จัดตั้งธุรกิจโฆษณาครึ่งปีแรกพุ่งตามกระแสคนไทยใช้อินเตอร์เน็ตเพิ่ม

จัดตั้งธุรกิจโฆษณาครึ่งปีแรกพุ่งตามกระแสคนไทยใช้อินเตอร์เน็ตเพิ่ม

พาณิชย์เผย ยอดจัดตั้งธุรกิจโฆษณาครึ่งปีแรก 557 ราย เพิ่มขึ้น 26.59% พุ่งขึ้นตามกระแสคนไทยใช้อินเตอร์เน็ตมากขึ้นส่งผลให้มีการใช้เม็ดเงินโฆษณาผ่านช่องทางประชาสัมพันธ์ทุกสื่อครึ่งปีแรกของปี64 สูงถึง 53,640 ล้านบาท

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สถิตการจดทะเบียนธุรกิจโฆษณาใหม่ตั้งแต่เดือนม.ค.-มิ.ย. 2564หรือ 6 เดือนแรก พบว่า   มีจำนวนการจดทะเบียนฯ ใหม่ ทั้งสิ้น 557 ราย เพิ่มขึ้น 26.59% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 ที่มี 440 ราย  และทุนจดทะเบียนของธุรกิจโฆษณาในช่วงครึ่งปีแรก ปี 2564 มีจำนวน 893.15 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 59.39 %เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 ที่ทุนจดทะเบียน 560.34 ล้านบาท เป็นการส่งสัญญาณแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดีของธุรกิจโฆษณาในประเทศไทย

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การจดทะเบียนธรกิจโฆษณาเพิ่มขึ้นมาจากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป มีการทำงานและเรียนผ่านออนไลน์ที่บ้านมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณการใช้งานระบบออนไลน์ การใช้โซเชียลมีเดีย และการรับชมทีวีผ่านอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นตามไปด้วย จากสถิติการใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือของผู้ใช้งานอายุระหว่าง 16 - 64 ปี ในประเทศไทย พบว่า มีการใช้งานเฉลี่ย 5.07 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งมากเป็นอันดับที่ 3 ของโลก และหากนับรวมการใช้อินเทอร์เน็ตทั้งระบบ คนไทยมีการใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ยวันละ 10 ชั่วโมง หรือคิดเป็น 41 % ของการใช้เวลาภายใน 1 วัน ดังนั้น ภาคธุรกิจจึงให้ความสำคัญและหันมาประกอบธุรกิจ ทำการตลาดบนโลกออนไลน์มากขึ้น

     162805171497          

นายสินิตย์  กล่าวว่า ปัจจุบันมีธุรกิจโฆษณาที่ดำเนินกิจการอยู่จำนวนทั้งสิ้น 10,293 ราย คิดเป็น 1.28 % ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินกิจการอยู่ และมูลค่าทุนรวม 52,668.81 ล้านบาท คิดเป็น 0.27 % ของมูลค่าทุนธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่ ส่วนใหญ่ดำเนินกิจการในรูปแบบบริษัทจำกัด จำนวน 8,868 ราย คิดเป็น 86.15% มูลค่าทุนรวม 43,541.39 ล้านบาท คิดเป็น 82.67%

ธุรกิจโฆษณาส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร จำนวน 6,365 ราย คิดเป็น 61.84%  รองลงมาคือ ภาคกลาง 1,990 ราย คิดเป็น 19.33%  ภาคเหนือ 598 ราย คิดเป็น 5.81% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 435 ราย คิดเป็น 4.23 %ภาคใต้ 426 ราย คิดเป็น 4.14 % ภาคตะวันออก 368 ราย คิดเป็น 3.58% และภาคตะวันตก 111 ราย คิดเป็น 1.08 %”

สำหรับนักลงทุนชาวต่างชาติที่เข้ามาประกอบธุรกิจโฆษณาในประเทศไทย ณ วันที่ 30 มิ.ย.2564 มีมูลค่าการลงทุนจำนวน 3,804.31 ล้านบาท คิดเป็น 7.23 % ของการลงทุนในธุรกิจโฆษณา โดยสัญชาติที่เข้ามาลงทุนสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อเมริกัน 1,689.05 ล้านบาท คิดเป็น 3.21 % จีน 408.70 ล้านบาท คิดเป็น0.78 % และ เยอรมัน 345.70 ล้านบาท คิดเป็น 0.66%

ปัจจัยสนับสนุนให้ธุรกิจโฆษณาดิจิทัลมีอัตราการเติบโตที่ดี คือ ภาคธุรกิจสามารถเลือกช่องทางการตลาดให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ตรงจุดมากขึ้น มีแพลตฟอร์มที่เข้าถึงได้ง่ายและรวดเร็ว และการมีเทคโนโลยีที่สามารถรองรับให้ผู้บริโภคเปิดรับสื่อได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะช่องทางโซเชียลมีเดียที่มีการเติบโตของการลงเงินโฆษณาถึง 20 % โดยสื่อดิจิทัลที่มีเม็ดเงินการลงทุนในปี 2564 ได้แก่ Facebook  32 % , YouTube  23 % และ TikTok มีแนวโน้มการเติบโตสูงอยู่ที่ 21 % การลงทุนในแต่ละสื่อมีมูลค่าเม็ดเงินสูงถึงพันล้านบาท โดยการโฆษณาทางโซเชียลมีเดียในปัจจุบันมีความเหมาะสมกับกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีหรือผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นดำเนินธุรกิจ เนื่องจากเป็นช่องทางการสื่อสารกับผู้บริโภคได้อย่างสะดวกรวดเร็วและใช้เงินลงทุนที่ไม่สูงมากนัก

อย่างไรก็ตาม การดำเนินธุรกิจโฆษณาต้องคำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายเป็นลำดับแรก การเลือกช่องทางการสื่อสาร การเลือกช่วงเวลา และความถี่ที่เหมาะสม รวมทั้งการคิดนอกกรอบในการสร้างสรรค์สื่อโฆษณา เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายที่มีความหลากหลายเข้าใจในคุณค่าของผลิตภัณฑ์หรือสินค้าของลูกค้าได้อย่างแท้จริง จะทำให้ธุรกิจโฆษณาสามารถอยู่รอดในตลาดและสามารถแข่งขันได้อย่างสมบูรณ์และยั่งยืน

ทั้งนี้เม็ดเงินโฆษณาดิจิทัล ปี 2563 ของสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) ที่ภาคธุรกิจมีการใช้งบประมาณซื้อสื่อโฆษณาดิจิทัลมูลค่าสูงถึง 21,058 ล้านบาท เติบโตขึ้น 8%  เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่มีมูลค่า 19,555 ล้านบาท  และข้อมูลของบริษัท นีลเส็น ประเทศไทย จำกัด รายงานว่า ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 (ม.ค. – มิ.ย.) มีการใช้เม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ทุกช่องทางรวมแล้วจำนวน 53,640 ล้านบาท