'คุรุสภา' เร่งหาข้อสรุปปัญหา'สอบวิชาเอก' ขอ 'ตั๋วครู'

'คุรุสภา' เร่งหาข้อสรุปปัญหา'สอบวิชาเอก' ขอ 'ตั๋วครู'

'คุรุสภา'ตั้งคณะอนุกรรมการดำเนินการรวบรวมประเด็นปัญหา-ข้อคิดเห็นต่างๆ เกี่ยวกับ 'สอบวิชาเอก' เพื่อขอ 'ตั๋วครู' พร้อมเร่งทำคลังข้อสอบ

ดร.ดิศกุล เกษมสวัสดิ์ เลขาธิการคุรุสภา เปิดเผยว่า จากที่สำนักงานเลขาธิการคุรุสภาได้จัดให้มีการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู ด้านความรู้ และประสบการณ์วิชาชีพ ตาม 'มาตรฐานวิชาชีพครู' ครั้งที่ 1 ไปเมื่อวันที่ 20-21 ก.พ. 2564 และประกาศผลสอบวันที่ 29 มี.ค.ผ่านมา

แต่มีประเด็นในแวดวงวิชาการและการฟ้องร้องที่ศาลปกครองเรื่องข้อสอบ ซึ่งมีการสอบวิชาการใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร การใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา 'วิชาชีพครู' และ 'วิชาเอก' จำนวน 30 วิชา ว่าข้อสอบมีมาตรฐานที่เหมาะสมหรือไม่ โดยเฉพาะ'ข้อสอบวิชาเอก'ที่มี ข้อสงสัยว่าอาจจะออกไม่ตรงกับที่ผู้เข้าสอบได้เรียนมา มีข้อเรียกร้องว่าไม่จำเป็นที่จะต้อง 'สอบวิชาเอก'

ขณะที่มีนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิมีความเห็นแตกต่างเรื่องการ'สอบวิชาเอก' โดยฝ่ายหนึ่งเห็นว่าต้องมีการ'สอบวิชาเอก' ส่วนอีกฝ่ายไม่เห็นด้วยกับการ'สอบวิชาเอก' ซึ่งเรื่องนี้ 'คุรุสภา' เป็นตัวกลางที่รับข้อมูลทุกด้านจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและผู้ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อจะนำข้อมูลต่างๆ มาทบทวน และหาข้อยุติให้ได้โดยเร็ว

  • 'คุรุสภา'ตั้งคกก.แก้ปัญหา 'สอบวิชาเอก' เพื่อขอ'ตั๋วครู'

“จากปัญหาที่เกิดขึ้นทางคุรุสภาจึงได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อมารวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง รวมถึงข้อคิดเห็นต่างๆ อย่างรอบด้าน แนวทางการดำเนินการที่จะให้การจัดสอบราบรื่น และให้ได้ข้อสรุปก่อนเสนอให้ทางคณะกรรมการคุรุสภาพิจารณาต่อไป ส่วนมติคณะกรรมการคุรุสภาจะออกมาอย่างไร สำนักงานเลขาธิการคุรุสภาก็พร้อมดำเนินการทุกอย่าง โดยตั้งเป้าเดือนตุลาคมนี้ทุกอย่างน่าจะเรียบร้อย“ดร.ดิศกุล กล่าว

นอกจากนี้ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภายังได้วางแผนระยาวที่จะจัดทำ 'คลังข้อสอบ'หรือ Item Bank ซึ่งได้เตรียมการวางระบบเทคโนโลยีแล้ว ส่วนข้อสอบ คงต้องให้สภาคณาจารย์ และ ที่ประชุมคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ทปคศ. )มาช่วยด้วย  นอกจากนี้ยังมีแผนการจัดทำการทดสอบจาก Paper Test เป็น E Testing ด้วย ซึ่งจะทำให้ การทดสอบสะดวกขึ้น ใครพร้อมเมื่อไหร่ก็มาสอบได้เลย 

ในอนาคต 'คุรุสภา'จะจัด 'สอบวิชาเอก'หรือไม่จัด 'สอบวิชาเอก' หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (สำนักงาน ก.ค.ศ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) น่าจะต้องมาช่วยกันดูว่าจะทำอย่างไรในการนำผลการทดสอบ การประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน

โดยอาจจะให้มีหน่วยงานหลักมาดูแลการจัด'สอบวิชาเอก' จากนั้นหน่วยงานร่วมก็สามารถดึงวิชาเอกไปใช้ได้เลย ซึ่งจะทำให้การทำงานคล่องตัว ลดความซ้ำซ้อนในการสอบ และเกิดประโยชน์การใช้เงินงบประมาณของประเทศชาติอย่างคุ้มค่าด้วย

  • แนะทบทวนการ 'สอบวิชาเอก' ระบุข้อสอบไม่ตรงกับสิ่งที่เรียน

ด้าน ผศ.ดร.รัฐกรณ์ คิดการ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ การวิจัยและนวัตกรรม และรักษาการคณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) นครราชสีมา กล่าวว่า เห็นด้วยที่จะต้องมีการสอบเพื่อขอ 'ตั๋วครู'  เนื่องจากต้องการให้มีมาตรฐานวิชาชีพครูเหมือนการสอบแพทย์ และพยาบาล

ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งเพราะมีสถาบันฝ่ายผลิตครูที่หลากหลาย บางสถาบันไม่มีหน้าที่ผลิตครูก็มาผลิต และยังมีการปล่อยเกรด ขณะที่จำนวนนิสิตนักศึกษาลดลง แต่ค่านิยมเรียนสายครูยังคงสูงเหมือนเดิมจึงต้องมีการวางระบบการดูแลมาตรฐานและคุณภาพ

ทั้งนี้ เท่าที่ดูการ 'สอบวิชาเอก' ที่ผ่านมามีปัญหามาก เนื่องจากในกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา (มคอ.1 ) หลักสูตรครู 4 ปี ไม่ได้กำหนดรายวิชาเอกที่ชัดเจนจึงทำให้สถาบันฝ่ายผลิตครูต่างๆ ไปกำหนดรายวิชาที่เรียนแตกต่างกันไป เมื่อไป'สอบวิชาเอก'ขอ 'ตั๋วครู' จึงทำให้เกิดปัญหาที่ว่า'ข้อสอบวิชาเอก'ที่สอบไม่ตรงกับสิ่งที่เรียนมา

อย่างไรก็ตาม อยากให้มีการทบทวนการ 'สอบวิชาเอก' ส่วนการสอบวิชาอื่น ยังจำเป็นต้องสอบและถือว่าเพียงพอกับการวัดและประเมินวิชาชีพครูอยู่แล้ว ที่สำคัญอยากให้ 'คุรุสภา' สถาบันฝ่ายผลิต และผู้ใช้บัณฑิตมาร่วมกันคิดและวางแนวทางในการคัดเลือกและใช้ผลการสอบต่างๆ ร่วมกัน เพื่อลดการสอบที่ซ้ำซ้อนและประหยัดงบประมาณด้วย