวิธีเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังเก็บเกี่ยวเกิดกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ ควัน ฝุ่น และเสียงรบกวน และปรับแก้ไขข้อกำหนดให้มีความชัดเจนมากขึ้น เช่น ให้เก็บตัวอย่างน้ำหรือดินเพื่อวิเคราะห์การปนเปื้อน เมื่อมีการประเมินความเสี่ยงแล้วพบว่าเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค