นายกฯ สั่งเยียวยา 'ล็อคดาวน์' จ่ายเงินแรงงานใน-นอกระบบ

นายกฯ สั่งเยียวยา 'ล็อคดาวน์' จ่ายเงินแรงงานใน-นอกระบบ

นายกฯ ถกทีมเศรษฐกิจวันนี้ หามาตรการเยียวยาล็อคดาวน์ ช่วยนายจ้าง-แรงงาน 10 จังหวัด ในและนอกระบบ พร้อมจ่ายเงินเพิ่มพิเศษ ตั้งเงื่อนไขเข้าประกันสังคม เล็งทบทวน “คนละครึ่ง-ยิ่งใช้ยิ่งได้”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นัดประชุมทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลวันนี้ (12 ก.ค.) ประกอบด้วยนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รวมถึงสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะหน่วยงานกำกับการใช้จ่ายเงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของโควิด-19 (ศบศ.) กล่าวว่า การหารือครั้งนี้เพื่อพิจาณามาตรการดูแลและเยียวยาประชาชน 10 จังหวัด ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งยกระดับการควบคุมการแพร่ระบาดที่ศูนย์บริหารสถานการณ์ฉุกเเฉินจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบค.) ประกาศให้มีผลวันนี้ (12 ก.ค.)

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า มาตรการดูแลที่จะเพิ่มเติมจะพิจารณาดูแลผู้ได้รับผลกระทบใน 10 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลาและสงขลา ซึ่งจะมีมาตรการช่วยเหลือให้แรงงาน คือ

1.แรงงานในระบบประกันสังคม

2.แรงงานนอกระบบประกันสังคมและกลุ่มอาชีพอิสระ

รวมทั้งจะมีการจ่ายเงินเยียวยาพิเศษเพิ่มเติมด้วย และการเยียวยาแรงงานนอกระบบจะให้ลงทะเบียน โดยมีการจ่ายเงินพิเศษจูงใจให้นายจ้างและลูกจ้างเข้าสู่ระบบประกันสังคม

ทั้งนี้ รูปแบบการช่วยเหลือจะคล้ายมาตรการที่ได้ออกมาช่วงปลายเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งช่วยเหลือแรงงานและผู้ประกอบการใน 6 จังหวัดที่ถูกสั่งปิด โดยกระทรวงการคลัง และคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ฯ ที่มีเลขาธิการ สศช.เป็นประธานจะเสนอมาตรการเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 13 ก.ค.เพื่อเห็นชอบในหลักการ

เยียวยาทั้งลูกจ้าง-นายจ้าง

สำหรับมาตรการที่รัฐบาลเตรียมไว้เพิ่มเติมจะเป็นมาตรการจากกระทรวงการคลังและกระทรวงแรงงาน ซึ่งมีทั้งการเยียวยาประชาชนและช่วยเหลือกิจการที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศยกระดับมาตรการในพื้นที่สีแดงเข้มฉบับล่าสุดที่ให้ปิดกิจการบางประเภทเพิ่มเติม เช่น ร้านนวด สปา สถานเสริมความงาม ซึ่งต่างจากการเยียวยาในปี 2563 ที่ใช้กับทั่วประเทศ

ส่วนแหล่งที่มาของงบประมาณการเยียวยาเพิ่มเติมจะใช้เงินจากเงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่ยังเหลือบางส่วนและหากไม่พอจะขอใช้จาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งกันส่วนเยียวยาประชาชนไว้ 3 แสนล้านบาท 

แหล่งข่าว กล่าวว่า มาตรการที่จะออกมาจะเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์และช่วยพยุงเศรษฐกิจด้วย เพราะมาตรการทางการคลังที่ออกมายังไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากนัก เช่น โครงการคนละครึ่งเฟส 3 โคงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ซึ่งเป็นมาตรการที่ออกมาช่วงโควิด-19 แพร่ระบาดรุนแรงทำให้ประชาชนยังไม่กล้าออกมาจับจ่ายใช้สอยมากนัก ซึ่งจะเสนอ ครม.ปรับปรุงมาตรการที่อนุมัติไปแล้วด้วย

เตรียมมาตรการหลังคลี่คลาย

สำหรับการช่วยเหลือผู้ประกอบการได้มีหลายสมาคมการค้าเสนอให้ภาครัฐช่วยพยุงการจ้างงาน โดยขอให้รัฐช่วยสนับสนุนการค่าจ้างแรงงาน โดยมาตรการในลักษณะนี้คาดว่าจะใช้วงเงิน 60,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นอีกมาตรการที่ช่วยผู้ประกอบการรักษาระดับการจ้างงาน และจะส่งผลดีต่อภาคการผลิตและเศรษฐกิจในภาพรวม โดยกำลังสรุปรายละเอียดร่วมกับภาคเอกชนเพื่อเสนอ ศบศ.เพื่อให้มีผลใช้ทันทีเมื่อการระบาดคลี่คลายลง

รวมทั้งเตรียมมาตรการช่วยเหลือภาคท่องเที่ยวสำหรับช่วงสถานการณ์คลี่คลายลง โดยจะพิจารณานำโครงการเราเที่ยวด้วยกันและโครงการทัวร์เที่ยวไทยของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) วงเงิน 27,400 ล้านบาท กลับมาใหม่หลังจากเลื่อนไปเพราะการระบาดระลอกที่ 3 โดยประเมินว่าหลังจากมีมาตรการเพิ่มเติมแล้วสถานการณ์โควิด-19 จะทยอยคลี่คลายขึ้นในเดือน ส.ค.นี้

รัฐบาลพร้อมเพิ่มกรอบหนี้

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า แม้ว่ารัฐบาลจะกู้เงินจนเกินกรอบ 60% ต่อจีดีพีที่กำหนดไว้ แต่ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ไม่ได้กำหนดห้ามไว้ เพียงแต่ระบุว่าให้รัฐบาลต้องชี้แจงความจำเป็นและหาแนวทางการทำให้หนี้กลับมาอยู่ในกรอบ

“รัฐบาลไม่ได้กลัวว่าการกู้เงินจะทำให้หนี้สาธารณะของรัฐบาลชนเพดาน แต่มองเรื่องความจำเป็นที่ต้องใช้จ่ายเพื่อดูแลเศรษฐกิจมากกว่า” นางแพตริเซีย กล่าว

ทั้งนี้ จนถึงสิ้นปีงบประมาณ 2564 หรือสิ้นเดือน ก.ย.นี้ หากรัฐบาลเบิกจ่าย พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เต็มวงเงินตามกฎหมาย และบวกอีก 1 แสนล้านบาท จาก พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ระดับหนี้สาธารณะ ณ สิ้นปีงบประมาณยังไม่เกิน 60%

นอกจากระดับหนี้สาธารณะของรัฐบาลนั้น มีตัวแปรอีกตัวหนึ่ง คือ การขยายตัวของเศรษฐกิจหากขยายตัวต่ำกว่าคาด ระดับหนี้สาธารณะจะปรับตัวสูงขึ้น โดยขึ้นกับการใช้จ่ายเงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้ฉบับที่ใหม่ 5 แสนล้านบาทด้วยว่า รัฐบาลจะใช้เงินมากกว่าที่คาดไว้ในปีงบประมาณนี้หรือไม่

ปัจจุบัน พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท รัฐบาลได้เบิกจ่ายเงินกู้ออกมาแล้ว จนถึงปัจจุบันราว 8 แสนล้านบาท ส่วนที่เหลือจะเบิกจ่ายออกมาตามโครงการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นโครงการ เราชนะ คนละครึ่ง หรือยิ่งใช้ยิ่งได้

ทั้งนี้ หากใช้เงินโครงการเยียวยาไม่หมด เช่น โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ที่กระทรวงการคลังกำหนดเป้าหมายไว้ 4 ล้านคน ใช้เงินงบประมาณจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท จำนวน 2.8 หมื่นล้านบาท หากมีคนเข้าโครงการน้อยกว่าที่กำหนด เงินส่วนที่เหลือจะนำไปใช้โครงการอื่น