มองโอกาส ‘ไทย’ ฟื้น ศก. เข้าร่วม CPTPP

มองโอกาส ‘ไทย’   ฟื้น ศก. เข้าร่วม CPTPP

นับถอยหลังการขยายเวลาศึกษาความพร้อมหรือไม่พร้อมของไทยเกี่ยวกับ การเข้าร่วมการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ออกไปอีก 50 วัน ตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ เดิมครบกำหนดเมื่อวันที่ 25 เม.ย. ไปเป็นวันที่ 24 มิ.ย. 2564

การดำเนินงานในโค้งสุดท้าย ต้องฟัง “ดอน ปรมัตถ์วินัยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ว่า นี่เป็นโอกาสได้เชิญภาคส่วนที่เห็นต่างมาร่วมพูดคุยและหาทางออกร่วมกันเพราะหลายเรื่องซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับหลายกลุ่ม รวมทั้งสาธารณชนยังมีความห่วงกังวลอยู่ เพื่อหารืออย่างรอบคอบครบถ้วนและสร้างการมีส่วนร่วมแท้จริง

ในระหว่างนี้ ได้พูดคุยกับประธานอนุกรรมการของ กนศ.ไปแล้ว 3 ชุดได้แก่ ด้านเกษตรและพันธุ์พืช ด้านการแพทย์และสาธารณสุข และด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งหารือภาคเอกชน ประกอบด้วยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) สภาผู้ส่งออกทางเรือ และ Young Smart Farmer นอกจากนี้มีกำหนดการจะพูดคุยผู้แทนภาคประชาสังคมและองค์กรพัฒนาเอกชน

**CPTPP เนื้อหอม**

ประธาน กนศ. กล่าวว่า  เมื่อมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดเหตุการณ์กระทบในหลายๆ มิติ หลายประเทศที่ไม่เคยพูดถึง CPTPP เริ่มหันมาสนใจ อย่างในเอเชีย มีฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ แม้แต่จีน ประเทศเศรษฐกิจใหญ่ หรือสหรัฐที่เคยออกจากสมาชิกแล้วก็สนใจกลับมา

ขณะที่ อังกฤษก็แสดงความสนใจที่จะเข้าเป็นภาคี ตั้งแต่ยังไม่ถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) สะท้อนให้เห็นว่า CPTPP เป็นเวทีระหว่างประเทศที่นานาประเทศทั่วโลกไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ เห็นสอดคล้องกันว่า เป็นประโยชน์ที่จะเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ และ “ประเทศไทยก็ไม่น่าจะเป็นข้อยกเว้น” 

162280461312

ขณะนี้ทุกประเทศต่างได้รับผลกระทบจากโควิด-19 การฟื้นกลับมายืนโดยลำพังไม่ง่าย และมีโอกาสจะล้มและยิ่งเจ็บ ดังนั้นเราต้องจับมือ ช่วยพยุง ช่วยเหลือเพื่อให้สามารถเดินไปข้างหน้าร่วมกันได้ และประคับประคองกันไปคือวิธีที่ดีที่สุด 

นี่เป็นเหตุผล ทำไมกรอบความร่วมมือแบบพหุภาคีหรือการทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ถึงได้เหมาะสมทุกประเทศ โดยเฉพาะในยามทุกประเทศถูกซ้ำเติมด้วยโรคร้าย และการเจรจาเอฟทีเอในเวทีอื่นๆ อาทิ เอฟทีเอไทย-อียู ก็ใช้หลักการเดียวกัน เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ 

“หากไทย ต้องการปรับตัวให้ทันกับพลวัตรของเศรษฐกิจโลก ต้องให้ความสำคัญกับการปรับตัวอย่างเหมาะสมและจำเป็น ขณะเดียวกัน ต้องมีการเยียวยาช่วยเหลือให้คนที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งมีแผนที่จะเสริมสร้างขีดความสามารถกับภาคส่วนต่างๆ ในระยะยาว” ดอนกล่าว

**เงื่อนปม และทางออก**

ดอน ชี้ว่า มีหลายประเทศที่เปิดเจรจา CPTPP อยู่ก็ใช้วิธีเดียวกัน ทุกประเทศมีวิธีที่จะผ่อนหนักเป็นเบา หลายประเด็นเขาก็มีข้อติดขัด แต่ใช้วิธีว่าเมื่อประชุมไปแล้วก็จะมีการส่งเอกสารไปยืนยันไว้ เพื่อให้รับรู้ว่าในบางประเด็นที่คุยกัน หากตกลงกันได้ก็ตกลงไป หากทำได้ก็กลับมาทำ อะไรทำไม่ได้ก็ตั้งข้อสงวนหรือมีเงื่อนไขเวลาไว้ เพื่อให้ไปพยายามดำเนินการในประเทศ หรือปรับปรุงกฎหมายต่างๆ ซึ่งจะใช้เวลากี่ปีก็ว่ามา บางประเทศก็ใช้วิธีปรับกฎหมายภายในให้สอดคล้อง ดังนั้นมีวิธีที่จะอะลุ่มอล่วยและหาทางออกร่วมกัน เพื่อให้จับมือเดินไปข้างหน้ากันได้

162280473581

**ข้อห่วงกังวลที่สุด CPTPP **

ดอน เปิดเผยประเด็นหลักๆ อยู่ในความห่วงกังวล ได้แก่ เรื่องเกษตรก็มีประเด็นเรื่อง UPOV 1991 ซึ่งเป็นอนุสัญญาระหว่างประเทศเกี่ยวกับการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ทางกระทรวงเกษตรฯ ก็จะไปดูให้เกิดความชัดเจน และพยายามเอาข้อมูลที่แท้จริงออกมาเดิมที่พบข้อมูลคลาดเคลื่อน

ส่วนเรื่องสาธารณสุข คนก็ยังฝังใจเรื่องสิทธิบัตรยา (ซีแอล) แต่ขณะนี้ความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ที่เกี่ยวข้องกับการค้า (TRIPS) ภายใต้องค์การการค้าโลกก็ระบุชัดเจนแล้วว่า ซีแอลได้รับการยกเว้นใน 3 ประเด็นคือ กรณีฉุกเฉินของชาติ กรณีที่เป็นเรื่องเร่งด่วน และเป็นเรื่องของประโยชน์สาธารณะที่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์ ประเทศต่างๆ สามารถดำเนินการได้เลย ต้องให้ประชาชนคนไทยรับรู้ว่าประเด็นเหล่านี้มันได้คลี่คลายไปแล้ว

**ท่าทีเอกชนต่อ CPTPP **

ภาคเอกชนเป็นฝ่ายที่เห็นชัดเจนที่สุด เพราะเดิมพันธุรกิจขึ้นอยู่กับต่างประเทศ ไม่ว่าการค้าขาย การขนส่งสินค้า และห่วงโซ่อุปทานโลก ภาคเอกชนรู้ว่าถ้าประเทศไทยไม่ขยับหรือขยับไม่ออก จะเสียประโยชน์ ถึงเวลาต้องออกไปสนามแข่งระดับเดียวกับคนอื่นๆ ต้องมีแต้มต่อเพื่อดึงดูดการค้าการลงทุนจากต่างชาติ ถ้าไม่มีเวทีร่วม ไม่มีตลาดใหญ่กว่าตลาดในประเทศ จะเจอข้อจำกัดของการเป็นประเทศที่มีตลาดเล็ก แล้วใครจะสนใจมาค้าขายมาลงทุน มันไม่มีทางที่เขาจะเห็นเป็นอื่นไปได้ว่า CPTPP จะเป็นหรือไม่เป็นประโยชน์สำหรับไทย

ดอน กล่าวในตอนท้ายว่า สิ่งที่ กนศ.จะเสนอให้ ครม.พิจารณาจะเป็นเพียงการตัดสินใจว่า ไทยควรจะไปขอเจรจาเข้าร่วม CPTPP หรือไม่ ซึ่งเป็นเพียงขั้นตอนแรก ยังมีขั้นตอนที่ต้องดำเนินการอีกมากมาย และเมื่อได้ผลการเจรจาจะต้องนำผลการเจรจาเสนอต่อรัฐสภา เพื่อขอรับความเห็นชอบก่อน กระบวนการทั้งหมดนี้ใช้เวลานับปี CPTPP จะไม่มีผลผูกพันไทยจนกว่ารัฐสภาจะให้ความเห็นชอบ และยื่นภาคยานุวัติสารเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลง