กยท.เดินหน้าถ่ายทอดเทคโนฯงานวิจัย ติดอาวุธเพิ่มศักยภาพเอกชนช่วยเกษตรกร

กยท.เดินหน้าถ่ายทอดเทคโนฯงานวิจัย ติดอาวุธเพิ่มศักยภาพเอกชนช่วยเกษตรกร

กยท.จับมือผู้นำเข้าแผ่นใยสังเคราะห์รายใหญ่ ลงนาม MOU ถ่ายทอดเทคโนโลยีงานวิจัยน้ำยางคอม พาวนด์ สำหรับนำไปเคลือบบนแผ่นใยสังเคราะห์เข้าสู่กระบวนการผลิต ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มศักยภาพให้ทั้งภาคเอกชนและเกษตร

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ กยท.ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) กับ บริษัท เท็กเซ็ท จำกัด ในการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ภายใต้ "โครงการนำผลงานวิจัยการทำแผ่นกั้นน้ำที่ทำจากแผ่นใยสังเคราะห์ขยายผลสู่ผู้ประกอบการ” โดยการนำเทคโนโลยีการผลิตน้ำยางคอม พาวนด์ สำหรับนำไปเคลือบบนแผ่นใยสังเคราะห์เข้าสู่กระบวนการผลิตในเชิงพาณิชย์อุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตและการแข่งขัน

ทั้งนี้ บริษัท เท็กเซ็ท จำกัด เป็นบริษัทผู้นำเข้าแผ่นใยสังเคราะห์ (Geotextile) รายใหญ่ของประเทศไทย เพื่อใช้ในงานวิศวกรรมและสิ่งแวดล้อม เช่น การสร้างเขื่อนการป้องกันชายฝั่งทะเล เขื่อนกักกั้นน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติ การปรับภูมิทัศน์ การทำถนน เป็นต้น ในขณะที่ กยท. มีผลงานวิจัยเทคโนโลยีการผลิตน้ำยางคอม พาวนด์ และการเคลือบน้ำยางคอมพาวน์บนแผ่นใยสังเคราะห์ หากถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวให้ภาคเอกชนที่มีศักยภาพนำไปพัฒนาต่อขยายผลในเชิงอุตสาหกรรมจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งภาคเอกชน และภาคการเกษตรเป็นอย่างยิ่ง

1630231039100

“โดยในส่วนของภาคเอกชนนั้น จะทำให้สามารถผลิตแผ่นใยสังเคราะห์ ที่มีคุณภาพ มีความทนทาน ไม่ฉีกขาดง่าย ช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ในขณะที่ภาคการเกษตรที่ใช้แผ่นใยสังเคราะห์ในหลากหลายกิจกรรม เช่น ปูพื้นรองบ่อเลี้ยงสัตว์ ทำบ่อน้ำ ทำฝาย สร้างแหล่งกักเก็บน้ำ เป็นต้น ได้ใช้แผ่นใยสังเคราะห์ที่มีคุณภาพรับน้ำหนักแรงดันน้ำได้มากขึ้น ยืดอายุการใช้งาน ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรโดยตรง และที่สำคัญยังเป็นการส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศ โดยผลงานวิจัยการเคลือบน้ำยางคอม พาวนด์ บนแผ่นใยสังเคราะห์ในเบื้องต้นได้ผลว่า จะใช้น้ำยางธรรมชาติ 1 กิโลกรัมต่อพื้นผิว 1 ตารางเมตร ยกตัวอย่าง การปูพื้นผิวอ่างเก็บน้ำขนาดมาตรฐาน 3,500 ตารางเมตรจะใช้ยางธรรมชาติประมาณ 3.5 ตัน เป็นต้น ซึ่งจะช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับยางพาราอีกด้วย” นายณกรณ์กล่าว

ผู้ว่าการ กยท.กล่าวต่อว่า กยท.มีนโยบายสนับสนุนนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ได้จากการวิจัยยางพารามาอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นงานวิจัยที่จะสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิต เพิ่มความได้เปรียบให้สถาบันเกษตรกร ผู้ประกอบการให้นำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ ในขณะเดียวกันยังช่วยเพิ่มปริมาณการใช้ยาง สร้างเสถียรภาพด้านราคาและเพิ่มมูลค่าให้ยางพารา ผลงานวิจัยที่ถูกนำออกไปใช้อย่างเป็นรูปธรรมจึงมีส่วนช่วยสร้างความมั่นคงให้อุตสาหกรรมยางในประเทศได้อย่างดี

163023104195

“กยท.ยังคงศึกษาค้นคว้าวิจัยเชิงพาณิชย์เพื่อพัฒนารูปแบบการใช้ยางพาราไทยให้ได้ในหลากหลายวงการ เช่น ในงานก่อสร้าง งานวิศวกรรม อุปกรณ์การแพทย์ เป็นต้น เพื่อนำนวัตกรรมที่เราได้ออกไปช่วยสร้างรายได้ ช่วยยกระดับคุณภาพการใช้ชีวิต เพื่อจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมต่อไป เกษตรกร สถาบันเกษตรกร ผู้ประกอบการใดสนใจ ติดต่อได้ที่ฝ่ายอุตสาหกรรมยาง การยางแห่งประเทศไทย โทรศัพท์ 02 940 5712” นายณกรณ์ กล่าว

ด้านนายสันติ สวัสดิศานต์ กรรมการบริษัท เท็กเซ็ท จำกัด กล่าวว่า การที่ กยท.ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีงานวิจัยในครั้งนี้ ทำให้เกิดการผสมผสานการระหว่างน้ำยางพารา และแผ่นใยสังเคราะห์ ภายใต้ชื่อผลิตภัณฑ์ว่า Rubber Seal Geotextile หรือ RST ซึ่งมีคุณสมบัติเหนียว ทน ยืดหยุ่นกว่าของเดิมอย่างแน่นอน ช่วยประหยัดน้ำ ประหยัดเงินให้กับผู้ที่ทำงานในภาคเกษตร ช่วยแก้ปัญหาน้ำขาดแคลน ประหยัดค่าใช้จ่ายให้งานวิศวกรรม งานชลประทาน ขณะนี้ผลิตภัณฑ์ RST อยู่ระหว่างกระบวนการทดสอบการผลิต คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จพร้อมออกสู่ตลาดภายในระยะเวลา 1-2 ปีนี้ โดยในเบื้องต้นคาดว่าภาคการเกษตรจะใช้ RST ราว 10,000 ตารางเมตรต่อปี 

163023105183