เร่งตรวจโควิดและเก็บอัตลักษณ์ 'แรงงานต่างด้าว'ภายใน 16 มิ.ย. 64

เร่งตรวจโควิดและเก็บอัตลักษณ์ 'แรงงานต่างด้าว'ภายใน 16 มิ.ย. 64

"กระทรวงแรงงาน" ประสานสธ. และสตม.ในพื้นที่ เร่งตรวจโควิดและเก็บอัตลักษณ์ "แรงงานต่างด้าว"ภายใน 16 มิ.ย. 64

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงาน บูรณาการการทำงานร่วมกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรมการปกครอง และสาธารณสุขบริหารจัดการการทำงานคนต่างด้าวอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ แรงงานต่างด้าวที่ได้รับการผ่อนผันตามมติครม. เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 63 ที่ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดทันเวลา จะสามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

“ผลการดำเนินงานตามมติครม.เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 63 พบว่ามีคนต่างด้าวลงทะเบียนทั้งสิ้น จำนวน 654,864 คน จัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (Biometrics) แล้ว 483,021 คน ผ่านการตรวจหาเชื้อโควิด-19 แล้ว 408,720 คน และได้รับอนุญาตทำงาน (อนุมัติ บต.48) แล้ว 201,107 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 20 พ.ค. 64) ซึ่งแรงงานต่างด้าวที่ได้รับการผ่อนผันกลุ่มนี้จะต้องดำเนินการตรวจหาเชื้อโควิด -19 จัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล พร้อมทั้งยื่นขอรับใบอนุญาตทำงานกับกรมการจัดหางานผ่านระบบออนไลน์ ให้แล้วเสร็จภายใน 16 มิ.ย. 64 จึงสามารถดำเนินการในขั้นตอนต่อไปได้ มิฉะนั้นจะส่งผลให้มีสถานะเป็นแรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งมีความผิดทั้งนายจ้าง และแรงงานต่างด้าวเอง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

  • ขอความร่วมมือผู้ประกอบการช่วย"แรงงานต่างด้าว"

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า เพื่อให้การดำเนินการของคนต่างด้าวแล้วเสร็จตามกำหนดเวลา กรมการจัดหางานได้มอบหมายให้จัดหางานจังหวัด เร่งประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อร่วมวางแผนและบูรณาการจัดการการตรวจหาเชื้อโควิด -19 และการจัดการเก็บอัตลักษณ์บุคคลทั้งในส่วนของแรงงานต่างด้าวที่มีนายจ้างยื่นบัญชีรายชื่อ (Name List ) และคนต่างด้าวแจ้งข้อมูลบุคคลด้วยตนเอง (กรณีไม่มีนายจ้าง)

โดยขอให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดประเมินสถานการณ์และแจ้งศักยภาพ ในการตรวจหาเชื้อโควิด -19 ของพื้นที่ในแต่ละวันให้ทางสำนักงานจัดหางานจังหวัดทราบ เพื่อติดตามเร่งรัดนายจ้างให้นำคนต่างด้าวมาดำเนินการตามกำหนดต่อไป

ทั้งนี้ขอให้นายจ้าง/สถานประกอบการหมั่นติดตามข่าวสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนให้ทันภายในเวลาที่กำหนด เพราะหากสิ้นสุดระยะเวลากรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน จะดำเนินการตรวจสอบ ปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีกับนายจ้าง/สถานประกอบการที่จ้างคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน และคนต่างด้าวที่ลักลอบทำงาน

  • มีข้อสงสัยสอบถามสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด

นายจ้างที่รับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวหนึ่งคน หากทำผิดซ้ำมีโทษถึงจำคุก และไม่ให้จ้างคนต่างด้าวทำงานอีก 3 ปี ส่วนคนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 - 50,000 บาท ถูกส่งตัวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และไม่สามารถขอรับใบอนุญาตทำงานได้จนกว่าจะพ้นโทษมาแล้วเป็นระยะเวลา 2 ปี และหากนายจ้าง/สถานประกอบการ และคนต่างด้าว

มีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือที่ไลน์ @Service_Workpermit หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694 ซึ่งมีการจัดล่ามในภาษากัมพูชา เมียนมา และอังกฤษ ให้บริการข้อมูลข่าวสาร และแนะนำวิธีการดำเนินการ