'แบงก์กลาง-เล็ก' มั่นใจเงินฝากไม่ไหลออก เริ่ม 'คุ้มครอง 1 ล้าน' วันแรก

'แบงก์กลาง-เล็ก' มั่นใจเงินฝากไม่ไหลออก เริ่ม 'คุ้มครอง 1 ล้าน' วันแรก

“เกียรตินาคินภัทร” ยันไม่พบเงินไหลออกชัดเจน มูลค่าเงินฝากทรงตัวที่ระดับ 2.6 แสนล้าน “ซีไอเอ็มบีไทย” จับตากลุ่มวัยเกษียณ อาจโยกเงินแค่ 1-2 วัน ไม่กระทบ ย้ำลูกค้าปรับพอร์ต กระจายการลงทุนล่วงหน้า“ทิสโก้ -แอลเอชแบงก์”ชี้แบงก์เล็กได้ประโยชน์กระจายเงินฝาก

สถาบันคุ้มครองเงินฝาก(สคฝ.) จะปรับลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากสำหรับผู้ฝากเงินผ่านสถาบันการเงิน 35 แห่งที่อยู่ภายใต้กำกับธนาคารแห่งประเทศ(ธปท.)จาก 5 ล้านบาทต่อบัญชีต่อรายสถาบันการเงิน เหลือ 1 ล้านบาทต่อบัญชีต่อสถาบันการเงิน โดยจะมีผลตั้งแต่ 11 ส.ค.2564 เป็นต้นไป 

นายปรีชา เตชรุ่งชัยกุล ประธานสายการเงินและงบประมาณ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นเดือนที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน สำหรับลูกค้าเงินฝากบุคคลของธนาคารนั้น การทำธุรกรรม ฝากถอนยังเป็นปกติ เงินฝากที่ครบเทอม ลูกค้าก็ฝากต่อไม่ได้ลดจำนวนลง โดยธนาคารยังไม่เห็นการเคลื่อนไหวของเงินไหลออกที่ชัดเจน อาจเป็นเพราะเริ่มประกาศลดวงเงินคุ้มครองเงินฝาก มีผล 11 ส.ค.นี้  เป็นวันแรก

ทั้งนี้ ธนาคารไม่ได้มีความกังวลกับสถานการณ์ดังกล่าวเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นการลดการค้ำประกันทั้งระบบ และธนาคารเชื่อว่า ธนาคารมีผลิตภัณฑ์การลงทุนอื่นที่ใกล้เคียงเงินฝากให้บริการแก่ลูกค้า แม้ในกรณีที่ลูกค้าต้องการกระจายความเสี่ยง เช่น กองทุน , ตราสารหนี้ ฯลฯ ปัจจุบันมูลค่าเงินฝากของธนาคารอยู่ที่ราว 260,000 ล้านบาท ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด

นางสาวดุษฎี เกลียวปฏินนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาพรวมการเคลื่อนไหวของเงินฝากจากการลดวงเงินความคุ้มครองเงินฝากรอบนี้อาจเห็นการโยกเงินฝากของกลุ่มคนวัยเกษียณเพียงบางรายเท่านั้น โดยที่ผ่านมาคนกลุ่มนี้อาจลืม ทำให้ยังมีเงินฝากเกิน 1 ล้านบาท ดังนั้นมีโอกาสที่เงินฝากจะไหลออกจากคนกลุ่มนี้ได้ในช่วง 1-2 วันแรกเท่านั้น เพราะจำนวนเงินคงไม่มาก และเป็นการกระจายการลงทุนมากกว่า ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้ไหลออกจากการลดคุ้มครองเงินฝากเป็นหลัก

ขณะเดียวกันลูกค้ากลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเชื่อมั่นในธนาคารที่ตนเองฝากเงินอยู่แล้ว อาจไม่มีโยกเงินฝากก็ได้ ประกอบกับในภาวะโควิด ที่มีความไม่แน่นอนสูง ลูกค้าเองต้องติดตามสถานการณ์ ดังนั้นจึงไม่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของเงินฝากอย่างมีนัยสำคัญ

“การปรับลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากครั้งนี้ ไม่น่ากังวลเหมือน 5 ปีก่อน หากทำในช่วงนั้น เราเคยวิเคราะห์ว่า คนจะตกใจราว 2-3 เดือนแรก ทำให้มีเงินไหลออกเป็นจำนวนมากในช่วงนั้นได้มากกว่าตอนนี้ เพราะตอนนั้นดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ 3-4% แต่เมื่อปีก่อนเลื่อนปรับลดลงวงเงินคุ้มครองเงินฝาก มาเป็นเวลานาน และที่ผ่านมาดอกเบี้ยต่ำมาก ยิ่งตอนนี้ดอกเบี้ยฝากเงินได้แค่ 0.2-1.5% ส่วนใหญ่ลูกค้าเงินฝากก็โยกเงินไปลงทุนประเภทอื่นที่ได้ผลตอบแทนดีกว่า และได้เตรียมตัวกับเรื่องนี้ล่วงหน้าไปแล้ว" 

นางสาวดุษฏี กล่าวว่า ที่สำคัญปัจจุบันฐานะการเงินธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารขนาดใหญ่ กลางและเล็ก ก็มีฐานะการเงินที่แข็งแกร่งไม่แพ้กัน หากมีปัญหาเกิดขึ้นกับสถาบันการเงิน สามารถดูแลเงินฝากของลูกค้าได้ ทั้งจำนวนและในส่วนที่เกินจากความคุ้มครองขั้นต่ำด้วย โดยที่ลูกค้าอาจไม่ต้องไปใช้สิทธิคุ้มครองเงินฝากก็ได้

ดังนั้นตอนนี้อาจยังเห็นว่า บัญชีเงินฝากของลูกค้าที่เกินวงเงิน 1 ล้านบาทยังอยู่ เงินไม่ได้ไหลออก ซึ่งลูกค้าก็มีความเข้าใจการปรับเกณฑ์ดังกล่าว และรับความเสี่ยงได้ ที่สำคัญคือยังความเชื่อมั่นในธนาคารที่รับฝากเงินสามารถดูแลได้

ในส่วนของธนาคารที่ผ่านมาได้เตรียมตัวเรื่องนี้กับกลุ่มลูกค้าเวลธ์มาตลอด ประกอบกับทางเลือกการลงทุนมีเพิ่มขึ้นและยังให้ผลตอบแทนที่ดีนอกเหนือจากเงินฝาก โดยธนาคารได้นำเสนอการลงทุนที่กระจายความเสี่ยงในภาวะดอกเบี้ยเงินฝากที่อยู่ในระดับต่ำมานาน ปัจจุบันพบว่า ลูกค้าเงินฝากของธนาคารได้โยกเงินฝากไปลงทุนอื่นๆของธนาคารไปก่อนหน้านี้ค่อนข้างมากแล้ว เช่น หุ้นกู้ พันธบัตรรัฐบาล และกองทุน ทำให้เงินฝากต่อรายเหลือไม่มาก

นายเมธา ปิงสุทธิวงศ์กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทิสโก้ เปิดเผยว่า  ความเคลื่อนไหวในช่วงตั้งแต่ต้นปี 2564 เป็นต้นมา ธนาคารไม่พบการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมการฝากถอนเงินที่ผิดปกติแต่อย่างใด โดยยอดเงินฝากของลูกค้าธนาคารในกลุ่มเงินฝากไม่เกิน 10 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่ธนาคารประเมินว่าอาจมีความอ่อนไหวในเรื่องดังกล่าวนี้ยังมี “แนวโน้มคงที่” ขณะที่จำนวนบัญชีเงินฝากก็ “ไม่มีการเปลี่ยนแปลง” อย่างมีนัยสำคัญ

ส่วนกรณีผู้ฝากเงินมีความอ่อนไหวต่อการปรับลดวงเงินการคุ้มครองเงินฝาก ประเมินว่า ธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็ก อาจได้รับประโยชน์จากการกระจายเงินฝากในระบบธนาคาร เนื่องจากมีปริมาณเงินฝากในสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับธนาคารขนาดใหญ่ (ธนาคารขนาดใหญ่ 5 แห่ง มีสัดส่วนเงินฝากในระบบเกินกว่า 80%) 

ทั้งนี้ หากพิจารณาจากจำนวนบัญชีและจำนวนเงินฝากในระบบธนาคาร ในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา พบว่า จำนวนบัญชีที่มียอดเงินฝากมากกว่า 1 ล้านบาทขึ้นไป ไม่มีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ ขณะที่ค่าเฉลี่ยยอดเงินฝากต่อบัญชียังอยู่ที่ระดับ 7 ล้านบาทเช่นเดิม

"มองว่า ผู้ฝากเงินส่วนใหญ่มีความเข้าใจการคุ้มครองเงินฝากเป็นอย่างดี และเข้าถึงข้อมูลที่จะใช้ในการประเมินสถานะความเสี่ยงของแต่ละธนาคารได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ก่อนตัดสินใจฝากเงินกับธนาคารใดธนาคารหนึ่งอยู่แล้ว ที่สำคัญภาพรวมของระบบธนาคารพาณิชย์ปัจจุบันมีความแข็งแกร่ง โดยมีเงินกองทุนและสภาพคล่องส่วนเกินในระดับสูง มีเสถียรภาพ และความเสี่ยงอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น การลดวงเงินคุ้มครองเริ่มในวันนี้จะมีผลกระทบน้อยมากต่อพฤติกรรมการฝากเงิน และ สภาพคล่องของระบบธนาคาร"        

เช่นเดียวกับ นางศศิธร พงศธร อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เปิดเผยว่า ผู้ฝากที่มีบัญชีเงินฝากมากกว่า1ล้านบาท โดยปกติผู้ฝากกลุ่มนี้จะมีการบริหารความเสี่ยงอยู่แล้ว ส่วนใหญ่จะกระจายเงินฝากไว้กับแบงก์ขนาดเล็กสัดส่วน 10-15% ของเงินฝากทั้งหมด และมักไม่นำเงินออกเพราะการฝากเงินกับแบงก์ขนาดเล็กจะได้ผลตอบแทนที่ดีและชดเชยกับความเสี่ยงได้ 

ดังนั้นการปรับลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากรอบนี้ ถ้าจะมีเงินไหลออกจากแบงก์ขนาดเล็ก คงไม่มากแค่ลดสัดส่วนเท่านั้น และอาจมีเงินฝากของลูกค้าจากแบงก์ขนาดใหญ่สามารถกระจายเข้ามาตามสถาบันการเงินต่างๆ ทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ที่มีถึง 25 แห่ง และธนาคารต่างประเทศ อีกทั้งปัจจุบันฐานะการเงินของระบบธนาคารพาณิชย์มีความแข็งแกร่ง ซึ่งแบงก์ขนาดเล็กก็จะได้ประโยชน์เช่นกัน