เปิดขั้นตอน ผู้ติดเชื้อจาก 'Rapid Antigen Test' ส่งต่อ 'คลินิกชุมชนอบอุ่น' ทั่ว กทม.

เปิดขั้นตอน ผู้ติดเชื้อจาก 'Rapid Antigen Test' ส่งต่อ 'คลินิกชุมชนอบอุ่น' ทั่ว กทม.

ผนึกกำลัง “คลินิกชุมชนอบอุ่น” ทั่ว กทม. เริ่มระบบ "Home Isolation" และ Community Isolation พรุ่งนี้ (12 ก.ค.) แก้วิกฤตผู้ป่วยรอเตียง เข้าสู่ระบบการรักษา และลดการเสียชีวิต พร้อมรองรับขยายการตรวจชุด "Rapid Antigen Test" ตรวจ "โควิด-19

เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2564 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดประชุมชี้แจงระบบบริการ และการเบิกจ่ายในระบบการดูแลผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียวที่บ้าน (Home Isolation : HI)  "คลินิกชุมชนอบอุ่น" และศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ผ่านระบบ Zoom Meeting เพื่อผนึกกำลังหน่วยบริการระดับปฐมภูมิร่วมดูแลผู้ติดเชื้อ "โควิด-19" ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑลที่ยังเข้าไม่ถึงระบบบริการ ผ่านระบบ HI โดยความร่วมมือ กรมการแพทย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร

นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การดูแลผู้ติดเชื้อ "โควิด-19" ที่เพิ่มขึ้นให้เข้าถึงบริการ เราได้มีหารือและจัดกระบวนการ (Home Isolation : HI) เพื่อรับมือ เป็นการเปลี่ยนหลักเกณฑ์บริการผู้ป่วยโควิดจากเดิมที่ผู้ติดเชื้อทุกคนต้องเข้าสู่โรงพยาบาล เป็นผู้ติดเชื้อที่อาการเล็กน้อย (สีเขียว) ให้อยู่บ้าน หากไม่ติดขัดที่อยู่หรือการแยกตัว และจะได้รับการดูแลจากทีมสุขภาพปฐมภูมิ ทั้ง "คลินิกชุมชนอบอุ่น" และศูนย์บริการสาธารณสุข ส่วนต่างจังหวัดเป็นทีม 3 หมอ หากมีอาการแย่ลงระบบจะมีช่องทางด่วนเพื่อนำผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาล และจ่ายยารักษา ซึ่งจุดนี้เป็นการจัดการสำคัญที่จะทำให้ระบบ HI สำเร็จ รวมไปถึงการมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวคอยประเมินอาการ ซึ่งจะทำให้จำนวนการรอเตียงลดลง ส่งผลให้มีเตียงว่างในโรงพยาบาล โดยวันที่ (12 ก.ค.) หน่วยบริการบางส่วนจะเริ่มรับผู้ป่วยเข้าระบบ HI ได้

“ระบบ HI นี้ คงไม่ใช้การแก้ไขปัญหาโควิดทั้งหมดได้ แต่เป็นการจัดการเท่าที่ทีมสุขภาพปฐมภูมิจะช่วยได้ เบื้องต้นคงไม่เห็นผลทันที แต่ศักยภาพจะค่อยๆ ปรากฏ การรอเตียงเชื่อว่าจะชะลอลงในสัปดาห์หน้า” รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าว

162600389875

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า วันนี้ท่านเป็นกำลังสำคัญในการกู้ระบบสุขภาพของ กทม. ซึ่งข้อเสียของระบบ HI ที่ให้ผู้ติดเชื้อโควิดอยู่บ้าน มี 2 เรื่อง คือ 1.ความเสี่ยงอาการผู้ป่วยที่อยู่บ้านอาจแย่ลงเป็นสีแดงและเสียชีวิต และ 2. การแพร่กระจายเชื้อในชุมชน หากไม่กักตัวหรือแยกตัวได้จริง แต่ข้อเสียทั้ง 2 ข้อนี้แก้ไขได้หากช่วยกัน หากมีการจัดระบบที่ดี ทั้งเครื่องมีที่จำเป็น อาทิ ที่วัดไข้ เครื่องวัดค่าออกซิเจน และยารักษา รวมถึงอาหารครบ 3 มื้อ พร้อมมีระบบติดตามระหว่างผู้ป่วย คลินิกชุมชนอบอุ่น และศูนย์บริการสาธารณสุข

“ที่ผ่านมาโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ได้นำร่องทำระบบ HI วันนี้เรามีคนไข้ในระบบ 300 คนแล้ว ชัดเจนว่าช่วยลดผู้ติดเชื้อโควิดที่ต้องเข้าสู่โรงพยาบาลและได้ผลที่ดี ต้องขอบคุณคลินิกชุมชนอบอุ่นทุกแห่งที่มาวันนี้ เพื่อร่วมกันให้ผ่านสถานการณ์โควิดนี้ไปได้” อธิบกรมการแพทย์ กล่าว

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า สบส. เป็นหน่วยงานที่ดูแลการให้บริการของหน่วยบริการเอกชนทั้งโรงพยาบาลและคลินิก เพื่อให้ผู้ติดเชื้อ "โควิด-19" ได้รับการดูแลระบบ HI จึงได้ทำการปรับกฎหมายต่างๆ เพื่อรองรับ อาทิ การปลดล็อกหลังการตรวจพบเชื้อจากเดิมที่กำหนดให้ต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล เป็นการเข้าสู่ระบบ HI แทนในกรณีที่เป็นผู้ป่วยสีเขียว, ในกรณีที่ผู้ป่วยเข้าสู่ระบบ (Home Isolation : HI) กำหนดให้บ้านผู้ป่วยเป็นสถานพยาบาลชั่วคราว เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นให้ถือเป็นสถานพยาบาล, การกำหนดให้บริการ HI สามารถเบิกจ่ายได้ โดยให้ถือเป็น “UCEP COVID” นอกจากนี้โรงพยาบาลเอกชนและ "คลินิกชุมชนอบอุ่น" ที่ทำ HI มาแล้ว ให้เบิกจ่ายย้อนหลังได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. เป็นต้น

“ภาวะวิกฤตนี้ เราทุกคนต้องร่วมมือกัน ซึ่งการทำระบบ (Home Isolation : HI) จะทำให้ประชาชนอุ่นใจและผ่านช่วงนี้ไปด้วยกัน” อธิบดี สบส. กล่าว

นพ.ชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สถานการณ์ผู้ติดเชื้อ "โควิด-19" ที่ทราบกันดีขณะนี้จำเป็นแล้วที่ "คลินิกชุมชนอบอุ่น" 204 แห่ง และศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. 69 แห่ง ต้องมาช่วยกันให้ผ่านศึกนี้ไปได้ ที่ผ่านมากรณีการแพร่ระบาดของโรคโควิด บทบาทปฐมภูมิไม่ชัดเจน แต่ในวันนี้ระบบบริการปฐมภูมินี้ได้ถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สุดสุด เพื่อให้ประชาชนมีชีวิตปลอดภัย โดยเฉพาะผู้ติดเชื้อโควิดที่เข้าไม่ถึงโรงพยาบาลและต้องรออยู่ที่บ้าน วันนี้จึงเป็นการมาร่วมเพื่อกอบกู้สถานการณ์ จึงขอให้ทุกคนมาช่วยกัน

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า วันนี้เป็นการปรับกระบวนการทำงานในระบบปฐมภูมิร่วมกัน เพื่อช่วยให้ผู้ติดเชื้อโควิดเข้าถึงบริการและปลอดภัย โดยความร่วมมือของกระทรวงสาธารสุข กรุงเทพมหานคร และ สปสช. ทั้งการอนุมัติให้ใช้การตรวจหาเชื้อด้วยวิธี Rapid Antigen Test แทน RT-PCR ที่ปรับใช้เฉพาะตรวจในผู้ติดเชื้อที่มีอการ การจัดระบบดูแลผู้ติดเชื้อ "โควิด-19" ด้วยระบบ (Home Isolation : HI) อย่างครบวงจร

162600390042

ล่าสุด สปสช. ได้ออกแนวทางปฏิบัติการขอรับค่าใช้จ่ายบริการสาธารณสุขฯ ปีงบประมาณ 2564 เพิ่มเติมเพื่อรองรับการเบิกจ่ายแล้ว โดยในวันนี้จึงเชิญผู้แทนคลินกชุมชนอบอุ่นและศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. มารับฟังการชี้แจงเพื่อความเข้าใจ ก่อนที่จะเริ่มรับผู้ติดเชื้อโควิดสู่ระบบ HI ที่จะเริ่มในวันที่ (12 ก.ค.)

“การจัดระบบดูแลผู้ป่วยโควิดที่บ้านรวมถึงการดูแลในชุมชนถือเป็นความเร่งด่วนอย่างยิ่ง เพราะด้วยผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มอย่างก้าวกระโดด ทั้งยังมีอาการรุนแรง ส่งผลให้มีผู้ป่วยรอเตียงและเสียชีวิตจำนวนมาก เฉพาะข้อมูลสายด่วน สปสช. 1330 เมื่อวันที่ 10 ก.ค. มีผู้ป่วยรอเตียงสะสม 2,468 รายแล้ว ระบบบริการ HI จึงเป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยผู้ป่วยได้ พร้อมรองรับการขยายตรวจ Rapid Antigen Test ที่จะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว