‘สังคมสูงอายุ’ โอกาสหรือวิกฤติ สำหรับธุรกิจ?

‘สังคมสูงอายุ’ โอกาสหรือวิกฤติ สำหรับธุรกิจ?

ในขณะที่นักวิชาการคาดว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่ “สังคมสูงอายุ” อย่างเต็มรูปแบบในปีหน้า ฝั่งผู้ประกอบการหรือธุรกิจควรมองเรื่องนี้เป็น “วิกฤติ” หรือ “โอกาส” และควรปรับตัวหรือทำความเข้าใจกับความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร

NEO Academy โดย วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) จัด Virtual Forum ในหัวข้อ “โอกาสหรือวิกฤติ เมื่อชีวิตอายุยืน” และเปิดการศึกษารูปแบบใหม่ “หลักสูตรการสร้างโอกาสทางธุรกิจในสังคมอายุยืน” ชวนผู้ประกอบการต่อยอดธุรกิจเดิม ขยายฐานลูกค้าสูงวัยสู่ความยั่งยืน

ดร.กฤษกร สุขเวชชวรกิจ ประธานหลักสูตรการจัดการธุรกิจสุขภาพ CMMU เผยข้อเท็จจริงที่ว่า ในปีหน้าไม่ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะดีขึ้นหรือไม่ แต่ 1 ใน 5 ของคนไทยจะกลายเป็นผู้สูงอายุ ในปี 2564 ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ และภายใน 10 ปีจากนี้อายุเฉลี่ยของคนทั้งโลกจาก 75 ปีจะกลายเป็น 100 ปี

สาเหตุหลักคือ เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะนาโนเทคโนโลยีที่สามารถรักษาได้ตรงจุด เช่น การฆ่ามะเร็งเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ต้องฉายแสงทั่วบริเวณจนเซลล์ดีตายจำนวนมหาศาล แต่ยุคนี้สามารถรักษาเฉพาะจุดได้ หรือแม้แต่กระดูกหักก็ไม่ต้องเข้าเฝือกแต่เปลี่ยนกระดูกได้เลย

160155826098

“มียาพิษก็ยังมียาแก้ เช่น ฝุ่น PM2.5 ไม่เคยปรากฏมากขนาดนี้แต่ก็มีหน้ากาก N95 เครื่องกรองอากาศที่เคยซื้อเครื่องละ 80,000 บาทก็เหลือแค่ 8,000 บาท อีกทั้งยุคนี้มีการลดความเสี่ยงที่เคยเป็นปัจจัยเสี่ยงมาก่อน เช่น สาธารณูปโภค ระบบขนส่ง การศึกษา การป้องกันทางเพศสัมพันธ์ ล้วนทำให้ชีวิตเรามีความเสี่ยงน้อยลง คุณภาพชีวิตดีขึ้น อายุจึงยืนยาวมากขึ้น”

 

  • คนเยอะดีกว่าหญ้าเยอะ

รศ.ดร.ณัฐวุฒิ พิมพา ประธานหลักสูตรการจัดการอย่างยั่งยืน CMMU กล่าวในมุมเศรษฐศาสตร์ว่า การสร้างผลิตผลในระบบเศรษฐกิจ (Productivity) คนเยอะย่อมดีกว่าหญ้าเยอะ ความคิดแบบเดิมเชื่อว่าคนแก่ทำอะไรไม่ได้แล้ว แต่เมื่อใช้ศาสตร์การบริหารจัดการที่ดี ผู้สูงอายุที่มีจำนวนมากจะเป็นได้ทั้งตลาด ผู้ผลิต และโอกาสในการเสริมสร้างศักยภาพทางการแข่งขัน

ตัวอย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่นที่ปรับแนวคิดว่าผู้สูงอายุไม่ได้เป็นแค่ไม้ใกล้ฝั่ง จึงมีการสร้างสินค้าและบริการเพื่ออำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันให้คนเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น เมื่อมีความต้องการ (Demand) การผลิตภายในประเทศก็ตามมา

ขณะที่มุมมองด้านตลาดแรงงาน ดร.กฤษกรเสริมว่า ผู้สูงอายุสามารถอยู่ในระบบแรงงานได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้แรงงาน เพราะประสบการณ์สูงสามารถอยู่ในระดับบริหารหรือที่ปรึกษาได้ ส่วนการผลิตที่เป็น Labor-intensive ก็มีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแล้ว กดปุ่มเดียวขับเคลื่อนได้ทั้งโรงงาน ดังนั้น ความละเอียดและประสบการณ์ของผู้สูงวัยจะช่วยให้งานเหล่านี้ดีขึ้นได้

160155831250

 

  • สูงวัยแต่ความสุขไม่สูงตาม

ความกลัวของคนตอนนี้คือ เมื่อสูงอายุแล้วจะกลายเป็นสิ่งไร้ค่าในสังคม เราต้องหันกลับมามองว่าผู้สูงอายุเป็น “ทรัพยากร” ประเภทหนึ่งได้ด้วย ควรจะมีธุรกิจที่นำทรัพยากรเหล่านี้แปรสภาพจากความรู้สึกไร้ค่าให้เป็นมีค่า หัวใจสำคัญคือ ผู้สูงอายุต้องอย่าหยุดใช้ชีวิตอย่างมีความสุข สร้างสมรรถนะให้กับผู้สูงอายุ เปิดโอกาสให้เข้าถึงงาน สร้างการรับรู้ของสังคมว่าผู้สูงอายุมีตัวตนและมีความสามารถในการทำอะไรต่อมิอะไร

ประเทศสิงคโปร์ที่ประสบปัญหานี้เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว อดีตนายกรัฐมนตรีลี กวน ยู ได้แก้ไขด้วยวิธี 1.สร้างปัจจัยขั้นพื้นฐานให้กับผู้สูงอายุก่อน เมื่อความเป็นอยู่ดี มีความสุข ก็จะมีศักยภาพในการทำงานมากขึ้น 2. สร้างเน็ตเวิร์คให้กับผู้สูงอายุ มีพื้นที่ให้ทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น เต้นรำ วาดรูป จนกลายเป็นกลุ่มที่สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนได้

ส่วนประเทศไทยก็มีพื้นที่แบบนี้ เช่น OPPY Club ชมรมคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเพื่อผู้สูงวัย แหล่งรวมวัยกล้วยไม้มาเรียนรู้สิ่งใหม่ในยุคดิจิทัล เช่น คุณปู่วัย 92 ปีสามารถตัดต่อวิดีโอด้วย iMovieได้ ความท้าทายใหม่ๆ จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชีวิตกระชุ่มกระชวยขึ้น

160155833399

“เราต้องเชื่อก่อนว่า เราจะอายุยืนยาวอย่างมีความสุข แล้วเราจะอยากสร้างประโยชน์ให้กับโลกที่เราอยู่” รศ.ดร.ณัฐวุฒิกล่าว

 

  • ธุรกิจควร "ปรับความเข้าใจ" เป็นอันดับแรก

รศ.ดร.ณัฐวุฒิตั้งคำถามให้ชวนคิดว่า ในมุมของสังคมศาสตร์ เมื่อคนเรามีแนวโน้มอายุยาวขึ้นและไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป ต้องเข้าใจก่อนว่าผู้สูงอายุต้องการอะไรจริงๆ

“เขาต้องการชีวิตที่ง่ายขึ้น สบายขึ้น ปลอดภัยยิ่งขึ้น ไม่ใช่แค่ความปลอดภัยในบ้าน แต่รวมไปถึงความปลอดภัยด้านการเงิน หรือการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น จุดสูงสุดของคนทุกคนคือ Self Esteem มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เหมือนคนทั่วไป ให้มองว่าผู้สูงอายุก็เป็นลูกค้าคนหนึ่งที่อยากมีความสุข ไม่ใช้ความรู้สึกไปในทางเวทนาหรือสงสาร มิเช่นนั้นผู้สูงอายุจะมองว่าตนเองเป็นภาระ”

จะเห็นได้ว่าธุรกิจที่ไปได้ดีคือปฏิบัติต่อผู้สูงอายุให้เป็นเหมือนคนปกติ แต่อาจมีความพิเศษเสริมบ้าง เช่น ถามอย่างใส่ใจเพิ่มเติมในตอนท้ายว่า ต้องการอะไรเพิ่มเติมไหม มันไม่ใช่การออกแบบ แต่เป็นความเข้าใจและปฏิบัติต่อลูกค้าแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังนั้น ธุรกิจที่ตอบสนองความต้องการของปัจเจกบุคคลได้ตั้งแต่อาหาร ยารักษาโรค ไปจนถึงคุณค่าของชีวิต จะโตได้อีกไกล

ดร.กฤษกร ยกตัวอย่างถึง Nursing Home หรือบ้านพักคนชราที่ภาพลักษณ์ในอดีตมักเข้าใจว่าคือโรงพยาบาล เหมือนการส่งพ่อแม่ที่ป่วยไปรักษา แต่ในเมืองไทยปัจจุบันมีการสร้าง Nursing Home รูปแบบใหม่ทำให้เป็นชุมชน มีกิจกรรมทำร่วมกัน ทัศนคติของคนจะเริ่มเปลี่ยนไปว่าไม่ได้ส่งไปโรงพยาบาล แต่เหมือนส่งพ่อแม่ไปอยู่สปอร์ตคลับ และแบบไปเช้ากลับเย็นพร้อมรถรับส่งก็มีมากขึ้น เหมือนส่งลูกไปเรียนอนุบาล

ขณะที่กลุ่มคนโสดอายุยืนก็น่าจับตา คนกลุ่มนี้ไม่รู้สึกว่าโดนทอดทิ้งและมีความต้องการอย่างมากที่จะหาที่อยู่อาศัยและสังคมที่ดียามแก่ หรือแม้แต่ธุรกิจเรือสำราญทั่วโลกได้หันมาทำรูปแบบให้พักระยะยาวมากขึ้น ซึ่งค่าใช้จ่ายอยู่บนเรือ 365 วัน ถูกกว่าอยู่ Nursing Home และมีความบันเทิงครบถ้วนอีกด้วย

160155843974

 

  • โลกใหม่ โอกาสใหม่ การศึกษาใหม่

โครงการ NEO (New Education for Opportunity) โดย CMMU จึงถูกออกแบบมาเพื่อปรับรูปแบบการศึกษาให้ทันต่อเทรนด์ใหม่ทางธุรกิจเหล่านี้ เป็นที่มาของการเปิด “หลักสูตรการสร้างโอกาสทางธุรกิจในสังคมอายุยืน” เน้นการรวบรวมองค์ความรู้และงานวิจัยของมหิดลมานำเสนอให้ผู้ประกอบการได้เห็นโอกาสในด้านอาหารเครื่องดื่ม ที่อยู่อาศัย การแพทย์ และการท่องเที่ยว

มีการนำเสนอนวัตกรรมเฉพาะทางและทัศนศึกษาดูงาน Nursing Home ยุคใหม่ สำหรับผู้ประกอบการ นักธุรกิจ หรือบุคคลทั่วไป ที่สนใจสร้างธุรกิจสำหรับผู้สูงอายุ

NEO Academy เปิดรับสมัครรุ่น ที่ 2 เรียนทุกวันเสาร์ 6 สัปดาห์ เริ่มเรียนตั้งแต่วันที่ 3 ต.ค.- 14 พ.ย. 2563 เวลา 9:00-16:00 น. สามารถดูรายละเอียดหลักสูตรเพิ่มเติมได้ที่ https://www.neobycmmu.com/businessopportunity-longevity

160155821271