วันหยุดประจำภาค ‘โบดำ’ รัฐราชการรวมศูนย์

วันหยุดประจำภาค ‘โบดำ’ รัฐราชการรวมศูนย์

การรวมศูนย์อำนาจได้ทำลายอัตลักษณ์ วัฒนธรรม ประเพณีของท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่นกรณีที่ ครม.มีมติวันหยุดราชการประจำภาคต่างๆ เป็นกรณีพิเศษที่หวังว่าคนมีวันหยุดเพิ่มขึ้น แต่ไม่รู้ประเพณีวัฒนธรรมของคนท้องถิ่นอย่างแท้จริง

จากการที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้มีวันหยุดราชการประจำภาคต่างๆ เป็นกรณีพิเศษ โดยให้วันที่ 26 มี.ค.เป็นวันหยุดราชการภาคเหนือ ชดเชยประเพณีไหว้พระธาตุประจำปี, วันที่ 10 พ.ค.วันหยุดราชการประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเพณีงานบุญบั้งไฟ, วันที่ 6 ต.ค.วันหยุดราชการประจำภาคใต้ ประเพณีสารทเดือนสิบ และวันที่ 21 ต.ค.วันหยุดราชการประจำภาคกลาง ประเพณีเทศกาลออกพรรษา

เริ่มหยุดตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมาที่ภาคเหนือ ตามประเพณีชาวเหนือนั้นถือกันว่าคนใดเกิดปีใดจะต้องไปสักการบูชาพระธาตุนั้นเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตน ดังนี้

1.ปีชวด (ปีไจ้) พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุศรีจอมทอง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่

2.ปีฉลู (ปีเป้า) พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุลำปางหลวง อ.เกาะคา จ.ลำปาง

3.ปีขาล (ปียี่) พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุช่อแฮ อ.เมือง จ.แพร่

4.ปีเถาะ (ปีเหม้า) พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุแช่แห้ง อ.เมือง จ.น่าน

5.ปีมะโรง (ปีสี) พระธาตุประจำปีเกิดคือ เจดีย์พระสิงห์ วัดพระสิงห์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

6.มะเส็ง (ปีไส้) พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระศรีมหาโพธิ์ ที่พุทธยาประเทศอินเดีย ชาวบ้านเดินทางไปไม่ถึง ให้ไหว้ต้นโพธิ์แทน

7.ปีมะเมีย (ปีสะง้า) พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุย่างกุ้ง หรือชะเวดากอง ประเทศเมียนมา

8.ปีมะแม (ปีเม็ด) พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุดอยสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

9.ปีวอก (ปีสัน) พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุพนม จ.นครพนม

10.ปีระกา (ปีเล้า) พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุหริภุญชัย อ.เมือง จ.ลำพูน

11.ปีจอ (ปีเส็ด) พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุเกตุแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ถ้าจะไหว้พระธาตุประจำปีเกิด ให้ปล่อยโคมและสักการะด้วยดอกไม้ ธูปเทียน

12.ปีกุน (ปีไก๊) พระธาตุดอยตุง จ.เชียงราย

หากผู้ใดเกิดปีไหนแล้วควรไปนมัสการพระธาตุนั้นๆ ได้อานิสงส์มาก สำหรับผู้ใดที่อยู่ห่างไกลจากพระธาตุประจำปีเกิดของตนเดินทางไปไม่ถึง ก็ให้ไปกราบไหว้เอาเองหรือไปขอที่วาดรูป วาดใส่แผ่นผ้าหรือแผ่นกระดาษนำไปสักการบูชาได้ ไม่มีขนบธรรมเนียมหรือประเพณีใดๆ ที่จะต้องไปนมัสการหรือสักการะวันไหน เดือนไหน หรือปีละครั้งเดียวเท่านั้น หรือจะต้องทำพร้อมกันในวันเดียวกันในทุกปีเกิดตามที่ ครม.กำหนดแต่อย่างใด

ในวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้สร้างความสับสนอลหม่านและมีความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนกันถ้วนหน้า เพราะแทบจะไม่มีใครรู้เลยว่าเป็นวันหยุดราชการ มิหนำซ้ำยังติดกับวันเสาร์อาทิตย์เสียอีก เลยต้องรอไปอีก 3 วันจึงจะมาติดต่อราชการใหม่ได้ โรงเรียน สถานศึกษาก็หยุด โรงพยาบาลในส่วนของคนไข้นอกก็หยุด ไฟฟ้า ประปา ในส่วนของการติดต่อการบริการก็หยุด ฯลฯ ความเสียหายทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นมากมาย

การที่กำหนดให้ 26 มี.ค.เป็นวันหยุดไหว้พระธาตุสำหรับภาคเหนือให้วัดจัดงาน บ่งบอกถึงความไม่รู้อะไรเลยในเรื่องของศิลปวัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่น คิดอยากจะทำก็ทำ จะเป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวงหรือเดือนเพ็ญ ก็ไม่ใช่ จะเป็นวันแรมสิบห้าค่ำหรือเดือนดับก็ไม่ใช่ วันสรงน้ำพระก็ไม่ใช่ วันปีใหม่ (เมือง) ก็ไม่ใช่ วันดีวันเสียก็ไม่ใช่ ฯลฯ ไม่ใช่อะไรสักอย่าง 

นึกอยากจะประกาศเป็นวันหยุดก็ประกาศไปเลยเสียยังจะดีกว่า หรือจะให้สุดๆ ไปเลยว่าเป็นวันหยุดเพื่อให้กินเที่ยวดื่มสุรายาเมาประจำภาคเหนือ ไม่ใช่มาประกาศหยุดแล้วอ้างว่าเป็น “วันหยุดประเพณีไหว้พระธาตุ” มันเป็นประเพณีอะไรเหรอ ขอถามสักคำเถอะครับ คนได้ประโยชน์คือข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ นอนตีพุงสบายอยู่บ้านฟรีๆ

แล้วการที่กำหนดวันที่ 10 พ.ค.วันหยุดราชการประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเพณีงานบุญบั้งไฟ คนอีสานไปอยู่ที่เป็นชุมชนๆ หรือแม้กระทั่งเป็นอำเภอๆ เลยแถวเชียงราย มีการพูดภาษาอีสานกันเป็นภาษาถิ่นที่สองก็มี มีการแข่งขันบ้องไฟก็มีทำไมไม่หยุดให้เขาล่ะ

วันที่ 6 ต.ค.วันหยุดราชการประจำภาคใต้ ประเพณีสารทเดือนสิบ ภาคอื่นก็มีประเพณีนี้ ส่วนวันที่ 21 ต.ค. วันหยุดราชการประจำภาคกลาง ประเพณีเทศกาลออกพรรษานั้น ทั่วประเทศเขามีการตักบาตรเทโวกัน ทำไมไม่หยุดให้เขาด้วย

การรวมศูนย์อำนาจไม่ว่าจะเป็นในด้านการเมืองการปกครอง นั้นได้ทำลายอัตลักษณ์ วัฒนธรรม ประเพณีของท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าการกำหนดให้มีวัฒนธรรมเดี่ยว ความดีงามเดี่ยว ภาษาเดี่ยว เชื้อชาติเดี่ยว ศาสนาเดี่ยว ฯลฯ ชื่อสถานที่ที่มีมาแต่ดั้งเดิมถูกเปลี่ยนไปโดยอ้างมาตรฐานความสุภาพไม่สุภาพของรัฐรวมศูนย์ที่ส่วนกลาง ประเพณีสงกรานต์การสระเกล้าดำหัวกลายเป็นรดน้ำตามแบบข้าราชการที่ไปจากส่วนกลาง

การยัดเยียดประเพณีโดยมติ ครม.เช่นวันหยุดประจำภาคครั้งนี้ก็เช่นกัน นอกจากประเด็นพื้นฐานคือความไม่รู้ประเพณีวัฒนธรรมของคนท้องถิ่นแล้ว ยังเป็นนโยบายประชานิยมแบบมักง่ายอีกด้วย หวังว่าคนมีวันหยุดเพิ่มขึ้น คนจะแฮปปี้ ใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจหมุนเวียนมากขึ้น ที่สำคัญที่สุดการติดอำนาจรัฐราชการรวมศูนย์คืออยากจะทำอะไรจากส่วนกลางก็มีคำสั่งหรือมมติออกมาเลย ไม่สนใจใยดีถึงความเดือดร้อนของผู้คนว่าจะอลหม่านแค่ไหน

ให้คนท้องถิ่นเขากำหนดเองเถอะครับว่าเขาจะทำอะไรตามความเชื่อความศรัทธาของเขา ตราบใดที่ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ไม่กระทบต่อการเป็นรัฐเดี่ยว ไม่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ (ที่แท้จริง) ฯลฯ ไม่มีใครรู้ประเพณีท้องถิ่นดีกว่าคนท้องถิ่นหรอกครับ

หยุดทำตัวเป็นคุณพ่อรู้ดีเถอะครับ