WHAUP ลุยลงทุน 'โรงไฟฟ้า-น้ำ' ทั้งในและต่างประเทศ

WHAUP ลุยลงทุน 'โรงไฟฟ้า-น้ำ' ทั้งในและต่างประเทศ

'ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์' เปิดแผนธุรกิจ 5 ปีข้างหน้า เล็งปิดดีล 'โรงไฟฟ้า-น้ำ' ประเทศเวียดนาม ปีนี้คาดใช้เงิน 7-8 พันล้านบาท หนุนการเติบโต เผยปีนี้คาดรายได้เพิ่มขึ้น 25% จากปีก่อน

ความโดดเด่นของ 'ธุรกิจสาธารณูปโภคขนาดใหญ่' คือ สามารถทนทานต่อภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ มีรายได้เติบโตและมีความมั่นคงมั่งคั่งระดับสูง และหนึ่งในผู้ประกอบการที่พอร์ตธุรกิจทั้ง 'ไฟฟ้าและน้ำ' คงต้องยกให้ บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP บริษัทในเครือของ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น หรือ WHA ที่ถือหุ้นใหญ่ WHAUP จำนวน 70.45% ผ่านบริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ 

'นิพนธ์ บุญเดชานันทน์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP ให้สัมภาษณ์พิเศษ 'หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ' ว่า ในแผนธุรกิจ 5 ปี (2564-2568) ในการเติบโตธุรกิจไฟฟ้าและน้ำบริษัทขออนุมัติงบลงทุนไว้ 12,000 ล้านบาท โดยไม่รวม 'การควบรวมและซื้อกิจการ' (M&A) เนื่องจากการ M&A ขึ้นอยู่กับโอกาสและการเจรจาแต่บริษัทมีเงินรองรับการเติบโตทางอ้อมไว้อยู่แล้ว 

สอดรับกลยุทธ์การลงทุนของบริษัทเริ่มมองการเติบโตออกเป็น 2 ทางคือ โตในบ้าน และ โตนอกบ้าน โดยในส่วนของการออกไปทำงานในต่างประเทศ คงไม่ออกไปลงทุนเพียงคนเดียว เพราะการลงทุนต่างประเทศมีความเสี่ยงสูง ฉะนั้นต้องไปกับผู้ถือหุ้นใหญ่ (WHA) 

สะท้อนผ่านการลงทุนนิคมอุตสาหกรรม WHA เฟส 1 ของบริษัทแม่ ในประเทศเวียดนาม ที่ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงหลังปี 2563 ขายที่ดินในนิคมฯ ไปแล้วเกิน 50% ส่งผลให้ WHA กำลังทยอยเปิดอีก 3 นิคมฯ ในเวียดนาม ซึ่งบริษัทมีการลงทุนสาธารณูปโภคน้ำประปาเสิร์ฟลูกค้าในนิคมฯ ไปแล้ว รวมทั้งต้องขออนุมัติงบลงทุนเพิ่มในการวางท่อน้ำประปาให้บริการลูกค้ารายใหญ่ชื่อกอเท็ค ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้แอ๊ปเปิ้ลคาดจะเริ่มใช้น้ำต้นปี 2565 

นอกจากนี้ บริษัทศึกษา 'การควบรวมและซื้อกิจการ' (M&A) ใน 'ธุรกิจน้ำประปา' ประเทศเวียดนามจำนวน 2 แห่ง (ตอนกลาง-ใต้) ซึ่งความต้องการใช้น้ำ (ดีมานด์) อยู่ที่ 80,000 ลูกบากศ์เมตรต่อวัน และ 200,000 ลูกบากศ์เมตรต่อวัน คาดใช้เงินลงทุน 200-500 ล้านบาท โดยหากมีความต้องการใช้น้ำสูงขึ้น บริษัทสามารถขยายกำลังการผลิตเพิ่มจากภาครัฐได้อีก คาดว่าปลายปีนี้หรือต้นปีหน้าจะมีความชัดเจนในการลงทุน 

สำหรับ 'ธุรกิจไฟฟ้า' บริษัทกำลังซื้อกิจการพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) ประเทศเวียดนาม กำลังการผลิต 50-200 เมกะวัตต์ จำนวน  5 โครงการ โครงการละ 50 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโครงการที่ผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) ทั้งหมดแล้ว ปัจจุบันกำลังเจรจาอยู่ว่าเงื่อนไขจะขอแบ่งซื้อเป็นบางโครงการหรือซื้อทั้งหมด มูลค่าโครงการละ 1,500 ล้านบาท

หากบริษัทซื้อหมดทั้ง 5 โครงการ คาดใช้เงินลงทุน 7,000-8,000 ล้านบาท หรือเลือกซื้อในบางโครงการที่ให้ผลตอบแทนการลงทุน (รีเทิร์น) ดีที่สุด ซึ่งจากการศึกษามี 3 โครงการที่ผลตอบแทนระดับที่ดี แต่ตอนนี้เจ้าของโครงการอยากขายทั้งหมดฉะนั้นอยู่ระหว่างการเจรจา และราคาขาย 

สำหรับอัตราผลตอบแทนในการลงทุน (IRR) ไม่ต่ำกว่า 10% คาดว่าจะเจรจาเสร็จภายในไตรมาส 2 หรือ ไตรมาส 3 ปี 2564 เนื่องจากบริษัททำการศึกษามาร่วม 2 เดือนแล้ว ซึ่งเบื้องต้นแหล่งเงินลงทุนคาดว่าจะใช้เงินกู้สถาบันการเงิน เนื่องจากปัจจุบันบริษัทมีหนี้สินต่อทุน (D/E) 0.88 เท่า แต่อุตสาหกรรมตามข้อกำหนดของสถาบันการเงิน D/E อยู่ที่ 2.5 เท่า ดังนั้น บริษัทสามารถกู้เงินได้ถึง D/E 2 เท่า คิดเป็นวงเงินราว 1.2-1.3 หมื่นล้านบาท 

162282500297

เขา แจกแจงวิธีการเติบโตในประเทศ โดยที่ผ่านมาบริษัทได้สิทธิแต่เพียงเจ้าเดียวกับ WHA ตลอด 50 ปี แต่ที่กำลังสร้างความท้าทาย คือ การเติบโตจากภายนอก (Inorganic Growth) กลุ่ม WHA สะท้อนผ่านการไปพัฒนาลูกค้ากลุ่มนอกนิคมฯ ของ WHA ทั้งธุรกิจไฟฟ้าและน้ำ ซึ่งในปีที่แล้วได้สัญญาสัมปทาน 30 ปี กับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ที่ EECi เป็นระบบบำบัดน้ำเสียขนาดไม่ใหญ่มาก แต่เป็นก้าวแรกที่บริษัทออกไปดำเนินการนอกกลุ่ม WHA 

ขณะที่ธุรกิจไฟฟ้าจับมือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อพัฒนาโครงการ Peer-to-Peer Energy Trading ซึ่งเป็นโครงการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่โรงงานข้างเคียงผ่านสายส่งไฟฟ้าของ กฟภ. เบื้องต้นหากระยะทดลองสามารถผ่านไปได้ด้วยดี คาดสามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ในอีก 2-3 ไตรมาสข้างหน้า

ถัดมาคือ Smart Energy Platform ซึ่งเป็นความร่วมมือกับ ปตท. และบริษัท เซอร์ทิส จำกัด (Sertis) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการจำหน่ายไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีเอไอและบล็อกเชน คาดว่าจะสามารถยกระดับการพัฒนาให้ใช้ในระดับประเทศได้ต่อไป

'กลุ่มลูกค้านอกนิคมจะเน้นภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก รวมถึงนิคมข้างเคียง และยังมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่อยากให้ไปช่วยให้ประชาชนในชุมชนรอบนิคมให้มีน้ำสะอาดใช้ในราคาที่เหมาะสม'

สำหรับเป้าหมายผลประกอบการปี 2564 คาดรายได้เติบโต 25% จากปีก่อนที่มีรายได้รวม 1,777.92 ล้านบาท โดยเป็นการเติบโตจากยอดขายน้ำ 18% และยอดขายไฟฟ้า 34% ซึ่งแนวโน้มรายได้ไตรมาส 2 ปี 2564 จะเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาสแรก สะท้อนจากยอดขายน้ำและไฟฟ้าในเดือน เม.ย.-พ.ค. ที่ผ่านมา ที่ยังเติบโตระดับสูงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 

โดยธุรกิจไฟฟ้าในนิคมฯ WHA มีการเซ็นสัญญาเพื่อ COD กำลังผลิตไฟฟ้าใหม่เพิ่มอีก 61 เมกะวัตต์ และคาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะสามารถบรรลุเป้าหมายที่ 90 เมกะวัตต์ได้ไม่ยาก

ส่วนธุรกิจน้ำปัจจุบันได้ปัจจัยหนุนจากการทยอยรับรู้รายได้จากธุรกิจน้ำปราศจากแร่ธาตุ (Demineralized Water) ซึ่งเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ภายหลังบริษัทได้เปิด COD เพื่อจำหน่ายให้กับกลุ่ม บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ที่ 1.5 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ในเฟสแรก ล่าสุด ในไตรมาส 2 ปี 2564 เปิด COD เพิ่มในเฟส 2 อีก 1.6 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งทยอยรับรู้รายได้แล้ว เฟส 3 และ 4 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจาสัญญาเพิ่มเติม

ถัดมาได้ปัจจัยหนุนจากความต้องการใช้น้ำจากกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่ของบริษัทในกลุ่มปิโตรเคมีและกลุ่มโรงไฟฟ้า รวมถึงโอกาสการจำหน่ายน้ำในนิคมอุตสาหกรรมใหม่ของกลุ่ม WHA คือ นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 (WHA RY36) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 64 และจะเริ่มจำหน่ายน้ำอย่างเต็มรูปแบบในช่วงต้นปี 65

โดยเบื้องต้นคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำ 2.7 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และบริษัทยังมีโอกาสพัฒนาแหล่งน้ำดิบเพิ่มเติมอีก 6 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี โดยเป็นการขุดแหล่งน้ำในนิคมอุตสาหกรรม WHA RY39 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีกระแสน้ำไหลเข้า