ธนาคารโลกชี้โควิดรอบ 3 ฉุดจีดีพีเมียนมาดิ่ง 18%

ธนาคารโลกชี้โควิดรอบ 3 ฉุดจีดีพีเมียนมาดิ่ง 18%

ธนาคารโลกชี้โควิดรอบ 3 ฉุดจีดีพีเมียนมาดิ่ง 18% ขณะนักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำเมียนมาของธนาคารโลก เตือนว่า เศรษฐกิจของเมียนมาจะหดตัวมากกว่านี้ในช่วงปลายปีนี้เพราะการระบาดของโรคโควิด-19

รายงานวิจัยล่าสุดของธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของเมียนมาจะหดตัวประมาณ 18% ในปีนี้เพราะผลพวงของปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองอันเนื่องมาจากการทำรัฐประหารยึดอำนาจของกองทัพเมียนมาเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา และการที่จำนวนผู้ป่วยโรคโควิด-19รายใหม่ในระลอกที่3ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ตัวเลขประมาณการทางเศรษฐกิจที่บรรจุในรายงาน“สังเกตุการณ์เศรษฐกิจเมียนมา”และถูกนำออกเผยแพร่วานนี้(26ก.ค.)ร่วงลงเกือบ2เท่าเหลือ 10% ในเดือนมี.ค.และบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจเมียนมาจะแย่ลงยิ่งกว่านี้ในอีกสองสามเดือนข้างหน้า

ส่วนการคาดการณ์จากที่อื่นๆ ที่รวมถึงการคาดการณ์ในเดือนมิ.ย.โดยฟิทช์ โซลูชันส์ หน่วยงานในเครือกลุ่มบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของโลก ประเมินว่าเศรษฐกิจของเมียนมาจะหดตัว 20% หรือมากกว่านั้นในปีงบประมาณนับจนถึงวันที่ 30 ก.ย.โดยอ้างถึงภาวะช็อคทางเศรษฐกิจเมื่อไม่นานมานี้

ธนาคารโลก ยอมรับว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19สร้างผลกระทบเพิ่มเติมอย่างมีนัยสำคัญแก่เศรษฐกิจของเมียนมาทั้งยังคุกคามชีวิตและการทำมาหากินที่อาจจะกินเวลาไปจนถึงปี 2565

ทางการเมียนมารายงานว่า นับจนถึงวันที่ 24 ก.ค.ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศมีจำนวนเกือบ 260,000 ราย และยอดผู้เสียชีวิต 6,460 ราย ส่วนยอดผู้ติดเชื้อรายวันเฉลี่ยวันละประมาณ 6,000 ราย แม้ว่านี่อาจเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากข้อจำกัดในการตรวจหาเชื้อและการหลั่งไหลของข้อมูล

อย่างไรก็ตาม รายงานวิจัยเศรษฐกิจของธนาคารโลกฉบับนี้มีมุมมองเกี่ยวกับเศรษฐกิจเมียนมาแย่ลง เพราะเมื่อวันที่ 26 มี.ค.ธนาคารโลก ได้ออกรายงานคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจเมียนมาจะหดตัวลง 10% ในปีนี้ โดยได้รับผลกระทบจากการชุมนุมประท้วงทั่วประเทศ, การผละงาน และการที่เมียนมาถูกนานาประเทศคว่ำบาตร หลังจากกองทัพเมียนมาได้ก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ซึ่งตัวเลขคาดการณ์นี้ สวนทางกับที่ธนาคารโลกคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่า เศรษฐกิจเมียนมาจะขยายตัว 5.9% ในปีนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวเลขคาดการณ์แข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาคเอเชีย

ธนาคารโลก ระบุว่า เมียนมาได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากเหตุการณ์ประท้วง, การผละงาน และการใช้มาตรการทางทหาร ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้การเคลื่อนไหวสัญจรภายในประเทศลดน้อยลง และทำให้การบริการในด้านต่างๆ ต้องหยุดชะงัก ซึ่งรวมถึงการบริการในภาคธนาคาร, โลจิสติกส์ และอินเทอร์เน็ต

รายงานของธนาคารโลกยังระบุด้วยว่า กลุ่มผู้ประท้วงในเมียนมาพุ่งเป้าโจมตีไปที่เศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงอารยะขัดขืนเพื่อต่อต้านการก่อรัฐประหารของกองทัพเมียนมา ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อระบบธนาคารของเมียนมา และยังทำให้นักลงทุนต่างชาติถอนการลงทุนออกจากประเทศไปจนกว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลตามระบอบประชาธิปไตย

นอกจากนี้ การที่รัฐบาลทหารเมียนมาชัตดาวน์ระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อสกัดการประท้วงไม่ให้ลุกลามนั้น ยังเป็นอีกปัจจัยที่สร้างความเสียหายต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของเมียนมาด้วย

“ขณะที่การตรวจหาเชื้อโควิด-19ในเมียนมายังเป็นไปอย่างจำกัด จำนวนผู้มีผลตรวจเป็นบวกก็สูงมาก บ่อยครั้งพบว่ามีอัตรามากกว่า 33% บ่งชี้ว่ามีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ในวงกว้างบวกกับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และพฤติกรรมเฝ้าระวังของผู้คนทำให้ความท้าทายทางด้านเศรษฐกิจของเมียนมาเพิ่มขึ้น” รายงานของธนาคารโลก ระบุ

“คิม อลัน เอ็ดวาร์ดส์” นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำเมียนมาของธนาคารโลก เตือนว่า เศรษฐกิจของเมียนมาจะหดตัวมากกว่านี้ในช่วงปลายปีนี้เพราะการระบาดของโรคโควิด-19

“ขณะที่มีสัญญาณเบื้องต้นที่บ่งชี้ถึงความมีเสถียรภาพในบางส่วนในช่วงเดือนพ.ค.และมิ.ย.ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นและปัญหาการดิสรัปด้านโลจิสติกก็บรรเทาลง แต่หากมองภาพรวมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ยังถือว่าอ่อนแออยู่มาก และมีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจเมียนมาจะหดตัวตั้งแต่เดือนก.ค.เป็นต้นไป ”นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำเมียนมาของธนาคารโลก กล่าว

ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อของเมียนมาจะอยู่ที่ 6% ในปี 2564 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 5.8% ในปี 2563 และมีแนวโน้มว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนเตือนว่า อัตราเงินเฟ้อในเมียนมาอาจเพิ่มขึ้นเป็นตัวเลขสองหลักในไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ หลังจากเมื่อไม่นานมานี้ มีสัญญาณบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นเมื่อทางการพิมพ์ธนบัตรใหม่ๆออกมาสู่ระบบบเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ รายงานของธนาคารโลกยังอ้างถึงราคาเชื้อเพลิงในเมียนมาที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเพิ่มขึ้น 50% นับตั้งแต่ปลายเดือนม.ค.การที่เงินจัตอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว โดยอ่อนค่าลงไปประมาณ 23% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่วันที่ 1ก.พ.-กลางเดือนก.ค. ประกอบกับภาวะขาดแคลนอาหารในช่วงที่คนทั้งประเทศวิตกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีปัญหาความขัดแย้ง

ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยิ่งซ้ำเติมปัญหาต่างๆที่มีอยู่แล้วให้ย่ำแย่ลงไปอีก จนส่งผลให้ความต้องการบริโภคในประเทศลดลงเพราะคนตกงานจากมาตรการล็อกดาวน์และตัวแปรอื่นๆที่จะหนุนอัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยเฉพาะการที่ราคาสินค้าประเภทอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้น