ทุนมนุษย์เพื่อโลก 'ซอฟท์เพาเวอร์อิสราเอล'

ทุนมนุษย์เพื่อโลก 'ซอฟท์เพาเวอร์อิสราเอล'

การสร้างประเทศต้องใช้ทุนมนุษย์เป็นสำคัญ ต่อให้สภาพแวดล้อมยากลำบากแต่ถ้ามนุษย์มีความมุ่งมั่นก็ก่อร่างสร้างประเทศขึ้นมาได้ ดูอย่างอิสราเอลเป็นต้น

ไม่เพียงเท่านั้นประเทศเล็กอายุน้อยแห่งนี้ยังแบ่งปันองค์ความรู้ในการพัฒนาทุนมนุษย์ไปทั่วโลกผ่านองค์การที่เรียกว่า “มาชาฟ”

มาชาฟ (MASHAV) เป็นชื่อในภาษาฮิบรูของหน่วยงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาแห่งอิสราเอล เอย์นัต ชไลน์ ผู้อำนวยการมาชาฟ เผยในงานสัมนาออนไลน์ MASHAV: Israel's Soft Power – Building Human Capital Around the World ​ว่า องค์กรนี้ทำงานหลายอย่าง  แต่แบรนด์เนมคือการสร้างทุนมนุษย์ ที่ทำมาตลอด 63 ปีในหลากหลายภูมิภาคทั่วโลก มาชาฟก่อตั้งในปี 2501 ตอนที่อิสราเอลกำลังพัฒนาประเทศ ด้วยเชื่อว่าทุนมนุษย์คือเสาหลักที่แท้จริงของทุกสังคม  มรดกของอิสราเอลคือการแบ่งปันความรู้กับคนอื่นๆ มาชาฟจึงทำงานหนักในการฝึกคนและสร้างพันธมิตร ภารกิจคือ เพื่อนำความพยายามของอิสราเอลเพิ่มอำนาจให้บุคคลและชุมชนที่ต้องการโดยแบ่งปันเครื่องมือและความชำนาญเพื่อให้บรรลุการพัฒนาอย่างยั่งยืน 

ทั้งนี้ มาชาฟเริ่มต้นจากแอฟริกาแล้วขยายไปทั่วโลก ตลอดเวลาที่ผ่านมาฝึกอบรมประชาชนกว่า 330,000 คนใน 140 ประเทศ ช่วงสถานการณ์ปกติฝึกอบรม 5,000 คนจาก 160 หลักสูตรทั้งในอิสราเอลและต่างประเทศ เมื่อโควิดระบาดผู้อำนวยการกล่าวว่า การทำงานของมาชาฟก็ยากขึ้นไม่สามารถรับใครเข้าอิสราเอลหรือส่งใครไปต่างประเทศได้ กิจกรรมต่างๆ ต้องเปลี่ยนมาทำแบบออนไลน์และไฮบริด

มาชาฟมุ่งมั่นปฏิบัติตาม UNSDG โดยให้ความสำคัญกับ 8 สาขาหลัก ได้แก่ 1) ความมั่นคงด้านอาหาร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการจัดการน้ำ 2) การศึกษาสำหรับทุกคน 3) การแพทย์ สาธารณสุข และการเตรียมการรับมือเหตุฉุกเฉิน 4) การพัฒนาชุมชนและความสามารถในการฟื้นตัว 5) ความเสมอภาคทางเพศและการเพิ่มพลังผู้หญิง 6) นวัตกรรมและความเป็นผู้ประกอบการ 7) การวิจัยและพัฒนา 8) ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม 

สมาดาร์ ชาพีรา รองหัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูต สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเเทศไทย เผยถึงโครงการของมาชาฟในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า ระหว่างปี 2563-2564 เน้นที่การตั้งโรงเรีือน 4 แห่งเพื่อเป็นหน่วยสาธิตและฝึกอบรมหลายสาขา ได้แก่ ศูนย์ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศอิสราเอล ทำโครงการในไทยมาตั้งแต่ปี 2509 เริ่มต้นที่ศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกระพง

ความสำเร็จของโครงการนี้ช่วยให้เกษตรกรในพื้นที่มีรายได้มั่นคง คุณภาพชีวิตดีขึ้น ความร่วมมือยาวนานสืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

ในวาระครบรอบ 60 ปีของการก่อตั้ง มาชาฟตั้งโรงเรือนระบบชลประทานน้ำหยดและการให้น้ำแบบฉีดฝอยแห่งแรกซึ่งช่วยส่งเสริมการเพาะปลูกอย่างมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และทำเกษตรอย่างยั่งยืน

หลังจากติดตั้งโรงเรือนแรกสำเร็จ โรงเรือนแห่งที่ 2 เพิ่งติดตั้งไปเมื่อเร็วๆ นี้ ให้ชาวบ้านในสหกรณ์และพื้นที่ใกล้เคียงได้ใช้ประโยชน์เพิ่มเติม

ส่วนความร่วมมือสาขาอื่นในประเทศไทย มาชาฟสนับสนุนความร่วมมือด้านเทคนิคมาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 60 ครั้นถึงปี 2545 ทั้งสองประเทศลงนามความร่วมมือในการจัดทำแปลงสาธิตการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในพื้นที่ของคณะเกษตรศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อสาธิตและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับนักศึกษา รวมถึงชุมชนเกษตรและภาคธุรกิจในพื้นที่ และประเทศเพื่อนบ้าน

ปี 2563 ตั้งโรงเรือนแบบผสมผสานที่อุทยานเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีวัตถุประสงค์เพิ่มความสามารถในการผลิตและถ่ายทอดองค์ความรู้ของอิสราเอลให้กับนักศึกษาและเกษตรกร 

นอกเหนือจากความร่วมมือเหล่านี้แล้วมาชาฟยังตั้งโรงเรือนหลายแห่งที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช และวิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี

ส่วนความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปี 2557 ไทยและอิสราเอลลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ว่าด้วยการพัฒนาความร่วมมือระหว่างมาชาฟกับกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศมีเป้าหมายจัดโครงการฝึกอบรมพัฒนาทักษะบุคลากรจากรัฐสมาชิกอาเซียน นอกจากนี้มาชาฟยังลงนามเอ็มโอยูความร่วมมือด้านการพัฒนากับสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง มีการจัดสัมมนาร่วมว่าด้วยการส่งเสริมผู้ประกอบการนวัตกรรมและการเป็นผู้ประกอบการที่ยั่งยืนและครอบคลุมสำหรับผู้ร่วมอบรมจากอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

 การทำงานในภูมิภาคนี้ มาชาฟใช้วิธีถ่ายทอดความรู้และความเชี่ยวชาญ สถานทูตอิสราเอลสนทนาแลกเปลี่ยนกับกรมความร่วมมือระหว่างประเทศและหน่วยงานอื่นๆ เพื่อแสดงและระบุความต้องการสำคัญร่วมกันในภูมิภาค โดยมาชาฟจัดหาผู้เชี่ยวชาญที่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้และทำหลักสูตรออนไลน์อันหลากหลายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้

ด้วยการสร้างขีดความสามารถด้านมนุษย์แล้วแบ่งปันความชำนาญของอิสราเอลผ่านการฝึกอบรม มาชาฟจึงมีบทบาทสำคัญในการเอาชนะอุปสรรคทั้งหลาย แม้ในช่วงโควิดระบาดผู้ร่วมกิจกรรมหลายสิบคนจากหน่วยงานของไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เข้าร่วมหลักสูตรฝึกอบรมวิชาชีพทางออนไลน์ทั้งในด้านเกษตร ดูแลสุขภาพ การศึกษา ความเสมอภาคทางเพศ และอื่นๆ อีกมาก