คมนาคมขีดเส้นใช้ตั๋วร่วมปีนี้

คมนาคมขีดเส้นใช้ตั๋วร่วมปีนี้

“คมนาคม” นัดถกคณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม 7 ก.ค.นี้ จี้ รฟม.แจงคืบหน้าศึกษาเคลียริ่งเฮาส์จัดสรรรายได้กลาง ย้ำเป้าหมายเดินหน้าตั๋วร่วมรถไฟฟ้าเปิดใช้ภายในปีนี้

นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดทำระบบตั๋วร่วมและค่าโดยสารร่วม โดยระบุว่า ในวันที่ 7 ก.ค.นี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม (คนต.) โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะมีการรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการศึกษาความเหมาะสมของการจัดการรายได้กลางระบบตั๋วร่วมในภาคขนส่ง

 

“ตอนนี้เรากำลังศึกษาถึงความเหมาะสมที่จะนำระบบตั๋วร่วมมาใช้กับทุกภาคขนส่ง ซึ่งจะเป็นระบบที่สามารถชำระผ่านบัตรเครดิตได้ คล้ายกับระบบของทางด่วนที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน เพื่อสร้างความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการระบบขนส่ง”

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เผยว่า หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งให้มีการจัดตั้ง คนต. โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม 2 ชุด คือ 1.คณะอนุกรรมการด้านการกำหนดมาตรฐานทางเทคโนโลยี 2.คณะอนุกรรมการด้านการกำหนดมาตรฐานอัตราค่าโดยสารและจัดสรรรายได้

                อีกทั้งยังได้สั่งการให้ สนข.จัดทำแผนการกำกับการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม โดยมีระยะเวลาศึกษา 20 เดือน แล้วเสร็จภายใน เม.ย.2565 ดำเนินการศึกษา อาทิ แผนกำกับการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ระบบโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วม และอัตราค่าธรรมเนียมทางการเงินที่เหมาะสมเป็นธรรมต่อผู้ประกอบการระบบขนส่งมวลชนทุกรูปแบบ และแนวทางรูปแบบการจัดหาแหล่งเงินทุนที่จะนำมาใช้ชดเชยรายได้จากค่าโดยสารร่วม และสนับสนุนการพัฒนาระบบตั๋วร่วม เช่น จัดตั้งกองทุน เป็นต้น

                นอกจากนี้ยังมอบหมายให้ รฟม.จะตั้งศูนย์บริหารจัดการรายได้กลางระบบตั๋วร่วมในภาคขนส่ง โดยพัฒนาจากซอฟต์แวร์ระบบตั๋วร่วมที่ สนข.เคยพัฒนาไว้ โดยมีเป้าหมายว่าระบบตั๋วร่วมจะต้องเก็บค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียวสามารถเชื่อมต่อระบบทุกโหมดการขนส่งสาธารณะได้ และจะต้องแล้วเสร็จนำร่องใช้บริการกับรถไฟฟ้าภายในปีนี้

รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า รฟม.อยู่ระหว่างศึกษาระบบบริหารรายได้กลาง หรือที่เรียกว่าเคลียริ่งเฮาส์ เพื่อเร่งรัดให้มีการใช้บริการตั๋วร่วมสำหรับรถไฟฟ้าภายในปีนี้ โดยใช้บัตรโดยสารไม่ว่าจะเป็นบัตรแรบบิทของ BTS บัตร MRT บัตรแมงมุม สามารถใช้บัตรใดบัตรหนึ่งแตะเข้าระบบรถไฟฟ้าได้ทั้งหมด โดยปัจจุบันทราบว่าทางบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ได้ลงทุนปรับปรุงระบบพร้อมรองรับแล้ว

 

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันธนาคารกรุงไทยได้เข้าให้ความร่วมมือเพื่อพัฒนาระบบ EMV รองรับการใช้งานผ่านบัตร Euro/ Master/ Visa Card เพื่อให้ตั๋วร่วมสามารถชำระผ่านบัตรเครดิต หรือบัตรเดบิต เมื่อมีการแตะบัตรเข้าและออกจากระบบขนส่ง หัวอ่านที่ทางธนาคารกรุงไทยจะปรับปรุงนี้ จะบันทึกข้อมูลการเดินทาง และส่งต่อให้ศูนย์บริหารจัดการรายได้กลางระบบตั๋วร่วมในภาคขนส่ง เพื่อทำการประมวลผล และคิดค่าโดยสารและจัดสรรรายได้ให้ผู้ประกอบการ