'รัฐบาล' ตอบข้อสงสัย 'ผู้ป่วยโควิด' ออกจาก รพ. ไม่ตรวจ swab แต่กักตัวต่อที่บ้าน 14 วัน

'รัฐบาล' ตอบข้อสงสัย 'ผู้ป่วยโควิด' ออกจาก รพ. ไม่ตรวจ swab แต่กักตัวต่อที่บ้าน 14 วัน

รองโฆษกรัฐบาล ยก แนวเวชปฏิบัติฯ ฉบับล่าสุด แจงข้อสงสัย กรณีไม่ตรวจ swab ผู้ป่วยโควิด-19 ที่อาการดีขึ้น แต่แพทย์ให้กักตัวต่อที่บ้าน 14 วัน

14 ส.ค.2564 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า  จากกรณีที่ขณะนี้ได้มีข้อคำถามจากทั้งผู้ป่วยโควิด-19 และญาติผู้ป่วยว่า เหตุใดกรณีที่ผู้ป่วยที่ผ่านการรักษาอาการดีขึ้นแล้วและแพทย์มีคำสั่งให้กลับบ้านและกักตัวต่อที่บ้านจนครบ 14 วัน จึงไม่มีการตรวจ swab ก่อนให้ออกจากสถานพยาบาล 

ในกรณีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้รายงานว่าเป็นการดำเนินการตามแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษาและการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคโควิด-19 ฉบับปรับปรุงล่าสุด ณ วันที่ 4 ส.ค. 2564 ตามข้อแนะนำจากคณะทำงานด้านการรักษาและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล (คณะกรรมการกำกับดูแลรักษาโควิด-19) ซึ่งเป็นคณะที่กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญและคณะแพทย์มหาวิทยาลัยต่างๆ ทำการปรับปรุงสม่ำเสมอตามสถานการณ์ของโรค 

ทั้งนี้ ตามแนวเวชปฏิบัติฯ ฉบับล่าสุด ได้พิจารณาจากงานศึกษาแล้วพบว่าผู้ป่วยที่มีอาการน้อยหรืออาการดีขึ้นแล้ว อาจจะยังตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโควิด-19 ในน้ำมูกหรือน้ำลายของผู้ป่วยได้เป็นเวลานาน และเวลานี้ไวรัสมีหลายสายพันธุ์ บางสายพันธุ์อาจจะนาน สารพันธุกรรมที่ตรวจพบหลังจากผู้ป่วยมีอาการมานานแล้ว อาจเป็นเพียงซากสารพันธุกรรมที่หลงเหลือที่ร่างกายยังกำจัดไม่หมด 

นอกจากนี้การตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้อหลังจากพ้นระยะกักตัวก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยรายนั้นยังแพร่เชื้อได้ ดังนั้นในแนวทางเวชปฏิบัติฯ โควิด-19 ฉบับล่าสุดนี้ จึงระบุว่าไม่ต้องทำ swab ก่อนอนุญาตให้ผู้ป่วยออกจากสถานพยาบาล เพราะไม่มีผลเปลี่ยนแปลงการรักษา โดยแพทย์ผู้รักษาจะพิจารณาจากอาการเป็นหลัก

 น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า แต่ตามแนวทางเวชปฏิบัติฯ ยังคงแนะนำให้ผู้ป่วยที่แพทย์จำหน่ายให้กลับไปกักตัวที่บ้านจนครบ 14 วัน ยังต้องปฏิบัติมาตรการป้องกันโรคอย่างเข้มงวด เช่น การงดออกจากบ้านไปยังชุมชนทุกกรณี ยกเว้นการเดินทางไปโรงพยาบาลโดยการนัดหมายและการจัดการโดยโรงพยาบาล, การแยกห้องนอนจากผู้อื่นในครอบครัว ถ้าไม่มีห้องนอนแยกให้นอนห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 3-5 เมตร และต้องเป็นห้องที่เปิดให้อากาศระบายได้ดี, ใช้ห้องน้ำแยกถ้าไม่สามารถแยกได้ให้ให้เช็ดพื้นผิวที่มีการสัมผัสด้วยน้ำยาทำความสะอาดหรือน้ำยาฆ่าเชื้อหลังการใช้ทุกครั้ง, การสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ร่วมกับอยู่อื่น การแยกรับประทานอาหาร เป็นต้น อย่างไรก็ตาม

หากมีอาการป่วยเกิดขึ้นใหม่ หรืออาการเดิมมากขึ้น เช่น ไข้สูง ไอมาก เหนื่อย แน่นหน้าอก หอบ หายใจไม่สะดวก เบื่ออาหาร ให้ติดต่อสถานพยาบาล หากต้องเดินทางมาสถานพยาบาล แนะนำให้สวมหน้ากากระหว่างเดินทางตลอดเวลา   ส่วนกรณีไม่มีอาการใดๆ อีก หลังจากครบกำหนดการกักตัวตามระยะเวลานี้แล้ว สามารถประกอบกิจกรรมทางสังคม และทำงานได้ตามปกติตามแนวทางวิถีชีวิตใหม่ เช่น การสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่น การทำความสะอาดมือ การรักษาระยะห่าง และหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับข้อปฏิบัติในการกักตัวที่บ้านสามารถสอบถามโรงพยาบาลที่เข้ารับการรักษา หรือสายด่วน1422 หรือ 1668