ACT ถกฮั้วประมูลรถไฟทางคู่ จี้ตั้งที่ปรึกษา หยุดคอร์รัปชันถูกกฎหมาย

ACT ถกฮั้วประมูลรถไฟทางคู่  จี้ตั้งที่ปรึกษา หยุดคอร์รัปชันถูกกฎหมาย

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เปิดเวทีเสวนาออนไลน์ ในประเด็นร้อน “การประมูลรถไฟทางคู่ ความโปร่งใสที่ไม่จริงใจ”

โดยเป็นการเสวนาเกี่ยวกับโครงการประกวดราคารถไฟทางคู่สายเหนือ เด่นชัย-เชียงของ และสายอีสาน โครงการรถไฟทางคู่สายบ้านไผ่-นครพนม ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) มีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นายสุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยนโยบายด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ของสถาบันวิจัยเพื่อ​การพัฒนาประเทศไทย (TDRI) นายต่อตระกูล ยมนาค กรรมการ​ต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ(คตช.) นายประจักษ์ ทรัพย์มณี ผู้สังเกตการณ์โครงการรถไฟทางคู่ และนายมานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ผ่านทาง FB Page : องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน หรือรับฟังได้พร้อมกันทาง Clubhouse วันนี้ (8 ก.ค.) เมื่อเวลา 19:00-21:30 น.

โครงการมีความโปร่งใสหรือไม่

นายสุเมธ กล่าวว่า ประเด็นนี้จากที่เห็นการดำเนินโครงการคิดว่าการประมูลรถไฟทางคู่สายเหนือ - สายอีสาน ต้องตอบคำถามสังคมอีกหลายประเด็น จะโปร่งใสหรือไม่คงตอบไม่ได้ แต่ผลที่ออกมารู้สึกว่ามีการตั้งคำถามอยู่ มีข้อข้องใจที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรออกมาชี้แจงเพิ่มเติม จากผลที่เกิดขึ้น ว่ามาจากอะไร

นายต่อตระกูล กล่าวว่า โดยกฎหมายรัฐธรรมนูญ กำหนดให้โครงการรัฐต้องเปิดเผยข้อมูล แต่การเปิดเผยต้องรวมถึงการเปิดเผยข้อมูลที่ประชาชนต้องการทราบ ไม่ใช่ข้อมูลที่อยากเปิดเผยอย่างเดียว หรือตอบก็ตอบไม่ตรง ส่วนตัวคิดว่าตอนนี้คนวิพากย์วิจารณ์เพราะว่ามีข้อมูลพื้นฐานออกมาให้เห็น ให้ประชาชนทราบและช่วยกันตรวจสอบค่อนข้างมาก

นายประจักษ์ เผยว่า ประเด็นนี้คงต้องตอบว่าจากที่สังเกตการณ์ตั้งแต่ทำเอกสารประกวดราคา (TOR) เป็นการดำเนินงานที่โปร่งใสภายใต้กรอบที่กระทรวงคมนาคมกำหนด ร.ฟ.ท.จัดทำภายใต้กรอบ แต่การทำกรอบทำให้เกิดการตัดผู้ร่วมเข้าประมูลรายเล็กรายย่อย ทำให้ผู้เข้าร่วมรายย่อยเข้ามาไม่ได้

นายมานะ กล่าวถึงคำถามนี้ว่า ส่วนตัวเห็นด้วยว่าเป็นการดำเนินงานในเรื่องของความโปร่งใส แต่เป็นการโปร่งใสภายใต้กรอบของการเมือง และกระทรวงคมนาคมตีกรอบมาแบบนี้ ดังนั้น ร.ฟ.ท.ทำเป็นไปตามกรอบกระทรวง ประเด็นนี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องตรวจสอบและทบทวนกัน เพราะในรอบ 10 ปี โครงการนี้ถูกตั้งคำถามมากสุดของโครงการประกวดราคาของ ร.ฟ.ท. เป็นเรื่องที่เราต้องถามว่าทำไมสังคมจึงตั้งคำถามมาก ก็เพราะกติกาในการกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ทำให้สังคมต้องตั้งคำถาม

อีกทั้ง การที่รัฐบาลมีนโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน ถึงเวลาที่ต้องปฏิรูปการเปลี่ยนแปลงต้องเห็น โครงการของภาครัฐจึงเป็นการจัดซื้อจัดจ้างตามข้อตกลงคุณธรรม ฉะนั้นโครงการนี้หากยังเป็นประเด็นใหญ่ที่สังคมต้องการคำตอบ อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าไม่มีการโกง

ประเด็นอะไรที่ประชาชนควรทราบเกี่ยวกับโครงการนี้

นายสุเมธ เผยว่า ตัวราคาประมูลต่ำกว่าราคากลางเล็กน้อย เป็นข้อสงสัยขึ้นมา การแข่งขันด้านราคาก่อสร้างเป็นการพัฒนาความโปร่งใส การแข่งขันด้านราคาเมื่อเทียบโครงการอื่นในอดีต เทียบทางคู่สายใต้ มีหลายสัญญา และราคาน้อยกว่านี้ แต่พบว่าราคาประมูลถูกลงกว่านี้ 10-20% แต่ทางคู่สายนี้พบว่าราคาถูกกว่าราคากลางเล็กน้อย

ดังนั้นขอย้อนกลับไปถึงเป้าหมายของการดำเนินโครงการ เราต้องการสินค้าของดีมีคุณภาพ ตรงเวลา และราคาที่เหมาะสม ซึ่งโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ มีความเสี่ยงค่อนข้างมาก โครงการทางคู่สายใต้ที่มีการแบ่งสัญญาย่อยก็เกิดปัญหาก่อสร้างบ้าง แต่การตัดโครงการย่อยทำให้มีผู้ประกอบการรายย่อย ส่วนโครงการใหญ่สัญญาน้อยก็ทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ ตอนนี้จึงมีการตั้งคำถามว่าช่องว่างของโครงการใหญ่และย่อยมากไปหรือป่าว การพิจารณาโครงการที่ขาดการทบทวนข้อมูลให้เหมาะสมจึงเกิดปัญหา

อีกทั้งการบริหารสัญญาตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางมีความสำคัญไม่น้อยกว่าเรื่องการประมูล การที่รัฐบาลให้มีผู้สังเกตการณ์ตั้งแต่ต้นจนจบก็เป็นเรื่องที่ดีอย่างหนึ่ง การที่จะได้ของดีมีคุณภาพ ควรจะมีการแข่งขันที่เหมาะสม เช่น โครงการใหญ่เทคโนโลยีสูง จบสูงก็ปรับไซด์ได้ โครงการไหนที่เทคนิคไม่มากก็เป็นรายย่อยได้ หากทำแบบนี้จะทำให้เกิดประสิทธิภาพสูง การแบ่งสัญญาก็ควรพิจารณาที่แต่ละงานสัญญามีเทคนิคมากหรือไม่ ถ้าสัญญาไหนไม่ได้มีเทคนิคมากไม่ได้จำเป็นมากนักก็ควรจะมีการย่อบสัญญา ซึ่งเรื่องแบบนี้การทำสัญญาบุคลากรก็ควรจะมีความรู้มากขึ้น ในการคิดคำนวณสัญญา

“สิ่งที่เห็นชัดคือโครงการของการรถไฟฯ มักจะล่าช้า และวงเงินเกิน เมื่อเกิดขึ้นบ่อยควรจะต้องปรับปรุง เราเห็นโครงการหลายโครงการของการรถไฟฯ เป็นแบบนี้ ดังนั้นควรจะต้องปรับปรุง ควรมีการพัฒนาประสิทธิภาพในเรื่องของการพิจารณาการแบ่งสัญญา”

การแก้ไขทีโออาร์ส่งผลหรือเกิดสุ่มเสี่ยงเอื้อประโยชน์หรือไม่

นายประจักษ์ เผยว่า ตั้งแต่เริ่มต้นจัดทำทีโออาร์เราบอกเลยว่าไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนการประมูลไปยกเลิกข้อกำหนดบอร์ดจัดซื้อจัดจ้างเรื่องย่อยสัญญาให้รายเล็กเข้าได้ แต่ทีโออาร์นี้ไปรวบทั้งหมดทำให้ผู้ประกอบการขนาดกลาง หรือแม้แต่รายใหญ่บางรายก็เข้าไม่ได้ เพราะมีเอกชนรายใหญ่ที่มีประสบการณ์เพียง 5-6 ราย และเมื่อมี 5-6 สัญญา ก็เป็นการจำกัดงานอย่างมาก และกระทรวงฯ กำหนดว่าต้องเป็นบริษัทไทยเท่านั้นในการประมูล ซึ่งเรื่องนี้เราไม่เห็นด้วย เพราะจะทำให้เสียโอกาสเรียนรู้เทคโนโลยี เราควรให้ต่างชาติมาประมูลในเรื่องที่เราไม่เก่ง

นอกจากนี้ยังมีการรวมงานโยธาเข้ามาหมดในสัญญา ซึ่งงานของ ร.ฟ.ท.สามารถแยกได้ ผู้ประกอบการขนาดกลางก็มีประสบการณ์ แต่เมื่อไปรวมงานมูลค่าสูง ก็ทำให้ผู้ประกอบการขนาดกลางเข้ามาไม่ได้

ส่วนเรื่องระบบรางเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเชื่อมไประบบอาณัติสัญญาณ ควรแยกการประมูลให้เป็นระบบเดียวกันตลอดสายกำหนดหาผู้เชี่ยวชาญ ส่วนเรื่องระบบอาณัติสัญญาณควรแยกไปประมูลเพราะปัจจุบันผู้ประกอบการไทยยังไม่มีประสบการณ์เรื่องนี้

นายต่อตระกูล กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ความสำคัญของการประมูลควรให้ความเป็นธรรมในการแข่งขัน เปิดโอกาสให้เกิดการแข่งขัน แต่งานนี้ปรากฏว่าการแข่งขันมีอยู่ 5 ราย และสัญญาก็มี 5 สัญญาพอดี และไม่มีเอกชนได้งานซ้ำด้วย ถือเป็นเรื่องที่ไม่ปกติ และรัฐบาลก็บอกเสมอว่าการแข่งขันควรเป็นธรรม และผมก็เห็นด้วยที่จะให้ต่างชาติเข้ามา เพราะการก่อสร้างในยุคนี้ไม่ใช่แค่หาแรงงานราคาถูก แต่มันปรากฏแล้วว่าคนที่มีเทคโนโลยีดี ก็สู้กับผู้ประกอบการท้องถิ่นได้ และมีผลงานที่ดี แต่ประเทศไทยที่ไม่ให้ต่างชาติข้ามาก็เพราะว่าผู้รับเหมายังเป็นกลุ่มผู้มีอิทธิพล และเสียงานไม่ได้

โดยงานของ ร.ฟ.ท.ส่วนใหญ่ก็เป็นงานวางหมอน วางราง มีงานยากแค่งานจังก์ชั่น ไม่ควรนำมากำหนดว่ารายเล็กห้ามเข้า และข้อกำหนดที่ซุปเปอร์บอร์ดออกไว้ ก็ไม่นำมาใช้ กลับใช้แค่การประมูลโครงการเส้นทางใต้ เป็นพิรุธหลายอย่างที่ทำให้เห็นชัดเจนมาก

ข้อกำหนดซุปเปอร์บอร์ด ต้องแบ่งสัญญาย่อย เปิดโอกาสให้เอกชนขนาดกลางเข้าร่วมแข่งขัน โดยความเห็นซุปเปอร์บอร์ดยังสรุปด้วยว่า หากทำเช่นนี้จะทำให้มีผู้เข้าแข่งขันมากราย งานระบบรางและงานโยธา 15 ราย และงานระบบอาณัติสัญญาณ 10 ราย อันจะทำให้เกิดการแข่งขันอย่างแท้จริง ดังนั้นการที่บอกว่าการมีสัญญาเยอะจะทำให้ยากต่อการควบคุมงาน คงต้องบอกว่าปัจจุบันมันไม่ได้ยากต่อการคุมงาน และทำให้มีประสิทธิภาพ

“การที่ให้มีการแข่งขันหลายรายเป็นเรื่องสำคัญ ผมในฐานะวิศวกรบริหารโครงการเหมือนกัน การปล่อยให้คนเข้ามาเยอะเป็นร้อยราย หรือคุณสมบัติไม่ตรงก็คงไม่ได้ ต้องมีประสบการณ์ตรงพอ แต่ขณะนี้ก็มีโครงการที่ผู้รับเหมาเป็นคนรุ่นใหม่ ประมูลถูกกว่าคนอื่น ทำงานเป็นระบบและเสร็จก่อนคนอื่นด้วย ถ้าเราเปิดโอกาสคนรุ่นใหม่จะได้การพัฒนาใหม่ๆ แต่ถ้าเรายังอยู่กับรับเหมารายเดิมๆ ก็ไม่ได้อะไรใหม่ๆ เสียดายที่คนมีเทคนิค มีสมองคนรุ่นใหม่ไม่ได้เกิด”

นายมานะ กล่าวว่า การแยกสัญญาทำให้การคุมงานอาจจะยาก ตามคำชี้แจงของ ร.ฟ.ท. ดังนั้นคงต้องเทียบกับงานมอเตอร์เวย์ที่พบว่ามีถึง 25 สัญญา โครงการรถไฟความเร็วสูงก็มี 14 สัญญา การมีสัญญาแยกย่อยทำให้เกิดประโยชน์แข่งขัน กระจายรายได้ ก็คงต้องดูว่ามันสร้างปัญหายังไง

ทำไม ACT ถึงหยิบประเด็นนี้

นายมานะ เผยว่า การทุจริตไม่ได้เกิดที่การประมูล มักจะเริ่มมาตั้งแต่ศึกษาความเป็นไปได้ และการเขียนทีโออาร์ที่จะทำให้เกิดประโยชน์ ล็อกสเปคอยู่กลายๆ และไปจนถึงการบริหารสัญญาที่ทำให้เกิดข้อตุกติกกันได้ การแบ่งแยกสัญญาเกิดการประมูลมากขึ้น รัฐจะได้ประโยชน์ แต่การแยกสัญญาน้อย จะทำให้รัฐต้องตั้งงบประมาณการประมูลไว้สูง ค่าก่อสร้างก็จะแพง ค่าออกแบบ ค่าคุมงานจะแพงหมด หากขาดการตรวจสอบใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพจะเกิดเป็นภาระทางการเงินของรัฐบาล ที่เกิดจากการใช้เงินภาษีขอองประชาชน และเมื่อต้นทุนมากก็จะมาลงที่ค่าโดยสารแพง

“อย่าเพิ่งสรุปว่าไม่มีโกง เพราะถ้ายังไม่มีการตรวจสอบจริงจัง ไม่ได้มีผู้เชี่ยวชาญเข้าไปช่วยตรวจสอบ เรายังไว้ใจไม่ได้ สิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์ของประชาชนทั้งสิ้น ต่างชาติก็เห็น ถ้าคอร์รัปชันขนาดใหญ่ ใครๆ ก็พูดถึง แต่ยังปล่อยให้ออกไปได้ กับการหาหลักฐานไม่ได้ มันจะเป็นเรื่องที่ทำให้ต่างชาติ หรือนักลงทุนตั้งข้อสงสัยถึงมาตรฐานการลงทุนของไทย เขาจะเชื่อมั่นเรื่องความโปร่งใสได้อย่างไร”

การกำหนดราคากลางของโครงการนี้

นายประจักษ์ เปิดเผยว่า การกำหนดราคากลางโครงการรัฐส่วนใหญ่ต้องสำรวจเส้นทางก่อน และมีการกำหนดราคาเพิ่มเล็กน้อยเพื่อไม่ให้เกิดปัญหางบประมาณไม่เพียงพอในภายหลัง และเมื่อมีเงินเหลือก็ควรจะต้องคืนรัฐบาล แต่สิ่งที่เกิดขึ้น มักจะหาทางใช้เงินที่เหลืออยู่ให้หมด ซึ่งบางโครงการก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงการ เปลี่ยนแบบก่อสร้าง แต่มันคุ้มค่าไหมที่จะทำแบบนี้

“ถ้าไม่มีการตรวจสอบก็มีการใช้เงิน BOQ (Bill of Quantities) หมด อย่างโครงการทางคู่สายใต้ ตั้งแต่ผู้สังเกตุการณ์เข้าไปก็พบแล้วว่ามี BOQ เยอะเกินไป เงินเหลือเยอะ แต่ปัจจุบันเวลาผ่านไป มีการปรับแบบไปเรื่อย BOQ กลับไม่เหลือแล้ว ยังติดลบอีก 400 ล้านบาทด้วย และผมคิดว่าเรื่องแบบนี้มีทุกโครงการ และคงไม่มีใครลงไปตรวจสอบ”

162575575147

ประเมินมูลค่าโครงการ 1.28 แสนล้านบาทเป็นอย่างไร

นายสุเมธ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การลงทุนในมูลค่าสูง ถ้าสร้างแล้วดีก็อาจคุ้มค่า แต่ถ้าสร้างแล้วแย่ก็ใช้ไม่ได้ หรือต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมา ก็อาจไม่คุ้ม ซึ่งความเห็นของทางซุปเปอร์บอร์ดที่ควรจ้างผู้บริหารจัดการ บริษัทที่ปรึกษา ผมคิดว่าส่วนนี้เป็นเรื่องที่ดี ที่ปรึกษาโครงการเป็นคนที่มีบทบาทสำคัญกับกระบวนการทั้งหมด และหน่วยงานก็ควรมีการทำระบบผลงานของผู้รับเหมา และงานประมูลที่ผ่านมา เพื่อนำมาตรวจสอบใช้กับโครงการอื่นๆ

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าการคอร์รัปชันเป็นการบั่นทอนโครงการ ทำให้เราเสียเงินไปกับหลายอย่าง เมื่อเทียบกับสิ่งที่เราได้ เราควรจะได้ผลลัพธ์เท่ากับสิ่งที่เราจ่าย ถึงเวลาที่เราควรจะนำฐานข้อมูล บทเรียนที่ผ่านมากับสิ่งที่เกิดขึ้นมาเป็นข้อมูลของการลงทุนในโครงการอื่นๆ ต่อไป

“ในอดีตการมีซุปเปอร์บอร์ดจัดซื้อจัดจ้างเพื่อแก้ไขปัญหาการทำตามระเบียบที่แต่ละโครงการกำหนด สิ่งที่เกิดขึ้นในการประมูลรถไฟสายใต้ มีซุปเปอร์บอร์ดมาตรวจสอบ และมีกฎหมายพิเศษ แต่รอบนี้ไม่มีกฎหมายพิเศษ เราจึงควรต้องเสนอแนวทางแก้ไข เพราะสุดท้ายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะบอกว่าดำเนินการตามระเบียบ ดังนั้นควรจะต้องหาทางออกร่วมกัน เมื่อทำตามระเบียบแล้วหลังจากนี้ควรจะปรับปรุงอย่างไร หาคำตอบร่วมกัน”

นายต่อตระกูล เผยว่า แม้ผู้บริหารจะบอกว่าทำตามกฎหมาย ตรวจสอบได้ แต่อยากจะบอกว่า ถึงยังไม่มีความผิด แต่มีคนบอกแล้วว่าไม่ควรทำ แต่ดันทุรัง ก็เข้าข่ายกระทำความผิดตามกฎหมาย พ.ร.บ.ความผิดการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 ผิด พ.ร.บ.ฮั้ว มาตรา 10 ที่ระบุว่ารู้ว่าจะไม่ดี หรือควรจะรู้ว่ามันไม่ดี แล้วยังทำ มีความผิดฐานกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ส่วนเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐผู้ใด อนุมัติให้ดำเนินโครงการที่มีความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ มีความผิดถือว่าละเว้นไม่ดำเนินการ

ขณะที่การเสนอราคาใกล้เคียงราคากลาง ต่ำกว่าราคากลางแค่ 0.08% และราคาที่เสนอของผู้เข้าแข่งขันเฉียดกันมากๆ ถือว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ดังนั้นเรื่องนี้ถือเป็นจุดอ่อนของระบบ e-Auction (อีอ็อคชั่น)ที่ทำให้เอกชนฮั้วกันแบบถูกต้องตามกฎหมาย อีอ็อกชั่นกลายเป็นจุดบอด

นายมานะ กล่าวว่า ตอนนี้เราไม่ได้เถียงกันเรื่องเทคนิค แต่เรากำลังคุยกันว่าทำไมถึงมีการเปลี่ยนกติกา จะนำไปสู่การตุกติกอะไรรึป่าว เพราะเราไม่ได้เห็นการทำจดหมายยกเลิก มติ ครม.เรื่องการใช้ข้อกำหนดของซุปเปอร์บอร์ด และเรายังไม่เห็นการชี้แจงเรื่องนี้

อย่างไรก็ดี มีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่าการจ่ายใต้โต๊ะมีมูลค่า 20-25% ของการประมูลงานงานหนึ่ง ส่วนงานก่อสร้างเท่าที่เคยได้ยินก็พบว่าจะมีการจ่ายเงินใต้โต๊ะอยู่ที่ 5-7% แต่งานเมกะโปรเจคแบบนี้ ผมเคยไปดูข้อมูลของรัฐสภา การประมูลมอเตอร์เวย์ หรือไฮสปีดกรุงเทพฯ - โคราช จะเสนอต่ำราคากลาง 14% และโครงการพวกนี้จ่ายใต้โต๊ะ 3-5% แต่โครงการรถไฟทางคู่เหนือ – อีสานนี้เท่าไหร่ เราไม่รู้

ระบบอาณัติสัญญาณมีความแปลกตรงไหน

นายประจักษ์ กล่าวว่า โครงการนี้งานโยธากับระบบอาณัติสัญญาณไปด้วยกัน ยากที่จะตรวจสอบความผิดพลาด และโครงการนี้กำหนดให้เสนองานระบบอาณัติสัญญาณ 2 ยี่ห้อ จะเป็นปัญหาเมื่อมีหลายยี่ห้อจะต่อระบบกันอย่างไร สะดวกไหม เพราะตอนนี้เมื่อไปรวม 6 สัญญา ก็คงจะมี 6 ยี่ห้อ ดังนั้นหากจะทำให้เหมาะสม โปร่งใสที่สุด ระบบอาณัติสัญญาณควรแยกออกไปเป็น 1 สัญญา และควรกำหนดให้รับผิดชอบระบบในระยะ 5 ปี

การหยุดคอร์รัปชันที่ถูกกฎหมาย

นายสุเมธ เผยว่า การคอร์รัปชันเป็นเรื่องสำคัญที่เราพยายามทำ สิ่งแรก คือควรออกกฎหมายมาคุม และควรทำระบบให้สามารถสร้างความโปร่งใสในการดำเนินการ ซึ่งความเห็นของผมคิดว่าควรมองถึงประสิทธิภาพของงานในระดับหนึ่ง การบริหารจัดการที่เหมาะสม เมื่อมีปัญหาเราต้องหาแนวทางแก้ไขที่เป็นระบบ เมื่อเราอยากได้โครงการที่มีคุณภาพ ตรงเวลา ในราคาที่เป็นธรรม การที่มีผู้ตรวจสอบ มีที่บริษัทปรึกษาเหมาะสม และมีการกำหนดควบคุมงานอย่างเหมาะสม น่าจะช่วยยกระดับการดำเนินโครงการให้ดีขึ้น เราอาจให้ความสำคัญเรื่องออกแบบคุมงานน้อยเกินไป แต่ไปให้ความสำคัญในเรื่องอื่นๆ เพราะเรื่องที่เราคุยกันอยู่ทำไมไม่เกิดกับโครงการลงทุนของเอกชนเลย มักจะมาเกิดกับโครงการของรัฐ

นายต่อตระกูล กล่าวว่า คอร์รัปชันถูกกฎหมายคงไม่มี มีแต่คอร์รัปชันที่หาหลักฐานไม่ได้ แต่หลักฐานสำคัญ คือ คนที่ไปนำมาช่วยกันโกงนั่นแหละ โดยเฉพาะข้าราชการหากถูกทำโดยมีคนอื่นสั่ง ข้าราชการก็สามารถจดรายงานไว้และเตรียมเป็นพยานเพื่อหลุดจากคความผิดได้

ดังนั้นการหยุดคอร์รัปชันเห็นด้วยกับที่ต้องดูตั้งแต่การหาทีมที่ปรึกษา หาบุคคลภายนอกเข้าไปร่วมตรวจสอบ โดยเฉพาะโครงการนี้ระดับแสนล้าน จะจ้างที่ปรึกษาแพงๆ เพื่อเข้ามาตรวจสอบ จ้างต่างชาติที่ไม่มีประวัติโกงเลยก็ได้

นายประจักษ์ กล่าวว่า ผมเห็นด้วยในเรื่องที่ว่าที่ปรึกษามีความสำคัญมาก และเจ้าหน้าที่ ร.ฟ.ท.ก็มีความสำคัญมาก แต่จุดอ่อนยังอยู่ที่เจ้าหน้าที่ ร.ฟ.ท.ยังมีจำนวนน้อย และยังไม่มีความเชี่ยวชาญเท่าที่ปรึกษา ดังนั้นน่าจะจ้างต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญ และ ร.ฟ.ท.ก็เรียนรู้เพื่อนำไปพัฒนาในโครงการต่อไป และก็ควรเปิดกว้างให้ต่างชาติเข้ามาประมูลด้วย เพื่อช่วยพัฒนาระบบของไทย

นายมานะ เผยว่า คนโกงเก่งในเรื่องการวางแผน วางโครงข่ายให้การคอร์รัปชันสำเร็จ ถึงวันนี้สิ่งที่คนไทยคิด คือเรื่องที่เลวร้ายมาก หากว่าคนโกงชาติโกงแผ่นดิน สามารถเดินได้อย่างเชิดหน้าชูตา และบอกทุกคนว่าไม่ได้ทำไรผิด เพื่อที่จะแก้ไขปัญหา สิ่งแรกเราต้องการเห็นคนที่ประชาชนให้โอกาสเลือกเข้าไปทำเนียบรัฐบาล ใช้อำนาจในการบริหารแผ่นดินอย่างเต็มที่ มีศักดิ์ศรีของการเป็นผู้นำ เป็นกลาง และทำในสิ่งที่ถูกต้องเพื่อบ้านเมือง

“เราต้องมีการวางระบบที่ดีในเรื่องของความโปร่งใส ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาแล้ว การประมูลงานรัฐปีละ 100 ล้านบาท ACT ได้สร้างเว็บไซด์ช่องทางในการติตตามโครงการประมูล เป็นเครื่องมือที่เข้าถึงการใช้จ่ายของรัฐอย่างโปร่งใส และเรากำลังต่อยอดให้ทุกคนสามารถช่วยกันตรวจสอบการใช้งบรัฐบาลได้”

มองอย่างไรกับนโยบายไทยเฟิร์ส ไทยทำ ไทยใช้ ไทยได้ก่อน

นายประจักษ์ กล่าวว่า มองย้อนกลับไปหลายสิบปีก่อน มีนโยบายคล้ายแบบนี้แต่กลับพบว่ายิ่งปกป้องยิ่งอ่อนแอ เพราะไม่ได้เรียนรู้ หรือรับการถ่ายทอดจากต่างชาติ ดังนั้นยิ่งปกป้องก็อาจยิ่งทำให้ผู้รับเหมาเราอ่อนแอ และอย่างการประมูลไฮสปีดเทรน เราก็ยังเห็นว่าต่างชาติเข้ามาประมูล แต่ผู้ประกอบการไทยก็ได้ไป ดังนั้นเราควรเปิดกว้างและให้ผู้ประกอบการไทยปรับตัวพัฒนาต่อการแข่งขัน