ส่องธุรกิจน่าจับตารับ 'สังคมสูงวัย'

ส่องธุรกิจน่าจับตารับ 'สังคมสูงวัย'

เมื่อสังคมสูงวัยก้าวเข้ามา ทัง้ภาครัฐและเอกชน ต้องเตรียมพร้อม ทั้งการยกระดับมาตรฐานศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่มีกว่า 4,000 แห่งทั่วประเทศ รวมถึง แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจเกี่ยวกับผู้สูงวัยที่น่าจับตา

เนื่องจากประเทศไทยจะก้าวสู่ "สังคมผู้สูงวัย" ระดับสุดยอดในปี 2575 ซึ่งมีสัดส่วนผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ทำให้กิจการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง เช่น เนอร์สซิ่งโฮม ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ หรือโรงพยาบาลผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ราว 4,000 แห่งทั่วประเทศต้องยกระดับให้ได้มาตรฐาน และกลายเป็นโอกาสของธุรกิจอื่นๆ ที่รองรับสังคมผู้สูงอายุอีกด้วย

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีเป้าหมายที่จะยกระดับให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และนวัตกรรมผู้สูงอายุของอาเซียน โดยไทยได้ริเริ่มผลักดันให้ประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมกันก่อตั้ง ASEAN Centre for Active Ageing and Innovation (ACAI) ขึ้น ซึ่งเป็นศูนย์กลางการพัฒนาองค์ความรู้ สนับสนุนงานวิจัย ส่งเสริมนวัตกรรม และสร้างฐานข้อมูลด้านการแพทย์ของอาเซียน ที่จะนำไปสู่การกำหนดนโยบาย และเป็นแนวทางที่จะพัฒนาร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก

นายแพทย์ฆนัท ครุธกูล นายกสมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุและกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม กล่าวว่า ตลาดกิจการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิงของไทยมีมูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาทต่อปี โดยมีอัตราการเติบโตของสถานประกอบการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นกว่า 150% จาก 3 -5 ปีก่อน ซึ่งปัจจุบันมีสถานบริการมากถึง 4,000 แห่งทั่วประเทศ

สถานประกอบการดูแลผู้สูงอายุจำเป็นต้องมีมาตรฐานและระบบการให้บริการที่เพียบพร้อมและเพียงพอต่อการดูแลผู้สูงอายุอย่างมืออาชีพมีมาตรฐานคุณภาพ ปัจจุบันมีรูปแบบการให้บริการหลากหลายรูปแบบ ทั้งการให้บริการส่งเจ้าหน้าที่มาดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน การให้บริการดูแลผู้สูงอายุแบบไป-กลับ และการดูแลผู้สูงอายุแบบระยะยาว Long Stay ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยประมาณเดือนละ 25,000 บาทต่อคนต่อเดิือน จึงจำเป็นต้องมีรูปแบบการบริหารจัดการให้ประชาชนส่วนใหญ่สามารถดูเข้าถึงการบริการได้อย่างเป็นธรรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : แนวโน้มธุรกิจตลาดผู้สูงอายุ

  • สธ. ยกระดับมาตรฐาน เนอร์สซิ่งโฮม

ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกกฎกระทรวงกิจการการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง ที่ออกตามพระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559 มาตรา 3(3) ผู้ประกอบกิจการรายใหม่ทุกราย ต้องขออนุญาตก่อนเปิดกิจการ ส่วนผู้ดำเนินการต้องผ่านการอบรม ผ่านการสอบ และมีใบอนุญาตจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ผู้ให้บริการหรือพนักงานทุกรายที่ทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุต้องผ่านการอบรม จบจากหลักสูตรที่กรม สบส. รับรอง และขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการก่อนที่จะปฏิบัติงาน ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 27 มกราคม 2564

“ดร.สาธิต ปิตุเตชะ” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า การกำหนดให้กิจการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง เป็นกิจการที่ต้องได้รับการดูแลมาตรฐานภายใต้ พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพฯ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีกฎหมายนี้เพราะจะส่งเสริมให้สถานประกอบการมีคุณภาพมาตรฐาน และสนับสนุนให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตได้อย่างมั่นคงและมีศักดิ์ศรี เป็นการขับเคลื่อนระบบการคุ้มครองผู้บริโภคของไทยให้เป็นที่ยอมรับ และมีศักยภาพ สามารถแข่งขันในระดับอาเซียนและระดับโลกได้

  • ศูนย์ดูแลผู้สูงวัย 12 แห่ง กระทรวง พม.

ขณะที่ ในหน่วยงานภาครัฐเอง ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ (ศพส.) โดย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ปัจจุบัน มีทั้งสิ้น 12 ศูนย์ ได้แก่ ศพส. ที่มีผู้ใช้บริการภายใน 11 ศูนย์ รวม 1,276 คน แบ่งเป็น ชาย 553 คน และ หญิง 723 คน ได้แก่ บ้านบางแค , บ้านบางละมุง บ้านธรรมปกรณ์ จ.เชียงใหม่ , บ้านทักษิณ จ.ยะลา , วาสนะเวศม์ , จ.ภูเก็ต , จ.บุรีรัมย์ , จ.นครพนม , จ.ลำปาง , จ.สงขลา และ จ.ปทุมธานี ในส่วนของ จ.ขอนแก่น ที่เป็นศูนย์เฉพาะกลางวัน มีผู้สูงอายุใช้บริการทั้งหมด 140 คน แบ่งเป็น ชาย 13 คน หญิง 127 คน (ข้อมูล ณ 28 กุมภาพันธ์ 2564)

“สุจิตรา พิทยานรเศรษฐ์” อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า ในปี 2564 ผส.มีแผนสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายที่ทำงานดูแลผู้สูงอายุในชุมชน โดยให้ความสำคัญการทำงานบูรณาการของ 3 กลไกเป็นลำดับแรก ได้แก่ “อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.)” ที่เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้สูงอายุแล้ว 4 หมื่นกว่าคนทั่วประเทศ ทำงานร่วมกับ “ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ (ศอพส.)”

ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ทุกตำบล มีหน้าที่เป็นศูนย์กลางดูแลผู้สูงอายุในชุมชนอยู่แล้ว ทำอย่างไรที่การทำงานจะตอบโจทย์ผู้สูงอายุในพื้นที่ โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมผู้สูงอายุ ในการเป็นผู้สูงอายุที่แข็งแรง เป็นพลังชุมชน ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ตลอดจนการเป็นศูนย์ข้อมูลสวัสดิการในชุมชน และ “ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ (ศพส.)” ที่มี 12 แห่งทั่วประเทศ ทำอย่างไรจะทำงานอย่างมีมาตรฐาน สื่อสารข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อผู้สูงอายุได้อย่างชัดเจนและถูกต้อง

ทั้งนี้ ไม่เพียงแค่การยกระดับและพัฒนาศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ให้ตอบรับกับสังคมสูงวัยที่กำลังมาถึงเพียงเท่านั้น แต่ยังมีธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับผู้สูงอายุโดยตรง หรือกลุ่มที่กำลังจะก้าวสู่การเป็นผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งมีความน่าสนใจไม่แพ้กัน

  • เทรนด์ธุรกิจ "สังคมสูงวัย" แนวโน้มเติบโต

“ศักดิ์ชัย ภัทรปรีชากุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด ผู้จัดงาน InterCare Asia 2020 ระบุว่า ที่ผ่านมามูลค่าตลาดในกลุ่มผู้สูงอายุมีมากถึง 107,000 ล้านบาทต่อปี เทรนด์ธุรกิจที่คาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มในการเติบโตสูงในตลาดผู้สูงอายุ คือ กลุ่ม Smart Life for Elderly People นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ อาทิ หุ่นยนต์ดูเเลผู้สูงอายุ อุปกรณ์ Smart Home เพื่อช่วยเพิ่มความสะดวกสบายภายในบ้าน

อุปกรณ์ช่วยเหลือผู้สูงอายุ อาทิ อุปกรณ์ฟื้นฟูสมอง เตียง เเละที่นอนอัจฉริยะสำหรับผู้สูงวัย เครื่องยกเคลื่อนย้ายผู้ป่วย อุปกรณ์ฝึกเดิน เครื่องออกกำลังกายเเละกายภาพบำบัด เฟอร์นิเจอร์ที่ตอบโจทย์ผู้สูงวัย คอนโดมิเนียมที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมกับการใช้ชีวิตในวัยเกษียณ ทั้งพื้นที่การใช้สอย ระบบความปลอดภัย และมีการนำเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่เข้ามาใช้อย่างเหมาะสม สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ

นอกจากนี้ยังมี กลุ่มอาหาร Care food ที่ผลิตเพื่อผู้สูงอายุให้ได้สารอาหารครบถ้วน ทั้งในรูปแบบของอาหารที่มีเนื้ออาหารที่นุ่ม และมีการขึ้นรูปให้ดูน่ารับประทาน อาหารชง เจลลี่ สามารถทานได้ง่ายและแก้ปัญหาด้านการเคี้ยวและการกลืน เป็นต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • 4 ธุรกิจน่าจับตารับ "สังคมสูงวัย"

“สุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์” ระบุผ่าน คอลัมน์ Smart SMEs ธนาคารกสิกรไทย ว่า ธุรกิจเพื่อผู้สูงอายุเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพ และมีโอกาสในการขยายตลาดเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุในอนาคตอันใกล้ โดยกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจเพื่อผู้สูงอายุสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มหลัก คือ

1) กลุ่มผู้สูงอายุที่มีเงินออมเพียงพอสำหรับการเกษียณ สามารถใช้ชีวิตหลังเกษียณได้อย่างน้อย 10 ปี

2) กลุ่ม young old (YOLD) ที่มีช่วงอายุ 55-59 ปี จำนวนประมาณ 5 ล้านคน และกลุ่มวัยทำงานที่เตรียมวางแผนเกษียณอายุไว้ล่วงหน้าในช่วงอายุ 45-59 ปี และ

3) กลุ่มผู้ดูแลผู้สูงอายุ เช่น บุตรหลานที่อาศัยอยู่ร่วมกับผู้สูงอายุ แต่อาจมีเวลาน้อยที่จะดูแลด้วยตนเอง

161833034856

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าเม็ดเงินในตลาดสินค้าและบริการของผู้สูงอายุ ครอบคลุมรายได้ของสินค้าและบริการทุกหมวด คาดว่าจะอยู่ที่ 9.2-9.3 แสนล้านบาทในปี 2575 ที่ไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด โดยมีธุรกิจที่น่าสนใจ ได้แก่

1) ธุรกิจที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุ โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มที่มีเงินออมเพียงพอแต่มีกำลังซื้อรองลงมา ที่ราคาซื้อสิทธิ์เพื่อเข้าอยู่เมื่ออายุถึงเกณฑ์ที่โครงการกำหนดไม่เกิน 2.5 ล้านบาทต่อหน่วย ซึ่งน่าจะเน้นไปที่กลุ่มผู้สูงอายุที่เน้นการเข้าพักอาศัยหลังเกษียณ พร้อมกับบริการทางการแพทย์และสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นแบบครบวงจร มากกว่าความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยโดยเงื่อนไขสำคัญในการเลือกซื้อขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย คือ การสร้างความเชื่อมั่นให้ว่าจะได้รับบริการต่อเนื่องตามความต้องการและเงื่อนไขสุขภาพที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงอายุ และการปรับกลยุทธ์การตลาดและจัดหาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่จะช่วยเพิ่มความสามารถในการซื้อให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงที่อยู่อาศัย

2) ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์และของใช้ในบ้าน การสร้างสภาพแวดล้อมภายในบ้านที่ปลอดภัยที่ช่วยให้ผู้สูงอายุดูแลตัวเองได้ ทั้งการออกแบบพื้นที่ในบ้าน ใช้ทางลาดแทนบันไดและไม่มีธรณีประตูคั่นระหว่างห้อง ควบคู่ไปกับการติดตั้งวัสดุอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น ราวจับช่วยพยุง วัสดุกันลื่น ไฟนำทางเดินตอนกลางคืน นอกจากนี้ ปัจจุบันยังมีเทคโนโลยีที่จะช่วยติดตามการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุได้แบบ real-time ผ่านการเชื่อมต่อระหว่าง wearable device ที่ผู้สูงอายุสวมและกล้องแสดงภาพ ให้ผู้ดูแลได้รับสัญญาณเตือนเมื่อเกิดเหตุผิดปกติ น่าจะเป็นจุดขายสำคัญของสินค้า

3) ธุรกิจอาหาร อาหารเสริม และของใช้ส่วนตัวสำหรับผู้สูงอายุ นอกจากจะต้องเป็นอาหารเพื่อสุขภาพและเป็นไปตามหลักโภชนาการแล้ว รูปแบบอาหารยังต้องมีความเฉพาะตัว เช่น ขนาดพอดีคำ มีสัมผัสอ่อนนุ่ม เคี้ยวง่ายเพื่อลดความเสี่ยงจากการสำลัก ในขณะเดียวกันกลุ่มผู้สูงอายุรุ่นใหม่หันมาเลือกซื้ออาหารเสริมและของใช้ส่วนตัวเพื่อเสริมสุขภาพ/ชะลอวัยมากขึ้น รวมถึงผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวันอย่างผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ผลิตภัณฑ์ติดและทำความสะอาดฟันปลอม ซึ่งการอำนวยความสะดวกในการซื้อสินค้าแบบ personalized ที่ยืดหยุ่นตามความต้องการเฉพาะบุคคล จะช่วยกระตุ้นการตัดสินใจซื้อได้มากขึ้น

4) ธุรกิจบริการและกิจกรรมสันทนาการสำหรับผู้สูงอายุ การจัดหาบริการแบบ home delivery จะได้รับความนิยมมากขึ้น รวมถึงกิจกรรมนอกสถานที่อย่างทัวร์ผู้สูงอายุที่เหมาะกับกลุ่ม YOLD ซึ่งมีกำลังซื้อค่อนข้างสูง โดยรูปแบบการท่องเที่ยวอาจเน้นไปที่ทัวร์แบบ wellness/medical tourism หรือทัวร์แบบวัฒนธรรม cultural tourism โดยปัจจัยสำคัญในการบริการจะอยู่ที่การดูแลความปลอดภัยในการเดินทางของผู้สูงอายุ ซึ่งจะต้องจัดให้มีทั้งผู้ดูแลทั่วไปอย่างทั่วถึง รวมทั้งมีประกันอุบัติเหตุและมีผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์เดินทางไปด้วย เพื่อสร้างความมั่นใจในการเดินทาง