กนย.เคาะหมื่นล้าน ประกันรายได้สวนยาง 60 บ/ก.ก. เดินหน้ายุทธศาสตร์ยางพารา

กนย.เคาะหมื่นล้าน ประกันรายได้สวนยาง 60 บ/ก.ก. เดินหน้ายุทธศาสตร์ยางพารา

กยน.เคาะ เห็นชอบหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 3 วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ที่ราคา 60 บาท/กก. พร้อมส่งเสริมการปลูกพืชเสริม ลดพื้นที่ปลูกยางพาราให้ได้ตามเป้าหมาย “นายก”กำชับทุกอย่างต้องโปร่งใส

วันนี้ (15 ก.ย.64) เวลา 09.30 น. ณ ห้อง PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ครั้งที่ 1/2564 (ผ่านระบบ Video Conference) ย้ำว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด - 19

นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและราคาพืชผลทางการเกษตร ขอให้ทุกหน่วยงานช่วยดูแลตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ลดต้นทุนการผลิต สนับสนุนส่งเสริมให้มีการใช้ยางในประเทศมากขึ้นแทนการมุ่งหวังส่งไปขายต่างประเทศอย่างเดียว เพื่อยางธรรมชาติของไทยมีความยั่งยืนในทุกมิติ  

โอกาสนี้ ที่ประชุมได้มีการพิจารณาและเห็นชอบหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 3 เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยาง ในกรณี ที่ราคายางตกต่ำในช่วงวิกฤติการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID -19)  รวมทั้งเพื่อเพิ่มรายได้และสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง วงเงินรวมทั้งสิ้น 1.06 หมื่นล้านบาท และมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการยางแห่งประเทศไทย แต่งตั้งคณะกรรมการ/คณะทำงาน ดำเนินโครงการชุดต่าง ๆ ตามที่การยางแห่งประเทศไทยเสนอ และดำเนินการจัดทำรายละเอียดโครงการเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป


สำหรับโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 3 ราคายางที่ประกันรายได้ ได้แก่  (1) ประกันรายได้ราคายางแผ่นดิบคุณภาพดี 60.00 บาท/กิโลกรัม  (2) ประกันรายได้ราคาน้ำยางสด (DRC 100%) 57.00 บาท/กิโลกรัม (3) ประกันรายได้ราคายางก้อนถ้วย (DRC 50%) 23.00 บาท/กิโลกรัม

นอกจากนี้นายกรัฐมนตรี กำชับการรับรองการเป็นเกษตรกรชาวสวนยางของเกษตรกรที่แจ้งข้อมูลการปลูกยางกับการยางแห่งประเทศไทย ต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวังรอบคอบ

ทั้งนี้ รัฐบาลจริงจังกับการปลูกยางในพื้นที่บุกรุกและย้ำไม่ให้ปลูกยางในพื้นที่ที่ไม่ถูกต้อง เช่น พื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่ป่าสงวน เพราะจากนี้สินค้าการเกษตรทุกประเภทจะต้องแจ้งแหล่งที่มา การดำเนินการที่ไม่ถูกต้องก็จะส่งต่อการกีดกันด้านการค้าจากต่างประเทศไทยได้

รวมถึงโครงการประกันราคายาง ต้องมีมาตรการที่เข้มงวดและให้เงินถึงมือเกษตรกรโดยตรงอย่าให้มีการทุจริตเด็ดขาด รวมทั้ง ให้พิจารณามาตรการอื่นๆ ในการยกระดับราคายางเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาลในการประกันราคาและแก้ไขปัญหาราคายางที่ตกต่ำอย่างถาวร

นายกรัฐมนตรี ย้ำทุกหน่วยงานดำเนินการทุกอย่างด้วยความรอบคอบยึดหลักกฎหมายและกระบวนการต่าง ๆ  ด้วยความโปร่งใส สุจริต เป็นธรรม ตรวจสอบได้ การใช้จ่ายงบประมาณตามมาตรา 28 ที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุดและเกิดประโยชน์ต่อประชาชนและเกษตรกรอย่างยั่งยืนแท้จริง เพื่อพลิกโฉมประเทศไทยทุกมิติ เชื่อหากทุกคนร่วมมือกันทุกอย่างสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้