ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก 'หนามแน่ขาวอัมไพ' จากอุทยานแห่งชาติภูลังกา

ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก 'หนามแน่ขาวอัมไพ' จากอุทยานแห่งชาติภูลังกา

นักพฤกษศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก "หนามแน่ขาวอัมไพ" จากอุทยานแห่งชาติภูลังกา จังหวัดนครพนม

รศ.ดร.เฉลิมพล สุวรรณภักดี ผู้เชี่ยวชาญพืชสกุลหนามแน่ (Thunbergia) อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช, ดร.สมราน สุดดี นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, ดร.ขวัญใจ รอสูงเนิน นักวิชาการป่าไม้ปฏิบัติการ ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูลังกา และ Dr. David Middleton ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤกษศาสตร์แห่งสวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์ ร่วมกันตีพิมพ์พืชชนิดใหม่ของโลก “หนามแน่ขาวอัมไพ” ในวารสารนานาชาติ Thai Forest Bulletin (Botany) เล่มที่ 49(1) หน้าที่ 57-62 ปี พ.ศ. 2564

161977092750

รศ.ดร.เฉลิมพล สุวรรณภักดี เปิดเผยว่า “หนามแน่ขาวอัมไพ” พืชชนิดใหม่นี้ ค้นพบโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูลังกา จังหวัดนครพนม ซึ่งทำการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (smart patrol) ในพื้นที่อุทยานฯ ได้พบไม้พุ่มกึ่งเลื้อยดอกสวยงามไม่ทราบชนิดบริเวณป่าดิบแล้งริมลำธาร ความสูงจากระดับทะเลปานกลางประมาณ 200 เมตร และได้ประสานส่งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช ติดตามเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจสอบ เจ้าหน้าที่กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ โดยดร.สมราน สุดดี จึงได้ประสานมาที่ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจสอบ พบว่า ไม้พุ่มกึ่งเลื้อยดอกสวยงาม ดังกล่าว เป็นพืชชนิดใหม่ของโลก

“หนามแน่ขาวอัมไพ” เป็นพืชชนิดใหม่ของโลกในสกุลหนามแน่ (Thunbergia) วงศ์ต้อยติ่ง (Acanthaceae) มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า ThunbergiaamphaiiSuwanph., K. Khamm., D. J. Middleton & Suddee คำระบุชนิด “amphaii” ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่นายอัมไพ ผาสีดา เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูลังกา ผู้ค้นพบพืชชนิดนี้ระหว่างทำการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ โดยมีชื่อไทยว่า “หนามแน่ขาวอัมไพ” ตามลักษณะสีดอกที่ออกขาวและตามชื่อผู้ค้นพบ ทั้งนี้ ตัวอย่างต้นแบบเก็บรักษาไว้ที่หอพรรณไม้

161977094298

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ของ “หนามแน่ขาวอัมไพ” เป็นไม้พุ่มกึ่งเลื้อย ลำต้นมีขนตามข้อ มีร่องตามยาว 2 ร่อง ใบเรียงตรงข้าม รูปรี รูปขอบขนานแกมรูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน กว้าง 3.5-5 ซม. ยาว 12-14 ซม. ปลายแหลม เรียวแหลม หรือยาวคล้ายหาง โคนรูปลิ่มหรือสอบเรียว ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย เกลี้ยงทั้ง 2 ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ 8-10 เส้น ปลายเชื่อมติดกันก่อนถึงขอบใบ ก้านใบแบนทางด้านบน มีขนสาก ช่อดอกคล้ายช่อซี่ร่ม ออกที่ปลายยอด ช่อละ 3-8 ดอก ใบประดับ 2 ใบ รูปใบหอกแกมรูปแถบ ยาวประมาณ 2 มม. ใบประดับย่อย 2 ใบ สีขาวถึงขาวครีม รูปไข่แกมรูปรีถึงรูปไข่ กว้างประมาณ 1 ซม. ยาวประมาณ 1.5 ซม.

โคนเชื่อมติดกันมากกว่าครึ่งของความยาว ปลายแยก มี เส้นตามยาว 7 เส้น กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นแฉกขนาดเกือบเท่ากัน 5 แฉก กลีบดอกสมมาตรด้านข้าง โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด สีขาวถึงขาวครีม ด้านในบริเวณปากหลอดมีแต้มสีเหลืองหรือน้ำตาล ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก แยกเป็นกลีบบน 2 แฉก กลีบล่าง 3 แฉก เกสรเพศผู้ 4 เกสร แยกเป็น 2 คู่ยาวไม่เท่ากัน ก้านชูอับเรณูมีขนต่อมหนาแน่น อับเรณูโคนมีขน ผลแบบผลแห้งแตก โคนป่อง ปลายแหลม มีขนสั้น