นายกฯเผยไม่มีการเอาปืนไล่ผู้อพยพกลับ'เมียนมา'ย้ำดูแลตามหลักมนุษยธรรม

นายกฯเผยไม่มีการเอาปืนไล่ผู้อพยพกลับ'เมียนมา'ย้ำดูแลตามหลักมนุษยธรรม

"นายกฯ" เผย กลุ่มชาติพันธุ์ อพยพจาก "เมียนมา" ไม่ถึงขั้นทะลักเข้าไทย ยัน ไม่มีเอาปืนไล่กลับ หากเดือดร้อนจริง ชี้ เป็นเรื่องมนุษยธรรม ระบุ หากจำเป็นต้องดูแล

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีกลุ่มชาติพันธ์ุอพยพจากสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมาทะลักเข้าไทย ว่า ตนมองว่าไม่ใช่การทะลักเข้ามา ส่วนที่มีภาพปรากฏออกมาเพราะสื่อบางคนเอามาเผยแพร่ ยืนยันว่ามีการเจรจาพูดคุย หลายคนเข้ามาในหลายหมู่บ้านนำร่อง เมื่อเข้ามาก็ต้องชี้แจงและสอบว่าเกิดปัญหาอะไรในพื้นที่ที่อาศัยอยู่ เมื่อบอกว่าไม่มีปัญหาจึงมีการเจรจาให้กลับประเทศไป โดยไม่ใช่การเอาปืนผาหน้าไม้ไปจี้ไล่ให้เขาออกจากประเทศไป นี่คือเรื่องของมนุษยธรรม ที่จะต้องเดินหน้าแก้ไขไปด้วยกัน

นายกฯ กล่าวว่า ประเทศไทยมีประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าวมาหลายปี และมีศูนย์อพยพ 9 ศูนย์ มีผู้อพยพกว่า 400,000 คน และอยู่มา 10 - 20 ปี วันนี้เหลืออยู่100,000 กว่าคนที่ต้องดูแล เดิมเคยมีการสัญญาว่าจะส่งตัวกลับประเทศแต่มีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น จึงต้องหยุดการส่งกลับไว้ก่อน พร้อมกับต้องเตรียมการรองรับผู้ที่จะอพยพเพิ่มเติม ต้องดูแลไปตามหลักมนุษยธรรม

นายกฯ กล่าวว่า ไทยไม่สามารถผลักดันกลับประเทศได้ หากภายในเมียนมา ยังมีการสู้รบกันอยู่ ทั้งนี้ การอนุญาตให้คนเข้าประเทศเป็นเรื่องของความมั่นคง จะไปป่าวประกาศว่าจะรับคนเข้าประเทศใช่เรื่องหรือไม่ แต่หากเข้ามาก็ต้องมีการเตรียมการต่อไป และหากจำเป็นเราก็ต้องดูแลเขา ขออย่าเปิดประเด็นในเรื่องนี้

นายกฯ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นความจำเป็นเนื่องจากเป็นเรื่องเขตแดนไทยเมียนมา การจะเข้าประเทศมาต้องถูกกฎหมาย แต่สถานการณ์สู้รบก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง หรือหากเกิดภัยพิบัติ เกิดการบาดเจ็บล้มตาย แล้วเข้าประเทศมาก็ต้องหามาตรการรองรับ ตนได้เตรียมเรื่องดังกล่าวไว้เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม ไม่มีการผลักดันออกนอกประเทศหากกลุ่มคนเหล่านั้นได้รับความเดือดร้อนจริงๆ แต่การที่จะไปประกาศว่ายินดีรับใครเข้ามามันไม่ใช่ รวมไปถึงตนได้สั่งการผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง และกระทรวงกลาโหม เขาก็มีวิธีการดำเนินการของเขา เรื่องอะไรที่อันตรายขออย่าเพิ่งกระพือข่าว

อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการประสานกับ UNHCR  หรือไม่นั้น นายกฯ กล่าวว่า ไม่ต้องมีการประสานเนื่องจากหน่วยงานดังกล่าวเข้ามาอยู่ในไทยอยู่แล้ว แล้วไม่สามารถผลักดันกลุ่มคนเหล่านั้นไปยังประเทศที่ 3 ได้

"เราคุยกันด้วยหลักการ ไม่ใช่การแก้ตัว ผมใจเย็นที่สุดแล้ว พูดกับสื่อต้องยิ้ม เดี๋ยวหาว่าเราหน้างอ หน้าหงิก บางทีคิดอะไรเครียดหน้าก็เครียดด้วย จริงๆแล้วผมเป็นคนใจดี" นายกฯกล่าว