หนังเล่าโลก: เทศกาลภาพยนตร์ผู้ลี้ภัย

หนังเล่าโลก: เทศกาลภาพยนตร์ผู้ลี้ภัย

ร่วมเทศกาลภาพยนตร์ผู้ลี้ภัยกับ UNHCR และพันธมิตร ที่จัดขึ้นภายใต้บรรยากาศริมน้ำเจ้าพระยา

เผลอแป๊บเดียววันผู้ลี้ภัยโลก 20 มิ.ย.  ก็วนกลับมาอีกครั้ง ปีนี้เป็นปีที่สองแล้วที่โลกต้องเผชิญการแพร่ระบาดของโควิด-19 สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) จึงต้องปรับกลยุทธ์ในการจัดงานรำลึกและเทศกาลภาพยนตร์ผู้ลี้ภัย ครั้งที่ 10 ที่ปีนี้จัดฉายภาพยนตร์ในบรรยากาศริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นครั้งแรก

วันผู้ลี้ภัยโลกปี 2564 ยูเอ็นเอชซีอาร์ มุ่งเน้นความสำคัญของการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (Power of inclusion) ด้วยเชื่อว่า “ร่วมแรงร่วมใจ ทำอะไรก็สำเร็จ” ผลพวงจากการที่โลกต้องเผชิญโควิด-19 ร่วมกัน ภาพยนตร์ที่นำมาฉายปีนี้จึงเลือกนำเสนอเรื่องราวความเข้มแข็งและความสามารถของผู้ลี้ภัยในด้านต่างๆ เริ่มต้นจากภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Runner ผลงานการกำกับของบิล แกลลาเกอร์ บอกเล่าเรื่องราวของ กูออร์ เมดดิ้ง เมคเคอร์ นักวิ่งมาราธอนชาวซูดานใต้ ที่ต้องหนีจากการตกเป็นเชลยในซูดาน  พี่น้อง 8 คนจากทั้งหมด 9 คนเสียชีวิตในสงครามกลางเมือง เมคเคอร์รอดชีวิตมาได้เพียงคนเดียวซึ่งต่อมาได้ย้ายถิ่นฐานไปอยู่สหรัฐ ที่เขาเริ่มวิ่งในทีมโรงเรียน  ขยับไปร่วมทีมมหาวิทยาลัย และได้ร่วมโอลิมปิกในปี 2555 ซึ่งทุกขั้นตอนล้วนเต็มไปด้วยความท้าทาย 

ไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทยกล่าวถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า สะท้อนให้เห็นนโยบายการเปิดรับผู้ลี้ภัยของสหรัฐ ไม่กี่เดือนก่อนประธานาธิบดีโจ ไบเดน ให้คำมั่นว่า สหรัฐจะรับผู้ลี้ภัยมากขึ้น

อีกเรื่องคือ The Boy Who Harnessed the Wind ภาพยนตร์ปี 2562 จากประเทศอังกฤษที่สร้างจากหนังสือชื่อดังระดับโลก บอกเล่าเรื่องจริงของเด็กชายนักประดิษฐ์ วัย 13 ปี ที่ไม่ย่อท้อต่อความทุกข์ยาก คิดค้นหาวิธีช่วยหมู่บ้านของเขาในมาลาวีให้รอดพ้นจากความอดอยากและมีชีวิตที่ดีขึ้น เขียนบทและนำแสดงโดยนักแสดงชาวอังกฤษชื่อดัง ชีวิเทล อีจีโอฟอร์ และเป็นการเปิดตัวภาพยนตร์สารคดีเรื่องแรกของพระเอกรายนี้ด้วย

แน่นอนว่า ภาพยนตร์จากอังกฤษก็สะท้อนความเป็นอังกฤษที่ให้ความสำคัญกับการศึกษา อย่างที่อเล็กซานดรา แมคเคนซี อัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยกล่าวไว้

“วันผู้ลี้ภัยโลกในปีนี้ เป็นโอกาสให้เราหันกลับมามองว่า ยังมีกลุ่มคนอีกหนึ่งกลุ่มที่ต้องได้รับการปกป้องและเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเพื่อให้พวกเขาได้รับความรู้และการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ดิฉันหวังว่าภาพยนตร์เรื่อง The Boy Who Harnessed the Wind จะเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเรามุ่งหน้าสู่การพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

นอกจากภาพยนตร์แล้วปีนี้ยังมีความพิเศษจากบริษัทเรือด่วนเจ้าพระยาจัดเรือธีมผู้ลี้ภัยให้บริการในแม่น้ำเจ้าพระยาถึงเดือน ก.ย. เพื่อสร้างการรับรู้และจุดประกายเรื่องผู้ลี้ภัยให้กับคนไทย เพราะการเดินทางทางเรือสะท้อนถึงความหวังและหนทางเอาชีวิตรอดของผู้ลี้ภัย อย่างที่เห็นเป็นข่าวบ่อยครั้งเรื่องผู้ลี้ภัยจากแอฟริกาหรือตะวันออกกลางล่องเรือข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมาแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าในยุโรป และถ้ายกตัวอย่างแบบนี้ดูจะไกลตัวเกินไปสำหรับคนไทย จูเซ็ปเป้ เด วินเซ็นทีส ผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย​กล่าวว่าลองนึกถึงภาพใกล้ตัวที่ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาต้องล่องเรือออกไปหาชีวิตใหม่เช่นกัน 

 และในจังหวะที่โควิดเล่นงานโลกนี้เป็นปีที่ 2 ดูเหมือนว่าผู้ลี้ภัยที่เปราะบางอยู่แล้วยิ่งเปราะบางมากขึ้นไปอีก แต่ใช่ว่าพวกเขาจะตกเป็นฝ่ายผู้รับเสมอไป 

“ผู้ลี้ภัยในสายอาชีพแพทย์ พยาบาล ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ และอาสาสมัครทั่วโลก ได้ร่วมต่อสู้กับการแพร่ระบาดในครั้งนี้ และหากพวกเขาได้รับโอกาส แน่นอนว่าผู้ลี้ภัยจะช่วยส่งเสริมให้โลกใบนี้แข็งแกร่ง ปลอดภัย และสดใสขึ้นได้” ผู้แทนข้าหลวงใหญ่ยูเอ็นเอชซีอาร์กล่าวทิ้งท้าย