'ความรุนแรง' มรดกที่สหรัฐทิ้งไว้หลังถอนทหาร

'ความรุนแรง' มรดกที่สหรัฐทิ้งไว้หลังถอนทหาร

การประกาศถอนกองกำลังทหารอเมริกันออกจากอัฟกานิสถานในวันที่ 11 ก.ย. จะถึงนี้ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวเชิงรุกของกองกำลังติดอาวุธตาลีบันในอัฟกานิสถาน

สิ่งนี้ เป็นพยายามเข้ายึดครองเมืองเอกในจังหวัดต่างๆที่กองทัพรัฐบาลพยายามป้องกันไว้อย่างเหนียวแน่น

ล่าสุด “อัชราฟ กานี” ประธานาธิบดีอัฟกานิสถาน กล่าวต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า กระบวนการสันติภาพที่ประเทศนำเข้ามาอย่างร่งรีบ ไม่เพียงแต่สร้างความล้มเหลวในการสร้างสันติภาพ แต่ยังสร้างความสับสนและความคลุมเครือแก่ประชาชนชาวอัฟกันทั่วทั้งประเทศด้วย พร้อมทั้งยอมรับว่าการรุกคืบของกลุ่มตาลีบัน เป็นเรื่องที่น่ากังวล แต่รัฐบาลก็จะทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องเมืองเอกในจังหวัดต่างๆไม่ให้ถูกยึดครองโดยกองกำลังของตาลีบัน

แต่ประธานาธิบดีอัฟกานิสถานก็ไม่วายกล่าวโทษการตัดสินใจถอนทหารของสหรัฐและพันธมิตรตะวันตก ว่าเป็นตัวเร่งให้เกิดความรุนแรงขึ้นทั้งในกรุงคาบูล เมืองหลวงและในหลายพื้นที่ของอัฟกานิสถานเช่นที่เมืองลาชการ์ คาร์ กันดาฮาร์ และเฮรัต เมืองเอกของจังหวัดเฮลมานด์ ซึ่งเป็นพื้นที่การสู้รบอันดุเดือดระหว่างตาลีบันกับกองกำลังชาติตะวันตก ตลอด20 ปีของการทำสงคราม

รายงานข่าวระบุว่า สถานีโทรทัศน์และสถานีวิทยุหลักประจำจังหวัดตกอยู่ภายใต้การครอบครองของกลุ่มตาลีบันแล้วและขณะนี้มีแต่การออกอากาศเพลงศาสนาเท่านั้น และสถานีนี้ตั้งอยู่ห่างจากสำนักงานจังหวัดเฮลมานด์ ที่ยังอยู่ในความดูแลของรัฐบาลแค่ 400 เมตร ส่วนสนามบินกันดาฮาร์ถูกโจมตีด้วยจรวดอาร์พีจีจากกองกำลังตาลีบันจนต้องระงับเที่ยวบินเป็นเวลาหลายชั่วโมง โชคดีที่ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บ

นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงประเมินว่า หากสนามบินถูกกลุ่มตาลีบันยึดครอง ก็เท่ากับว่ากองทัพรัฐบาลในจังหวัดจะถูกตัดขาดจากการส่งกำลังบำรุง ไปจนถึงขาดการโจมตีสนับสนุนทางอากาศ

ผู้ปกครองไม่ดีอย่างที่คิด

หลังจากกองทัพโซเวียตถอนตัวออกจากอัฟกานิสถาน ชาวอัฟกานิสถานก็เปิดประตูต้อนรับกลุ่มตาลีบันด้วยความสมัครใจ โดยในช่วงแรกกลุ่มตาลีบันเป็นที่ยอมรับในหมู่ชาวอัฟกันเพราะช่วยกำจัดการทุจริต, ควบคุมสิ่งผิดกฎหมายทำให้สังคมมีความปลอดภัยมากพอที่จะทำมาหากิน

ต่อมากลุ่มนี้เริ่มบังคับใช้กฎหมายชารีอะห์อย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นการประหารผู้มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นและผู้ที่นอกใจคู่ครอง การตัดแขนขาผู้มีความผิดฐานลักขโมย ทั้งยังบังคับให้ผู้ชายไว้หนวด ผู้หญิงต้องใส่ชุดแบบปกปิดทั้งตัวแบบอิสลาม หรือ บูร์กา (Burka) กลุ่มตาลีบันยังห้ามไม่ให้ดูทีวี ฟังเพลง หรือดูหนัง แถมต่อต้านการให้เด็กผู้หญิงที่อายุ 10 ขวบขึ้นไป ไปโรงเรียน

อิทธิพลเริ่มเสื่อมถอย

หลังเกิดเหตุสังหารหมู่ที่โรงเรียนในเมืองเปชวาร์ของปากีสถาน อิทธิพลของกลุ่มตาลีบันทั้งในปากีสถานและในอัฟกานิสถานก็ลดลงอย่างมาก จนมาถึงปี 2556 สหรัฐปฏิบัติการโจมตีกลุ่มตาลีบันด้วยโดรน ทำให้สมาชิกระดับคีย์แมน 3 คนของกลุ่มในปากีสถานเสียชีวิต รวมถึงนายฮาคิมูละห์ เมซูด หัวหน้ากลุ่มตาลีบันในปากีสถานรวมอยู่ด้วย

แต่กลุ่มตาลีบันในอัฟกานิสถานกลายเป็นที่สนใจของผู้คนทั้งโลกหลังเกิดเหตุวินาศกรรมที่นิวยอร์กเมื่อวันที่ 11 ก.ย. ปี2544 โดยตาลีบันถูกกล่าวหาว่าให้ที่พักพิงกับผู้ต้องสงสัยหลักอย่าง“โอซามา บิน ลาเดน”

162806188513

ปี 2544 กองกำลังร่วมที่นำโดยสหรัฐบุกเข้าไปในอัฟกานิสถาน ทำให้กลุ่มตาลีบันหมดอำนาจแต่เมื่อเวลาผ่านไป 20 ปี และใกล้ถึงกำหนดที่สหรัฐต้องถอนกองกำลังทั้งหมดออกจากอัฟกานิสถาน กลุ่มตาลีบันก็กลับเข้ามายึดครองฐานที่ตั้งกองทัพหลายแห่ง รวมถึงหมู่บ้าน และเมืองใหญ่ ๆ มากมาย ทำให้กังวลกันว่าตาลีบันจะโค่นล้มรัฐบาลอัฟกานิสถานอีกครั้ง

คาดรัฐบาลอัฟกันถูกโค่นอำนาจใน6เดือน

พลเอกออสติน มิลเลอร์ ผู้บังคับบัญชากองกำลังร่วมนำโดยสหรัฐในอัฟกานิสถาน เตือนเมื่อเดือน มิ.ย.ว่าอาจจะมีสงครามกลางเมืองเกิดขึ้นในอัฟกานิสถานหลังจากสหรัฐถอนกำลังออกไปแล้ว

ขณะที่หน่วยข่าวกรองสหรัฐวิเคราะห์ว่า รัฐบาลอัฟกานิสถานอาจถูกโค่นอำนาจภายใน 6 เดือนหลังจากกองทัพอเมริกันถอนทัพไป

และเชื่อกันว่าตอนนี้กองกำลังของตาลีบันแข็งแกร่งมากที่สุด โดยองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ(นาโต) คาดการณ์ว่าตาลีบันมีนักรบประจำการ 85,000 คน

นอกจากนี้ ยังมีการประเมินว่า กองกำลังตาลีบันอาจจะควบคุมพื้นที่ในอัฟกานิสถานระหว่าง 1 ใน 3 หรือ 1 ใน 5 ของพื้นที่ประเทศทั้งหมด

กรณีศึกษาสงครามเกาหลี

ช่วงปี 2493-2496 หลังจากสหภาพโซเวียตและสหรัฐถอนกำลังทหารออกจากคาบสมุทรเกาหลี เกาหลีเหนือ ได้ยกพลบุกเกาหลีใต้ จึงเกิดสงครามการสู้รบขึ้น สหรัฐกลับเข้ามามีบทบาทในฐานะแกนนำกองกำลังของสหประชาชาติ(ยูเอ็น) ซึ่งต่อสู้ร่วมกับกองทัพเกาหลีใต้ ขณะที่จีนส่งกำลังทหารเข้ามาสนับสนุนเกาหลีเหนือ ผลพวงจากการทำสงครามที่กินเวลานาน 4 ปีทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 4 ล้านคน และถึงแม้เหตุการณ์จะสงบลงด้วยการทำข้อตกลงหยุดยิง แต่สหรัฐยังคงกำลังทหารเอาไว้ในเกาหลีใต้จนถึงปัจจุบัน

อิรักคือ เป้าหมายต่อไป

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐประกาศว่าจะถอนทหารอเมริกันที่เหลืออยู่ทั้งหมดออกจากอิรักภายในสิ้นปีนี้ ภายใต้การเจรจายุทธศาสตร์สหรัฐ-อิรัก ทำให้เกิดคำถามตามมาว่าการถอนกำลังทหารนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรในพื้นที่ และจะเปิดโอกาสให้กลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) กลับคืนมาหรือไม่

กลุ่มไอเอส เป็นกลุ่มที่ปฏิบัติการก่อการร้ายในตะวันออกกลางเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ชักชวนให้คนจากแดนไกลเดินทางมาเข้าร่วมตั้งแต่ กรุงลอนดอน ทรินิแดด และออสเตรเลีย

หลังจากสหรัฐส่งกองกำลังบุกอิรักเมื่อ18 ปีก่อน ปัจจุบัน สหรัฐเหลือทหารประจำการอยู่ในอิรักแค่ 2,500 นาย บวกกับกองกำลังปฏิบัติการพิเศษสู้รบกับไอเอสอีกจำนวนไม่มากซึ่งไม่มีการเปิดเผยจำนวน

แปลและเรียบเรียงจากสำนักข่าวรอยเตอร์,เดอะ การ์เดียนและบีบีซี