แนะ 6 วิธีเตรียมพร้อมก่อน ‘น้ำท่วม‘ ทำยังไงให้ปลอดภัย?

แนะ 6 วิธีเตรียมพร้อมก่อน ‘น้ำท่วม‘ ทำยังไงให้ปลอดภัย?

กรมควบคุมโรค ห่วงใยสุขภาพประชาชนในช่วงฝนตกหนัก แนะ 6 วิธีเตรียมพร้อมก่อน "น้ำท่วม" พร้อมจดเบอร์โทรหมายเลข 1669 กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน, หมายเลข 1784 ด้านสาธารณภัย และ 1422 สายด่วนกรมควบคุมโรคปรึกษากรณีเจ็บป่วย เพื่อความปลอดภัยของชีวิต ลดการสูญเสีย

เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2564 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ช่วงนี้หลายพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก มีฝนตกต่อเนื่อง และตกหนักหลายพื้นที่ ตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา เสี่ยงต่อการเกิดปัญหา "น้ำท่วม" หรือน้ำป่าไหลหลาก ประชาชนควรมีการเตรียมความพร้อมก่อนน้ำท่วมจากฝนตกหนัก โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีประวัติน้ำท่วมมาก่อนหรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยง เช่น ที่ราบลุ่ม และริมแม่น้ำ การเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้า จะช่วยให้เราสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ดี

แนะวิธีเตรียมพร้อมก่อนน้ำท่วม 6 ประการ ดังนี้

1.ติดตามข่าวและสถานการณ์น้ำท่วมจากกรมอุตุนิยมวิทยา รวมทั้งสัญญาณเตือนความผิดปกติต่างๆ โดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืน อย่างสม่ำเสมอ

2.จัดเตรียมน้ำสะอาด อาหารกระป๋องหรืออาหารแห้ง ยาที่จำเป็นต่างๆ เช่น ยาแก้ปวดลดไข้ ยาหยอดตา ยาใส่แผล ผงน้ำตาลเกลือแร่ ยาประจำตัวของผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังต่างๆ อุปกรณ์ที่จำเป็นในการใช้ชีวิต เช่น อุปกรณ์การสื่อสารพร้อมแบตเตอรี่สำรอง อุปกรณ์ชูชีพ เช่น ห่วงยาง ไฟฉายหรือเทียนไข ไม้ขีดไฟ ถุงใส่ขยะหรือถุงพลาสติกให้เพียงพอ ให้สามารถยังชีพได้อย่างน้อย 3 ถึง 5 วัน และจดเบอร์โทรฉุกเฉินที่จำเป็นไว้ คือ หมายเลข 1669 ขอความช่วยเหลือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน สายด่วนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยหมายเลข 1784 และสายด่วนกรมควบคุมโรคหมายเลข 1422 ปรึกษากรณีเจ็บป่วย ตลอด 24 ชั่วโมง

3.ศึกษาแผนปฏิบัติในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินของหมู่บ้าน หรือในชุมชน เกี่ยวกับสัญญานเตือนภัยต่างๆ

การติดต่อสื่อสาร เส้นทางอพยพและสถานที่ตั้งที่พักฉุกเฉินหรือศูนย์อพยพในพื้นที่

4.จัดเตรียมช่องทาง หรือเบอร์โทรศัพท์ติดต่อกับหน่วยงานกู้ภัยในท้องถิ่น ชุมชน ในกรณีต้องการความช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ โดยเฉพาะบ้านที่มีกลุ่มเสี่ยงได้รับอันตรายจากน้ำท่วม เช่น เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยติดเตียง และผู้พิการ

5.หากมีสัตว์เลี้ยง ให้จัดเตรียมสิ่งของจำเป็นสำหรับการดูแลสัตว์ เช่น อาหาร พื้นที่หลบภัยสำหรับสัตว์ รวมทั้งการป้องกันโรคที่อาจเกิดมาจากสัตว์สู่คน เช่นโรคฉี่หนู เป็นต้น

6.การจัดเตรียมความพร้อมด้านระบบไฟฟ้าภายในบ้าน หรือระบบไฟสำรอง รวมทั้งถุงบรรจุทรายเพื่อป้องกันน้ำท่วม หากจำเป็น

นายแพทย์โอภาส กล่าวต่ออีกว่า อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ในบ้าน ควรเคลื่อนย้ายไปไว้ในจุดที่ปลอดภัยน้ำท่วมไม่ถึงและติดตั้งให้มั่นคง ป้องกันการหล่นน้ำขณะใช้งาน เช่นพัดลม หม้อหุงข้าวไฟฟ้า เครื่องซักผ้า ตู้เย็น เป็นต้น

พร้อมทั้ง ยกระดับปลั๊กไฟฟ้าให้สูงขึ้นจากพื้นที่ที่คิดว่าอาจเสี่ยงต่อน้ำท่วมประมาณ 1-2 เมตร หากไม่สามารถยกระดับปลั๊กไฟได้ ให้ใช้วิธีตัดวงจรไฟฟ้าที่เต้ารับหรือสวิทช์หลักที่น้ำท่วมถึง รวมทั้งตัดวงจรไฟฟ้าโคมไฟที่รั้วบ้าน โคมไฟที่สนาม ไฟกริ่ง และเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆที่เดินสายไฟฝังอยู่ใต้ดิน ในกรณีที่ประเมินความเสี่ยงแล้วว่าน้ำอาจท่วม เพื่อป้องกระแสไฟฟ้ารั่วหรือไฟดูดขณะมีน้ำท่วมเกิดขึ้น