กสส. ย้ำรุกตลาดค้าออนไลน์ ช่องทางกระจายสินค้าสหกรณ์ยุคโควิด-19

กสส. ย้ำรุกตลาดค้าออนไลน์ ช่องทางกระจายสินค้าสหกรณ์ยุคโควิด-19

อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ย้ำแลกเปลี่ยนผลผลิต-รุกตลาดค้าออนไลน์ ช่องทางกระจายสินค้าสหกรณ์ยุคโควิด-19 ปัจจุบันมีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่ดำเนินธุรกิจรวบรวม จำหน่ายและแปรรูปข้าว จำนวน 424 แห่ง ใน 56 จังหวัดทั่วประเทศ

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เผยถึงการแก้ปัญหาการกระจายผลไม้จากแหล่งผลิตในช่วงที่ผ่านมา โดยระบุว่ามีการแลกเปลี่ยนผลผลิตระหว่างข้าวกับผลไม้ (ข้อมูล ณ 30 ส.ค.64)ระหว่างสหกรณ์ด้วยกัน จำนวน 1,993.94 ตัน รวมมูลค่ากว่า 54.93 ล้านบาท แบ่งเป็น ข้าว 1,065.94 ตัน มูลค่า 27.97 ล้านบาท ผลไม้ 928 ตัน มูลค่า 26.95 ล้านบาท จากสถาบันเกษตรกรต้นทาง 34 แห่งใน 20 จังหวัด และสหกรณ์ปลายทาง/หน่วยงานราชการ 280 แห่งใน 61 จังหวัด

แม้ว่าขณะนี้ปัญหาผลไม้ทางภาคใต้จะคลี่คลาย เพราะอยู่ในช่วงปลายฤดู แต่ทว่าข้าวกลับมีปัญหา โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิในแถบภาคอีสานที่ขณะนี้ราคาตกต่ำเป็นประวัติการณ์ สนนราคาข้าวเปลือกขณะนี้อยู่ที่เกวียนละ 9,000-10,000 บาทเท่านั้น

ขณะเดียวกันมีข้าวจากฤดูกาลที่แล้ว(ปีการผลิต63/64)อยู่ในสต๊อคอีกจำนวนมาก ในขณะที่ผลผลิตข้าวในฤดูกาลใหม่(ปีการผลิต 64/65)ที่กำลังจะออกมาในช่วงปลายปีนี้อีกจำนวนมหาศาล ทำให้หลายสหกรณ์มีความจำเป็นต้องระบายข้าวในสต๊อคเพื่อใช้ยุ้งฉางเป็นที่เก็บผลผลิตข้าวของฤดูกาลใหม่

กสส. ย้ำรุกตลาดค้าออนไลน์ ช่องทางกระจายสินค้าสหกรณ์ยุคโควิด-19

ปัจจุบันมีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่ดำเนินธุรกิจรวบรวม จำหน่ายและแปรรูปข้าว จำนวน 424 แห่ง ใน 56 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งในจำนวนนี้มีสหกรณ์ที่ทำโรงสีได้มาตรฐานจีเอ็มพี (GMP) มีอยู่ทั้งหมด 60 แห่ง ที่ผลิตสินค้าข้าวได้มาตรฐาน ถูกสุขลักษณะอนามัยเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค

 โดยแต่ละปีมีปริมาณข้าวที่รวบรวมผ่านระบบสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรกว่า 2.28 ล้านตัน รวบรวมเพื่อจำหน่วย 2.17 ล้านตันและรวบรวมเพื่อแปรรูป 0.11 ล้านตัน ประกอบด้วยข้าวสายพันธุ์ต่าง ๆ อาทิ ข้าวหอมมะลิ 105 ข้าวหอมปทุม ข้าวขาว ข้าวเหนียวและข้าวตลาดเฉพาะ ได้แก่ ข้าว กข43 ข้าว กข79 ข้าวสีและข้าวพื้นเมือง เช่น ข้าวสังข์หยด ข้าวเจ๊กเชย ข้าวเหลืองปะทิว ข้าวไร่ดอกข่า เป็นต้น

ส่วนการสนับสนุนสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรในการรวบรวมและแปรรูปผลผลิตนั้น นายวิศิษฐ์กล่าวว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้สนับสนุนอุปกรณ์การตลาดที่จำเป็นให้เพียงพอและครบวงจรเพื่อให้สหกรณ์รวบรวมข้าวในพื้นที่ให้มากที่สุด อย่างเช่น โกดัง ลานตาก เครื่องชั่ง ไซโล เครื่องอบลดความชื้น รถตักล้อยาง รถโฟล์คลิฟท์ เครื่องสีข้าว  เครื่องขัดขาวและเครื่องยิงสี เป็นต้น

อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ยังกล่าวถึงช่องทางการตลาดของข้าวว่า นอกจากมีการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างสหกรณ์ด้วยกันแล้ว  ยังมีการจำหน่ายทางออนไลน์โดยผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น Shopee  Lazada หรือแอพพลิเคชั่น                ที่เราสร้างขึ้นมาเอง ได้แก่ Co-op click และ Co-op Shop เป็นต้น  โดยกรมได้สนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำให้กับสหกรณ์ต่าง ๆ  โดยความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ ธ.ก.ส.
 

นอกจากนี้ยังจัดโครงการอบรมให้ความรู้แก่สหกรณ์ต่าง ๆ ในการดำเนินธุรกิจตั้งแต่กระบวนการผลิต การแปรรูปและพัฒนาผลิตภัณฑ์ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนการจำหน่ายสินค้าไปยังผู้บริโภค

  “ในแต่ละปีเราจะมีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้เหมาะกับการจำหน่ายในช่องทางการตลาด ต่าง ๆ  ทั้งรูปลักษณ์ ขนาดและราคาที่มีปริมาณเหมาะกับสังคมเมือง   แต่ถ้าเป็นครอบครัวใหญ่การออกแบบบรรจุภัณฑ์จะเป็นอีกลักษณะหนึ่ง”นายวิศิษฐ์เผย

นอกจากการค้าทางออนไลน์แล้วยังมี ร้านค้าสหกรณ์ที่เปิดให้บริการ  ซึ่งในกรุงเทพมีร้านค้าของชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย(ชสท.) ถ.งามวงศ์วาน ตรงข้ามมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน  ร้านสหกรณ์กรุงเทพและร้านสหกรณ์พระนคร ส่วนต่างจังหวัด นอกจากซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ จำนวน 770 แห่งทั่วประเทศแล้ว ยังมีศูนย์จำหน่ายสินค้าสหกรณ์ในแต่ละจังหวัดและสำนักงานสหกรณ์จังหวัดทั่วประเทศอีกด้วย

กสส. ย้ำรุกตลาดค้าออนไลน์ ช่องทางกระจายสินค้าสหกรณ์ยุคโควิด-19

 “ยุคโควิดเศรษฐกิจซบเซาแบบนี้ เราต้องช่วยเหลือดูแลกัน ลดค่าใช้จ่ายผู้บริโภคด้วย จึงขอเชิญชวนผู้บริโภคพี่น้องประชาชนมาจับจ่ายใช้สอยสินค้าสหกรณ์ในจังหวัดต่าง ๆ ทั้งที่ร้านและในแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่เราได้จัดเป็นช่องทางจำหน่าย นอกจากได้สินค้าดีมีคุณภาพแล้วยังได้ช่วยเหลือพี่น้องสมาชิกสหกรณ์ด้วยกันอีกด้วย” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวเชิญชวน 

          
ขณะที่ นายณัฐพล แป้นนอก สหกรณ์จังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวสำหรับร้อยเอ็ดเป็นเมืองข้าว มีพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมด กว่า 3 ล้านไร่ เป็นหอมมะลิ105 ให้ผลผลิตทั้งหมดกว่า 9 แสนตันต่อฤดูการผลิต เฉพาะในส่วนของสหกรณ์ จ.ร้อยเอ็ดมีทั้งหมด 20 แห่งสามารถรวบรวมข้าวได้ประมาณ 1.7 แสนตัน มูลค่ากว่า 2 พันล้านบาท โดยมีโรงสีของสหกรณ์จำนวน 10 โรง และสหกรณ์ขนาดใหญ่สามารถรวบรวมผลผลิตข้าวมากที่สุดคือสหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จำกัด ซึ่งขณะนี้ มีข้าวค้างอยู่สต๊อคมากที่สุดปริมาณ 30,000 ตันและขณะนี้ได้เสนอเรื่องไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อแก้ไขปัญหา ที่เกิดขึ้นแล้ว

“ทุกปีไม่มีปัญหา แต่มาปีนี้เจอภาวะโควิด-19 เราไม่สามารถส่งออกได้ รวมทั้งโรงสีต่าง ๆ ในจังหวัดเจอปัญหาเหมือนกัน ทำให้ราคาข้าวตอนนี้ตกลงมาค่อนข้างเยอะช่วงต้นฤดูเราซื้อไว้ที่ราคา 12-13 บาทต่อกิโลกรัม วันนี้เหลือเพียง 9-10 บาทเท่านั้น ก็เป็นปัญหาพอสมควร จะขายออกไปก็ขาดทุน จะเก็บไว้ก็ข้าวฤดูกาลใหม่ก็ใกล้เข้ามา ไม่มียุ้งฉางเก็บ เพราะข้าวในสต๊อคก็ยังเหลืออยู่เยอะ ผลกระทบก็จะเกิดกับสมาชิกแน่นอน”

สหกรณ์จังหวัดร้อยเอ็ดยอมรับว่าโครงการแลกเปลี่ยนสินค้าสหกรณ์ช่วยในการระบายข้าวได้มาก โดยเฉพาะโครงการข้าวแลกผลไม้ทางภาคใต้ โดยการสนับสนุนของกรมส่งเสริมสหกรณ์นั้นสามารถช่วยระบายข้าวออกไปได้กว่า 600 ตัน ที่สำคัญพี่น้องชาวร้อยเอ็ดก็ได้รับประทานผลไม้สด ๆ จากสวนด้วย

“เดือนที่แล้วทางกรมส่งเสริมสหกรณ์เองก็ได้หาทางช่วยระบายข้าวโดยเอาลงไปแลกกับผลไม้ทางภาคใต้ ทางร้อยเอ็ดก็ได้ทานผลไม้สด ๆ จากทางภาคใต้ ส่วนทางใต้ก็ได้ทานข้าวหอมจากร้อยเอ็ด  หลัก ๆ ที่ส่งไปมี 2 ที่ คือ สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.ร้อยเอ็ด จำกัด กับสหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จำกัด เพราะทั้งสองสหกรณ์มีการแปรรูปข้าวสารตลอดปี ช่วงไหนไม่มีผลไม้ก็จะแลกกับอาหารทะเล”นายณัฐพลกล่าวย้ำ 

ด้านนายเรียม โกรัมย์ ประธานกรรมการสหกรณ์การเกษตรกระสัง จำกัด อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์ กล่าวยอมรับว่าจำนวนสมาชิกสหกรณ์กว่า 4,000 ครอบครัวขณะนี้อยู่ภาวะลำบาก เนื่องจากราคาข้าวเปลือกตอนนี้อยู่ที่ 9-10บาท  ต่อกิโลกรัมเท่านั้น หากสหกรณ์รับซื้อข้าวจากสมาชิกมาเก็บสต็อคเพื่อแปรรูปเป็นข้าวสารก็ยังไม่มีช่องทางการจำหน่ายมากนัก ที่ผ่านมาสหกรณ์ได้เข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนสินค้าสหกรณ์ โดยแลกผลไม้จากทางภาคใต้ สามารถได้ระบายข้าวออกไปได้ประมาณ 100 ตัน ซึ่งก็ยังไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้ จึงขอฝากไปยังพี่น้องคนไทยมาช่วยซื้อข้าวสหกรณ์กัน ของดีราคาถูกนั้นมีอยู่จริง”ประธานกรรมการสหกรณ์การเกษตรกระสัง จำกัด ย้ำทิ้งท้าย