ครม.ไฟเขียวโครงการ 'สินเชื่ออิ่มใจ' ช่วยผู้ประกอบการร้านอาหาร - เครื่องดื่ม 4 หมื่นราย

ครม.ไฟเขียวโครงการ 'สินเชื่ออิ่มใจ' ช่วยผู้ประกอบการร้านอาหาร - เครื่องดื่ม 4 หมื่นราย

ครม.ไฟเขียวมาตรการสินเชื่ออิ่มใจ ให้ธนาคารออมสินปล่อยกู้ร้านอาหารและเครื่องดื่ม วงเงิน 2 พันล้านบาท ดอกเบี้ย 3.99% ต่อปี โดยไม่ต้องมีหลักประกัน โดยรัฐบาลอนุมัติเงินชดเชย NPL จำนวน 1 พันล้านบาท คาดมีร้านค้าเข้าโครงการ 4 หมื่นราย

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (6 ก.ค.) เห็นชอบมาตรการ "สินเชื่ออิ่มใจ" เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหาร หรือเครื่องดื่มที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ระลอกใหม่

โดยกลุ่มเป้าหมายสำคัญ คือ ผู้ประกอบการร้านอาหารหรือเครื่องดื่มที่เป็นร้านจำหน่ายแบบถาวร เช่น ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารที่เปิดในห้องแถวหรืออาคารพาณิชย์ ภัตตาคาร ร้านที่มีลักษณะเป็นบูธ เป็นต้น ซึ่งไม่ใช่เป็นร้านแบบเคลื่อนที่ได้ เช่น หาบเร่ แผงลอย รถเข็น เป็นต้น
ที่มีรายได้ลดลง ให้มีสภาพคล่องเพียงพอ ลดการพึ่งพาสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงหรือสินเชื่อนอกระบบ

หลักเกณฑ์โครงการ ฯ คือ ธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 2,000 ล้านบาท วงเงินสินเชื่อต่อรายสูงสุด 100,000 บาท โดยไม่ต้องมีหลักประกัน (Clean Loan) คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.99 ต่อปี ระยะเวลากู้ ไม่เกิน 5 ปี ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 งวดแรก และขยายระยะเวลาปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสม แต่ต้องไม่เกิน 5 ปี ทั้งนี้ รัฐบาลชดเชยความเสียหายที่เกิดจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ NPLs ที่ไม่เกินร้อยละ 50 ของสินเชื่อที่อนุมัติทั้งหมด 2,000 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ซึ่งธนาคารออมสินจะเริ่มดำเนินการให้บริการสินเชื่อตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ดำเนินโครงการจนถึงอนุมัติเต็มวงเงินสินเชื่อหรือถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดระยะเวลาโครงการ ฯ

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังคาดว่า มาตรการสินเชื่ออิ่มใจจะช่วยเหลือผู้ประกอบร้านอาหาร/เครื่องดื่มได้ไม่น้อยกว่า 40,000 ราย เฉลี่ยรายละ 50,000 บาท ซึ่งช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการจากที่ผู้บริโภคมีการหลีกเลี่ยงใช้บริการภายในร้านหรือเปลี่ยนพฤติกรรมจากการนั่งรับประทานอาหารที่ร้านเป็นการซื้ออาหารกับ รวมทั้งที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมแบบบูรณาการเร่งด่วนที่กำหนดให้ร้านอาหารหรือเครื่องดื่ม เปิดดำเนินการเฉพาะนำกลับไปบริโภคที่อื่น ให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้และป้องกันความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นได้