ลุ้น ครม.จ่าย 'เงินเยียวยา' พื้นที่ 'ล็อกดาวน์' 10 จังหวัด 'เสริมสวย นวด สปา' ได้แน่

ลุ้น ครม.จ่าย 'เงินเยียวยา' พื้นที่ 'ล็อกดาวน์' 10 จังหวัด 'เสริมสวย นวด สปา' ได้แน่

ครม.เตรียมเคาะใช้เงินกู้ จ่าย "เงินเยียวยา" กลุ่มอาชีพกระทบ "ล็อกดาวน์" 10 จังหวัด 'ร้านเสริมสวย นวด สปา' ได้แน่ พร้อมเพิ่มเงินพิเศษทั้งนายจ้าง-ลูกจ้าง ส่วนนอกระบบจ่ายเงินพร้อมจูงใจเข้าประกันสังคม

คำสั่งการล็อคดาวน์พื้นที่ระบาดโรคโควิด-19 ในพื้นที่สีแดงเข้ม 10 จังหวัด เริ่มมีผลวันที่ 12 ก.ค.2564 ซึ่งทำให้มีการห้ามออกนอกเคหสถานในเวลา 21.00-04.00 น. ในกรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลาและสงขลา อย่างน้อย 14 วัน

การยกระดับควบคุมการระบาดดังกล่าวนำมาสู่การกำหนดมาตรการเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทั้งประชาชนและภาคธุรกิจ โดยวันที่ 12 ก.ค.2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมทีมเศรษฐกิจรัฐบาล รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ กระทรวงแรงงาน เพื่อเตรียมมาตรการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาวันที่ 13 ก.ค.2564

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า มาตรการในการช่วยเหลือทั้งหมดจะเข้าสู่การประชุมของ ครม.และจะมีการแถลงข่าวให้ประชาชนทราบภายหลังการประชุม ครม.

แหล่งข่าวข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า มาตรการที่จะเสนอให้กับ ครม.พิจารณาเป็นลักษณะเดียวกับมาตรการที่ ครม.มีการช่วยเหลือกลุ่มอาชีพต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากประกาศของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ฉบับที่ 25 ได้แก่ กลุ่มธุรกิจและแรงงานก่อสร้าง ร้านอาหารและศิลปะ บันเทิง สันทนาการ 

ในขณะที่การประกาศล็อกดาวน์ครั้งนี้สั่งให้ปิดกิจการเพิ่ม ได้แก่ สถานเสริมความงาม ร้านนวดเพื่อสุขภาพ สปา ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการและแรงงานในธุรกิจดังกล่าวได้รับการจ่ายเงินเยียวยาในลักษณะเดียวกับ โดยได้มีการนำแนวทางดังกล่าวมาใช้พิจารณากำหนดการเยียวยาในครั้งนี้ ซึ่งแบ่งเป็นแรงงานในระบบประกันสังคม กลุ่มลูกจ้างจะได้รับเงิน 50% ของค่าแรง แต่ไม่เกิน 7,500 บาท แรงงานสัญชาติไทยได้รับเงินพิเศษอีก 2,000 บาทต่อราย ส่วนกลุ่มนายจ้างหรือผู้ประกอบการได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาทต่อราย แต่ไม่เกิน 200 คน

ส่วนกิจการที่อยู่นอกระบบประกันสังคมก็จะได้รับความช่วยเหลือโดยต้องยื่นลงทะเบียนกับระบบประกันสังคมภายใน 1 เดือน โดยลูกจ้างสัญชาติไทยได้รับเงินเยียวยาคนละ 2,000 บาท และนายจ้างได้รับความช่วยเหลือ 3,000 บาทต่อราย แต่ไม่เกิน 200 คนเช่นกันโดยมาตรการนี้เป็นการจูงใจให้แรงงานเข้าสู่ระบบ 

อย่างไรก็ตามในส่วนของระบบลงทะเบียนที่เดิมเคยให้มีการใช้งานการลงทะเบียนผ่านระบบแอพพลิเคชั่นเป๋าตังค์จะมีการปรับปรุงให้ลงทะเบียนในช่องทางอื่นแทนเพื่อให้ง่ายต่อการเก็บข้อมูลและอนุมัติให้เข้าร่วมโครงการ ซึ่ง สศช.จะมีการรายงาน ครม.ในการประชุมครั้งนี้ด้วย