เสียงดังสนั่นท้องฟ้าเชียงใหม่ NARIT ยัน 'ดาวตกระเบิด' ไม่อันตรายต่อโลก

เสียงดังสนั่นท้องฟ้าเชียงใหม่ NARIT ยัน 'ดาวตกระเบิด' ไม่อันตรายต่อโลก

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ NARIT เผยเหตุการณ์เสียงดังสนั่นท้องฟ้าเชียงใหม่ “ดาวตกชนิดระเบิด” เป็นปรากฏการณ์ที่พบเห็นได้ทั่วไป ชี้ไม่เป็นอันตรายต่อโลก เหตุวัตถุที่เกิดระเบิดมีขนาดเล็ก ไม่สามารถตรวจจับ หรือคาดการณ์ได้

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้า กรณีที่ในช่วงเย็นของเมื่อวันที่23 มิ.ย. 64 มีประชาชน​ในหลาย​พื้นที่​ของจังห​วัดเชียงใหม่​และลำพูนได้ยินเสียงดัง​คล้ายระเบิด เสียงดังสนั่นท้องฟ้าเชียงใหม่ รวมถึงมีประชาชน​เห็นแสงวูบวาบบนท้องฟ้า​ก่อนเกิดเสียง​ระเบิด​ และทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. สังกัด กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้มีการชี้แจงว่า อาจเป็นเหตุการณ์ที่เกิดจาก “ดาวตกชนิดระเบิด” และเสียงที่ได้ยินรวมถึงการสั่นสะเทือนเกิดจากดาวตกอาจจะแผ่คลื่นเสียงกระแทก หรือ sonic boom

ล่าสุด ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) ได้มีการแถลงข่าวกับสื่อมวลชน เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิด โดยกล่าวว่า คาดว่าเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นในเบื้องต้นคือดาวตกชนิดระเบิด โดยเป็นการรวบรวมข้อมูลในคลิปที่มีประชาชนส่งเข้ามา คลิปวิดิโอที่คาดได้ว่าเป็นคลิปวิดิโอที่เป็นเหตุการณ์จริงและชัดเจนที่สุดคือคลิปวิดิโอที่ถ่ายได้ในพื้นที่ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ เพราะเมื่อเทียบเวลาในภาพกับเวลาที่เกิดมีความใกล้เคียงกัน

เนื่องจากว่าช่วงเวลาที่เกิดเสียงและแสง ฟ้ายังไม่มืด ขณะที่ภาพที่มีการแชร์กันก่อนหน้านี้เป็นภาพเก่าที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อหลายปีมาแล้ว จากการตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับทำให้คาดการณ์ได้ว่าเป็นดาวตกชนิดระเบิด ส่วนเสียงและแรงสั่นสะเทือนอาจเกิดจากการที่ดาวตกเกิดระเบิดรุนแรงในชั้นบรรยากาศจนทำให้เกิด sonic boom

ขอยืนยันว่าเหตุการณ์นี้ไม่เป็นอันตราย และเป็นเหตุการณ์ที่สามารถพบเห็นได้ตามปกติ ถ้าถามว่าทำไมเรดาห์หรือเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ไม่สามารถตรวจจับได้ ต้องชี้แจงว่าวัตถุเหล่านี้มีขนาดเล็กไม่ได้ใหญ่มาก ทำให้ดาวเทียมหรือเรดาห์ไม่สามารถตรวจจับได้ วัตถุเหล่านี้ล่องลอยเคลื่อนที่ในอวกาศอยู่แล้ว และไม่สามารถคาดการณ์การวงโคจรได้ พอลอยเข้ามาในชั้นบรรยากาศโลก จึงถูกแรงโน้มถ่วงของโลกดูดลงมา เข้าสู่ชั้นบรรยากาศและถูกเผาไหม้ ในแต่ละวันนักดาราศาสตร์ระบุว่ามีเหตุการณ์แบบนี้เกิดจำนวนมากทั่วโลก แต่ส่วนใหญ่จะเกิดในพื้นที่ห่างไกลหรือกลางทะเล นอกจากนี้อาจเกิดในวันที่ฟ้าปิดมีเมฆฝน ทำให้คนคิดว่าเป็นเสียงการจุดพลุ