มั่นใจธุรกิจการบินฟื้นปี 67 'บางกอกแอร์เวย์ส' ลุยลงทุน‘อู่ตะเภา-อีอีซี’

มั่นใจธุรกิจการบินฟื้นปี 67  'บางกอกแอร์เวย์ส'  ลุยลงทุน‘อู่ตะเภา-อีอีซี’

มหันตภัยการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เล่นงานอุตสาหกรรมการบินอย่างหนักตลอดช่วงเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา  แต่ “กัปตันพุฒิพงศ์” แห่งสายการบินสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ไม่ยอมให้วิกฤตินี้เป็นอุปสรรค!

ยังคงเดินหน้าร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก เฟส 1 มูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท พร้อมแสดงความสนใจลงทุนศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน หรือ MRO ในพื้นที่อีอีซี คาดใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท รองรับธุรกิจการบินที่จะกลับมาฟื้นตัวเต็มร้อย! ใน ปี 2567 พร้อมๆ กับการเทิร์นอะราวด์กลับมามีกำไรครั้งแรกในรอบ 5 ปี ของบางกอกแอร์เวย์ส 

“พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ผู้ให้บริการสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส กล่าวว่า บางกอกแอร์เวย์สคาดการณ์ว่าจะกลับมีกำไรอีกครั้งในปี 2567 ซึ่งจะมีรายได้และจำนวนผู้โดยสารฟื้นตัวมาอยู่ในระดับปกติ 100% เท่ากับปี 2562 นับได้ว่าเป็นปีแรกในรอบ 5 ปีนับตั้งแต่เผชิญวิกฤติโควิด-19 ทีเดียว

สำหรับปี 2564 ยังเป็นปีที่ต้อง "ประคองตัว" ผ่านไปให้ได้! โดยประเมินรายได้ผู้โดยสารของบางกอกแอร์เวย์ส ไว้ที่ 3,392 ล้านบาท จากฐานผู้โดยสาร 1.61 ล้านคน คิดเป็นรายได้ “ติดลบ 40%” เมื่อเทียบปี 2563 ซึ่งมีรายได้ผู้โดยสารที่ 5,558 ล้านบาท จากฐานผู้โดยสาร 1.89 ล้านคน เหตุจากโควิด-19 ระลอกสองช่วงต้นปี ทั้งยังไม่แน่ใจว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยมากน้อยแค่ไหนในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวหรือไฮซีซั่นปลายปีนี้  หากเทียบรายได้ผู้โดยสารปี 2562  ปิดที่ 19,000 ล้านบาท จากฐานผู้โดยสาร 5.86 ล้านคน ยังคิดเป็นติดลบ 80%

ปี 2565 เชื่อว่ารายได้จากผู้โดยสารจะ “ฟื้นตัว 30-50%” และขยับเป็น 60-80% ในปี 2566 ก่อนจะฟื้นตัวเต็ม 100% ในปี 2567 สอดรับกับการประเมินของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ที่คาดว่าธุรกิจสายการบินทั่วโลกจะฟื้นตัวกลับไปเป็นเหมือนเดิมในปี 2567

ส่วนปีทองของบางกอกแอร์เวย์ส ต้องย้อนไปเมื่อปี 2559 ทำรายได้จากผู้โดยสารสูงสุดที่ 20,761 ล้านบาท จากฐานผู้โดยสาร 5.64 ล้านคน แม้จำนวนผู้โดยสารจะน้อยกว่าปี 2562 แต่รายได้แตะนิวไฮ! เพราะขายตั๋วบินได้ราคาดี สร้างอัตราผลตอบแทน (ยีลด์) ได้ดีมาก 

ต่างจากหลังวิกฤติโควิด-19 ที่ราคาตั๋วบินลดลงเฉลี่ย “ครึ่งหนึ่ง” จากเคยขายได้ราคาตั๋วเฉลี่ยสูงถึง 3,000 กว่าบาทต่อเที่ยวบิน ปัจจุบันลดลงเหลือไม่ถึง 2,000 บาทต่อเที่ยวบิน เพราะไม่มีดีมานด์จากตลาดต่างชาติ และเกิดการแข่งขันด้านราคาตั๋วเพื่อชิงลูกค้าในประเทศ 

“เส้นทางบินสู่สมุยสร้างยีลด์และจำนวนผู้โดยสารให้บางกอกแอร์เวย์สมากที่สุด ปัจจุบันก็ยังเป็นพระเอก ให้บริการ 6-8 เที่ยวบินต่อวัน ลดลงจากก่อนโควิด เคยให้บริการถึง 40 เที่ยวบินต่อวัน แต่รูปแบบการเดินทางเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ คนไทยนิยมท่องเที่ยวช่วงสุดสัปดาห์ เพราะโรงแรมราคาแพงทำตลาดเจาะคนไทยให้เอื้อมถึงได้ง่ายขึ้น”

แต่หากนับรวมเส้นทางบินในประเทศที่กลับมาให้บริการ ขณะนี้มี 8 เส้นทาง นอกจากเส้นทางกรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) สู่สมุยแล้ว ยังมีเชียงใหม่ ลำปาง สุโขทัย ตราด ภูเก็ต หาดใหญ่ กระบี่ และ ภูเก็ต-หาดใหญ่ จำนวน 20 เที่ยวบินต่อวัน ด้วยเครื่องบิน 15 ลำ จากฝูงบินทั้งหมดของบางกอกแอร์เวย์ส 39 ลำ หมายความว่ายังใช้งานฝูงบินไม่ถึง 50% ด้วยซ้ำ! ต่างจากก่อนโควิด ที่ให้บริการเส้นทางบินระหว่างประเทศและในประเทศเท่ากันที่ 50% มีสัดส่วนผู้โดยสารชาวต่างชาติมากถึง 70-80% เป็นผู้โดยสารจากเส้นทางที่บางกอกแอร์เวย์สทำการบินร่วม (โค้ดแชร์) กับสายการบินพันธมิตร 25%

แม้ปัจจุบันเส้นทางบินในประเทศจะยังกลับมาทำการบินไม่ถึง 50% จากเคยให้บริการเมื่อปี 2562 ที่ 17 เส้นทาง และจะยังกลับมาแบบไม่เต็มกำลังในปีนี้ แต่ยังคงเดินหน้าเปิดเส้นทางบินใหม่ กรุงเทพฯ-แม่สอด จ.ตาก 3 เที่ยวบินต่อวัน เพื่อรองรับตลาดนักธุรกิจและการค้าที่คึกคัก เดิมมีแผนเปิดต้นปีนี้ แต่พอเจอการระบาดระลอกสอง ต้องเลื่อนมาเปิดเดือน มิ.ย.แทน

ทั้งเตรียมกลับมาให้บริการเส้นทางบินในประเทศอื่นๆ เช่น ภูเก็ต-สมุย และ ภูเก็ต-อู่ตะเภา เดือน ก.ค.นี้ รองรับโครงการ “ภูเก็ต ทัวริสซึ่ม แซนด์บ็อกซ์” ตามโรดแมพเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนแล้วแบบไม่ต้องกักตัว นำร่องภูเก็ต ก.ค.นี้เป็นต้นไป เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวเชื่อมโยงจากภูเก็ตมาสมุยและพัทยาต่อ หากโมเดลแซนด์บ็อกซ์ที่ภูเก็ตประสบความสำเร็จ ก็จะขยายพื้นที่นำร่องไปยังสมุยได้ ขณะเดียวกันเตรียมกลับมาให้บริการเส้นทาง เชียงใหม่-ภูเก็ต และเชียงใหม่-กระบี่ ในเดือน ต.ค.นี้ด้วย

ด้านเส้นทางบินระหว่างประเทศซึ่งเคยให้บริการ 20 เส้นทางเมื่อปี 2562 ตามแผนเบื้องต้นเตรียมกลับมาเปิดเดือน ก.ค. ประเดิม 2 เส้นทางแรก สมุย-สิงคโปร์ และสมุย-ฮ่องกง เริ่มที่เส้นทางละ 1 เที่ยวบินต่อวัน แต่ยังต้องติดตามผลการเจรจาจับคู่แลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยวระหว่างกันหรือ “ทราเวลบับเบิล” ของรัฐบาลด้วย รวมถึงแผนกระจายฉีดวัคซีนแก่ประชากรไทยในไตรมาส 2 นี้ ส่วนเส้นทางบินระหว่างประเทศอื่นๆ นอกจากฮับการบินสมุยแล้ว ยังวางแผนกลับมาเปิดเส้นทางจากกรุงเทพฯ ไปยังเพื่อนบ้าน เช่น กรุงเทพฯ-พนมเปญ ต.ค.นี้ รวมถึง กรุงเทพฯ-ย่างกุ้ง ด้วย

“คาดปี 2565 เส้นทางบินระหว่างประเทศของบางกอกแอร์เวย์สจะกลับมาให้บริการ 30% เทียบปี 2562 ขึ้นกับดีมานด์นักท่องเที่ยวต่างชาติ ทราเวลบับเบิล การลดวันกักตัว รวมถึงการพิสูจน์ทราบได้ว่านักท่องเที่ยวคนนั้นๆ ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วจริง”

อีกกลยุทธ์ที่บางกอกแอร์เวย์สทำควบคู่กัน คือ คุมต้นทุน! ด้วยการลดขนาด หรือ ดาวน์ไซส์ฝูงบิน! 3 ปี (2563-2565) ด้วยการคืนเครื่องบินซึ่งหมดสัญญาเช่า ทำให้ลดลงจาก 39 ลำเมื่อปี 2563 เหลือ 36 ลำในปี 2564 เหลือ 30 ลำในปี 2565 เพราะแม้ว่าปีหน้าแนวโน้มธุรกิจจะดีขึ้น แต่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ต้องใช้เวลาอีก 2 ปี (2567) กว่าจะกลับมาเป็นปกติซึ่งอาจกลับไปเช่าเครื่องบินมาทำการบินเพิ่มอีกที แต่ระหว่างนี้ต้องควบคุมต้นทุนทุกด้านให้ดีก่อน

อย่างไรก็ตาม ในฐานะคณะผู้บริหารบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก พุฒิพงศ์ ย้ำว่า ยังคงเดินหน้าร่วมลงทุนโครงการนี้ตามแผนและไทม์ไลน์เดิม โดยเฟสแรกใช้เงินลงทุน 3 หมื่นล้านบาท สำหรับการพัฒนาอาคารผู้โดยสาร พื้นที่เชิงพาณิชย์ หลุมจอดอากาศยาน และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เริ่มก่อสร้างปี 2565 แล้วเสร็จและเปิดให้บริการปี 2568 รองรับผู้โดยสาร 15.9 ล้านคนต่อปี สอดรับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินฟื้นที่จะกลับมาปกติปี 2567

“มี.ค.ที่ผ่านมา เพิ่งได้ผู้ออกแบบอาคารผู้โดยสาร ส่วนการที่ได้สนามบินนาริตะมาเป็นพันธมิตรให้ข้อมูลเสนอแนะ เพราะมีจุดเด่นเรื่องการบริหารสนามบินที่ญี่ปุ่น สร้างความเชื่อมโยงระหว่างสนามบินนาริตะกับฮาเนดะได้ดี หากทำแบบนี้กับสนามบินในกรุงเทพฯ และอู่ตะเภาให้มีวิธีบริหารจัดการที่เติบโตและส่งเสริมกันได้ นับเป็นเรื่องดี ส่วนจะให้กลุ่มผู้บริหารสนามบินนาริตะมาช่วยบริหารสนามบินอู่ตะเภาหรือไม่ ยังต้องดูอีกที”

UTA เกิดจากการร่วมกันจัดตั้งของกิจการร่วมค้าบีบีเอส ประกอบด้วย บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS และบริษัทซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC

BA ยังสนใจลงทุนพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ด้วย โดยได้แจ้งความจำนงไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) แล้วว่า BA สนใจ! ขณะนี้กำลังจัดทำแผน เมื่อแล้วเสร็จจะยื่นให้ สกพอ.พิจารณาภายในเดือน เม.ย.นี้

เบื้องต้นชื่อโครงการ “โรงซ่อมอากาศยานของบางกอกแอร์เวย์สในพื้นที่อีอีซี” จะพัฒนาเป็นศูนย์ซ่อมฯ รองรับเครื่องบินลำตัวแคบได้ 4 ลำ คาดใช้วงเงินลงทุน 1,000 ล้านบาท และอยู่ระหว่างศึกษาว่าอาจดึงพันธมิตรศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานในยุโรป เช่น เยอรมนี หรือฝรั่งเศส มาร่วมพัฒนา เพราะมีโนว์ฮาวเรื่องการซ่อมเครื่องบินลำตัวกว้าง

หากโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานฯ นี้ได้รับการอนุมัติ BA จะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่ปีนี้ ขอ EIA ในปี 2565 ใช้เวลาออกแบบไม่นาน เริ่มก่อสร้างได้ปี 2566 แล้วเสร็จปี 2567 โดยจะรับซ่อมทั้งเครื่องบินของบางกอกแอร์เวย์สและสายการบินอื่นๆ ในไทย ไม่ต้องบินไปซ่อมไกลถึงศูนย์ซ่อมในประเทศอื่น เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือฟิลิปปินส์ อีกต่อไป