หนังเล่าโลก: Minari เกาหลีสู้ๆ

หนังเล่าโลก:  Minari เกาหลีสู้ๆ

Minari เรื่องราวผู้อพยพชาวเกาหลีในทศวรรษ 80 ที่อาจจะแตกต่างจากแนวโน้มการย้ายถิ่นในปัจจุบัน

สหรัฐได้ชื่อว่าเป็นประเทศแห่งผู้อพยพ ถ้าพูดถึงผู้อพยพจากเอเชียส่วนใหญ่มักคิดถึงคนจีนที่โยกย้ายถิ่นไปทั่วโลก แต่คนเกาหลีเข้าไปตั้งรกรากในสหรัฐและผ่านประสบการณ์ชีวิตที่น่าสนใจเช่นเดียวกัน อย่างในภาพยนตร์เรื่อง Minari 

Minari ผลงานการกำกับและเขียนบทโดยลี ไอแซค จอง สะท้อนภาพชีวิตของเขาที่เติบโตมาในสหรัฐยุค 80 ภาพยนตร์บอกเล่าเรื่องราวของ “ครอบครัวอี” เจค็อบและมอนิกา หนุ่มสาวชาวเกาหลีใต้ที่หนีความยากลำบากในบ้านเกิดมาตั้งต้นชีวิตใหม่ในสหรัฐ โดยทำงานคัดแยกเพศลูกไก่ในแคลิฟอร์เนีย แต่เจค็อบฝันไกลกว่าการเป็นลูกจ้าง จึงพาครอบครัวย้ายมาที่รัฐชนบทอย่างอาร์คันซอ เพื่อเขาจะทำการเกษตรปลูกพืชท้องถิ่นเกาหลีป้อนตลาดคนเกาหลีอพยพที่กำลังเติบโตขึ้นทุกขณะ เพราะแต่ละปีชาวเกาหลีอพยพมาอยู่สหรัฐราว 30,000 คน 

การเริ่มต้นชีวิตในถิ่นทุรกันดารไม่ใช่เรื่องง่าย เจค็อบจึงเรียกแม่ยายจากเกาหลีใต้มาอยู่เป็นเพื่อนมอนิกาและช่วยดูแลหลานๆ ภาพความต่างทางวัฒนธรรมจึงเกิดขึ้นตั้งแต่ในครอบครัวระหว่างคน 3 เจนเนอเรชัน ตั้งแต่คุณยายที่บินตรงมาจากเกาหลีใต้ มีความเป็นเกาหลีขนานแท้ ลูกสาวลูกเขยผู้อพยพสู้ชีวิต และแอน หลานสาวคนโต กับเดวิด หลานชายคนเล็ก ที่เป็นเด็กอเมริกันเต็มตัวแม้ว่าจะมีสายเลือดเกาหลี 100% ก็ตาม 

เดวิดหลานแสบออกจะงงๆ กับคุณยายที่ดูไม่เป็นคุณยายตามอเมริกันสแตนดาร์ด เขารู้สึก “เหม็นกลิ่นเกาหลี” จากยาย ก็แน่ล่ะในเมื่อคุณยายหอบสมุนไพรเกาหลีข้ามน้ำข้ามทะเลมาต้มให้หลานชายผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจได้ดื่มถึงสหรัฐ เท่านั้นยังไม่พอเธอยังนำดอกมีนารี หรือดอกบัตเตอร์คัพ ที่ขึ้นง่ายในทุกที่เหมือนวัชพืชและทนทาน นำไปปรุงอาหารตำรับเกาหลีได้หลายอย่าง มาปลูกริมลำธารใกล้ฟาร์มของครอบครัวอีด้วย ต้นมีนารีเติบโตงดงามและแข็งแกร่งเหมือนคนเกาหลี และเมื่อครอบครัวถึงจุดวิกฤติ ดอกมีนารีนี่เองที่เป็นทางออกสุดท้ายให้ครอบครัวอีได้เดินหน้าสู้ชีวิตต่อไป 

ภาพยนตร์เรื่องนี้ชวนให้คิดถึงโศกนาฏกรรมล่าสุดที่เกิดกับชุมชนชาวเกาหลีในสหรัฐ จากเหตุกราดยิงที่สปาเมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย เมื่อเดือนก่อน  มีผู้เสียชีวิต 8 คน ครึ่งหนึ่งเป็นผู้หญิงเชื้อสายเกาหลี 3 คนอยู่ในวัย 60-70 ปี เหมือนคุณยายในเรื่องไม่มีผิด 

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ในทศวรรษ 90 หลังเกาหลีใต้อนุญาตให้ประชาชนเดินทางและศึกษาในต่างประเทศได้ ชาวเกาหลีย้ายมาอยู่สหรัฐราว 350,000 คน ตัวเลขรายปีสูงสุดในปี 2529 ที่ 30,500 คน และชะลอลงเหลือ 8,000 คนในทศวรรษ 2000 และลดเหลือราว 4,000 คน เมื่อรัฐบาลวอชิงตันควบคุมการเข้าประเทศเข้มงวดขึ้นหลังเหตุโจมตีเมื่อวันที่ 11 ก.ย.2544

Minari ออกฉายในช่วงที่โควิด-19 ระบาด แต่เพราะได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์หลายตัว และยู ยุนจอง ผู้สวมบทคุณยายได้รางวัลสมทบหญิง เป็นนักแสดงเกาหลีใต้คนแรกที่ได้ออสการ์ หนังทำรายได้ดีมากรวมทั่วโลกได้ 11 ล้านดอลลาร์ เป็นรายได้จากเกาหลีใต้ 7 ล้านดอลลาร์ ขณะที่สหรัฐได้มาเพียง 2 ล้านดอลลาร์

จอง ครูวัย 35 ปีเผยกับรอยเตอร์ “เป็นความจริงที่ว่าคนไม่ค่อยสนใจ Minari เพราะเนื้อเรื่อง เดี๋ยวนี้มีแต่คนรวยที่อพยพมาอยู่อเมริกา”

ข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้ระบุว่า ชาวเกาหลีอพยพรุ่นใหม่ในสหรัฐส่วนใหญ่ไปเพราะงาน หรือไปลงทุนที่เงื่อนไขกำหนดไว้เกือบๆ 1 ล้านดอลลาร์ ไม่รวยจริงก็คงย้ายถิ่นมายาก ชาวเกาหลีในสหรัฐเล่าว่า ยิ่งเกิดความตึงเครียดด้านเชื้อชาติ คนเกาหลีถูกฆ่า แถมจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากโควิด-19 สูง ยิ่งทำให้คนเกาหลีหลายคนไม่อยากมาอยู่ที่นี่ 

แม้ว่าผู้มาใหม่จะลดจำนวนลง แต่คนที่ใช้ชีวิตอยู่ก่อนแล้วท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ที่คงไม่หมดไปง่ายๆ เชื่อว่าชาวเกาหลีและชาวเอเชียโพ้นทะเลจำนวนมากยังคงต้องเผชิญกับการดูถูกเหยียดหยามต่อไปอีก กระนั้นการที่ Minari เป็นภาพยนตร์เกี่ยวข้องกับชาวเกาหลีเรื่องที่ 2 ถัดจาก Parasite ที่มาประสบความสำเร็จในเวทีออสการ์ ย่อมถือเป็นกำลังใจเล็กๆ น้อยๆ ให้ชาวเกาหลีที่กำลังสู้ชีวิตอยู่ในต่างแดนได้ชื่นใจบ้าง