“ปลากระป๋อง” เกลี้ยงเชลฟ์ เหตุวัตถุดิบ ขาดแคลน 

“ปลากระป๋อง” เกลี้ยงเชลฟ์ เหตุวัตถุดิบ ขาดแคลน 

'ปลากระป๋อง' หนึ่งในสินค้าจำเป็นต่่อการดำรงชีพในยุคเศรษฐกิจข้าวยากหมากแพง แต่ 2 ปีที่-เผชิญวิกฤติโควิด-19 ระบาด ดีมานด์สินค้าเพิ่ม เพื่อบริโภค-บริจาค จนบางช่วงเชลฟ์ในห้างค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อเกลี้ยง ผู้ผลิตย้ำ ไตรมาส 4 สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ

สินค้าอุปโภคบริโภค ทั้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง น้ำดื่ม น้ำอัดลม ขนมบางหมวดฯ หายไปจากชั้นวางสินค้าหรือเชลฟ์ โดยเฉพาะเฉพาะนาทีทองช่วงเย็น ทำให้ผู้ผลิตออกมายอมรับ โรคโควิดระบาด กระทบสุขภาพพนักงาน ส่งผลต่อโรงงานและการผลิตสินค้า รวมถึงการขนส่งสะดุดบ้าง ฟาก “ปลากระป๋อง” แจงเหตุสินค้าขาดตลาด เกิดจากวัตถุดิบ “ปลาซาร์ดีน” ป้อนโรงงานไม่เพียงพอ เกิดทุกปีช่วงไตรมาส 3 คาดกลางไตรมาส 4 สถานการณ์ดีขึ้น 

แหล่งข่าวจากวงการสินค้าอุปโภคบริโภค เปิดเผยว่า จากภาวะสินค้าจำเป็นหลายอย่างโดยเฉพาะ “ปลากระป๋อง” ขาดแคลนบนชั้นวางในห้างร้านต่างๆ  รวมถึงร้านสะดวกซื้อ เกิดจาก 2-3 ปัจจัยที่กระทบการผลิตสินค้า ประการแรก ตลาดปลากระป๋องในประเทศไทยเปลี่ยนแปลง เดิมปลาแมคเคอเรล เป็นสัดส่วนใหญ่สุด แต่ 4-5 ปีที่ผ่านมา ปลาซาร์ดีน เข้ามากินสัดส่วนมากขึ้นเป็น 70-80% 

ทั้งนี้ วัตถุดิบปลาซาร์ดีนต้องนำเข้าจากต่างประเทศเกือบ 100% และไตรมาส 3 ของทุกปี ผู้ผลิตปลากระป๋องต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนวัตถุดิบอย่างหนัก จึงส่งผลต่อกำลังการผลิตและปริมาณสินค้าออกสู่ตลาด และ 2 ปีที่ผ่านมา การนำเข้า-ส่งออกต้องเจอวิกฤติขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมอุณหภูมิความเย็น ทำให้การส่งวัตถุดิบสะดุดหนักขึ้น 

นอกจากนี้ โรคโควิดที่ระบาดในไทย มีผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้น ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่จะไม่มีโรงงานผลิตสินค้าใดมีพนักงานรอดพ้นการติดเชื้อไวรัส เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ต้องมีการปิดโรงงานเป็นเวลาหลายวัน และส่งผลให้กำลังการผลิตสินค้ารวมถึงปลากระป๋องลดลงเหลือ 60-70% บ้าง จากนั้นจึงฟื้นตัวกลับมา  เช่นเดียวกับการขนส่งและกระจายสินค้า เมื่อศูนย์กระจายสินค้าของร้านค้าพันธมิตรมีผู้ติดเชื้อไวรัส ทำให้การป้อนสินค้าเข้าร้านกระทบตามไปด้วย  

“วันนี้เป็น New Normal โรงงานมีพนักงานติดโควิด เพราะอุตสาหกรรมต้องใช้แรงงานผลิตสินค้า แต่บริษัทต้องบริหารจัดการให้กำลังผลิตกลับมา ขณะเดียวกันห้วงวิกฤติองค์กรต้องไม่ทอดทิ้ง ควรโฟกัสการดูแลพนักงานให้มากขึ้นเพื่อรอดและก้าวสู่วันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า เพราะอนาคตไม่รู้จะเจอบททดสอบอะไรที่หนักขึ้น”  

ส่วนด้านความต้องการของผู้บริโภคมีการปรับตัวสูงขึ้น ทั้งจากการซื้อปริมาณมากในแต่ละครั้งเพื่อเก็บไว้บริโภคช่วงอยู่บ้านมากขึ้น ยังมีหน่วยงานต่างๆซื้อไปบริจาคแก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ผู้ป่วยกักตัวอยู่บ้านเช่นกัน 

“สินค้าที่ขาดบนเชลฟ์ เกิดจากทั้งซัพพลายเชนได้รับผลกระทบ แต่ปลากระป๋อง แตกต่างจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรงที่เผชิญกับการขาดแคลนวัตถุดิบปลาซาร์ดีนด้วย แม้ผู้ผลิตจะรู้สถานการณ์ทุกปีและวางแผนรับมือการผลิต แต่สภาพอากาศที่แปรปรวน มีผลต่อการจับปลา ปริมาณวัตถุดิบป้อนสู่ตลาดอยู่แล้ว จึงยืนยันว่าผู้ผลิตไม่มีการกัดตุนสินค้าแน่นอน เพราะการทำเช่นนั้นถือเป็นการฆ่าตัวเอง”  

ปัจจุบันปลากระป๋อง ยังเป็นสินค้าที่หายากในบางช่องทางจำหน่าย แต่แนวโน้มซัพพลายสินค้าจะเข้าสู่ภาวะปกติ คาดว่าจะเป็นช่วงกลางไตรมาส 4 ภายใต้เงื่อนไม่มีเหตุการณ์โรคระบาดแทรกซ้อนอีกครัง   

“ภาพรวมปลากระป๋องไม่ขาดตลาด แต่อาจหาซื้อค่อนข้างยากทุกยี่ห้อ เพราะสินค้าเป็นที่ต้องการมากขึ้น แต่การผู้ผลิตไม่ได้ขายดีกว่าเดิม เนื่องจากวัตถุดิบหายาก”