งบปี 65 ขาดดุลพุ่ง 7 แสนล้าน 'คลัง'เร่งรายได้เพิ่มงบกลางปี

งบปี 65 ขาดดุลพุ่ง 7 แสนล้าน 'คลัง'เร่งรายได้เพิ่มงบกลางปี

ครม.เคาะกรอบงบประมาณปี 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท เป็นงบประมาณแบบขาดดุลพุ่ง 7 แสนล้านบาท

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (16 มี.ค.) เห็นชอบกรอบงบประมาณปี 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท เป็นงบประมาณแบบขาดดุล 7 แสนล้านบาท ในขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้คงงบเยียวยาช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง คนชรา บัตรสวัสดิการ ถึงแม้สัดส่วนจะพุ่งไปถึง 1.5 ล้านล้านบาท

นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (16 มี.ค.) เห็นชอบกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท ลดลงจากปี 2563  1.85 แสนล้านบาท หรือลดลง 5.6%  โดยงบประมาณในปี 2565 เป็นงบประมาณแบบขาดดุล 7 แสนล้านบาท โดยประมาณการจัดเก็บรายได้ 2.4 แสนล้านบาท บนสมมุติฐานว่าเศรษฐกิจขยายตัว 4-5% 

งบประมาณปี 2565 เป็นการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลต่อเนื่องและเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจและการจัดเก็บรายได้ที่ลดลงในช่วงโควิด-19 โดยปี 2563 ขาดดุลงบประมาณ 4.69 แสนล้านบาท และในปี 2564 ขาดดุลงบประมาณ 6.23 แสนล้านบาท 

ในปีงบประมาณ 2565 มีคำของบประมาณจากหน่วยงานราชการและหน่วยคำขอรับงบประมาณทั้งสิ้น 5.24 ล้านล้านบาท เป็นงบประมาณประจำ 2.36 ล้านล้านบาท และเป็นงบลงทุน 6.2 แสนล้านบาท 

โดยการจัดทำงบประมาณได้รับเอาแนวคิดของนายกรัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบาง คนชรา เด็กแรกเกิด คนพิการ รวมถึงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งรวมกันเป็นวงเงิน 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่งบประมาณในส่วนนี้ไม่ได้ปรับลดลง ส่วนงบประมาณอื่นที่ตัดลดลง เช่น งบประจำ งบประมาณที่ยังไม่จำเป็นเร่งด่วนเพื่อนำมาจัดสรรให้ได้ตามกรอบงบประมาณที่มี

161590258212

นอกจากนี้ปี 2565 ได้ตั้งงบประมาณชำระคืนเงินกู้ทั้งในส่วนของเงินต้นและดอกเบี้ย 1.7-1.8 แสนล้านบาท โดยเป็นการจ่ายในส่วนของเงินต้น 1 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2564 กว่า 1,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.01% คิดเป็นสัดส่วน 3.22% ของวงเงินงบประมาณ สูงกว่าเทียบกับปีงบประมาณ 2564 ที่ 3.01% ซึ่งการจ่ายคืนเงินกู้คืนเพื่อรักษาเครดิตประเทศไว้

แม้การตั้งงบประมาณในปี 2565 จะลดลงจากปี 2564 เนื่องจากปรับลดลงของการจัดเก็บรายได้ แต่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในที่ประชุม ครม.ว่า กระทรวงการคลังจะพยายามจัดเก็บรายได้ให้ได้มากกว่าเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งถ้าหากเศรษฐกิจในปี 2565 ฟื้นตัวขึ้นภาครัฐมีการจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นก็จะจัดทำงบกลางปีในปีงบประมาณ 2565 เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศในช่วงเวลานั้นได้ 

นายสมหมาย ลักขณานุรักษ์  รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า ในปี 2565 เป็นปีงบประมาณที่ตั้งงบลงทุนไว้ที่ 6.2 แสนล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าการขาดดุลงบประมาณที่ตั้งไว้ 7 แสนล้านบาท ซึ่งเคยเกิดขึ้นใน 2552-2553 ช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ซึ่งทำให้ต้องวางแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมกรณีงบลงทุนน้อยกว่าขาดดุล

โดยให้มีการพิจารณาเพิ่มรายจ่ายลงทุนจากแหล่งเงินลงทุนของประเทศในช่องทางอื่นนอกเหนือจากงบประมาณรายจ่าย ได้แก่ การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) และการลงทุนของหน่วยงาน ในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย รวมทั้งพิจารณา การใช้เงินกู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในการจ้างงานในพื้นที่ชนบท 

ส่วนแนวทางการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ที่ปรับปรุงรายละเอียดภายในกรอบวงเงินของแต่ละกระทรวงและหน่วยรับงบประมาณที่ได้รับจัดสรรสำหรับรายการไม่ควรเปลี่ยนแปลงรายการไปจัดสรรให้รายการอื่นเพื่อรักษาสัดส่วนรายจ่ายลงทุน จึงไม่ควรเปลี่ยนแปลงรายจ่ายลงทุนไปเพิ่ม ในรายจ่ายประจำ และไม่ควรเปลี่ยนแปลงงบประมาณในแผนงานบูรณาการหรือแผนงานยุทธศาสตร์ไปเพิ่ม ในแผนงานพื้นฐาน

สำหรับการจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานราชการ พบว่า 

กระทรวงศึกษาธิการ ได้รับจัดสรรงบประมาณสูงสุด 332,398 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า 24,051 ล้านบาท หรือลดลง 6.75% 

รองลงมา กระทรวงมหาดไทย 316,527 ล้านบาท ลดลง 17,144 ล้านบาท หรือ 5.14%

กระทรวงการคลัง ได้รับจัดสรร 273,491 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,501 ล้านบาท หรือ 2.05% เพราะต้องชำระดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มขึ้น

กระทรวงกลาโหม 203,282 ล้านบาท ลดลง 11,248 ล้านบาท หรือลดลง 13.42% ส่วนกระทรวงที่ได้น้อยสุด ได้แก่ กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงพาณิชย์

สำหรับงบกลางในปี 2565 ได้ตั้งบประมาณไว้ 11 รายการรวมทั้งสิ้น 571,047 ล้านบาท ลดลง 43568 ล้านบาท หรือ 7.09 % อย่างไรก็ตามอย่ามองว่างบกลางทั้งหมดเป็นเงินที่จัดไว้ให้นายกรัฐมนตรีใช้เนื่องจากงบกลางฯ แบ่งเป็นหลายรายการเช่นรายจ่ายสำหรับจ่ายเป็ยเงินเกษียณอายุของราชการและรักษาพยาบาลเป็นเงินถึงประมาณ 4 แสนล้านบาท  ส่วนงบกลางที่เป็นรายการจ่ายสำรองเพื่อฉุกเฉินและจำเป็นกรณีฉุกเฉินเร่งด่วนมีเพียง 8.9 หมื่นล้านบาท ลดลง 1 หมื่นล้านบาทจากปีงบประมาณก่อน

“ที่ว่านายกฯ มีเงินใช้มากถึง 4-5 แสนล้านบาท จึงไม่ได้เป็นเช่นนั้นเพราะมีเงินที่อยู่ในอำนาจการใช้จ่ายที่นายกรัฐมนตรีอนุมัติได้เพียง 8.9 หมื่นล้านบาทเท่านั้นในปีงบประมาณ 2565”

ทั้งนี้ ครม.เห็นชอบให้หน่วยรับงบประมาณปรับปรุงรายละเอียดตามแนวทางการปรับปรุงรายละเอียด งบประมาณดังกล่าวเสนอต่อ ครม.วันที่ 23 มี.ค.2564 โดยจะเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 26-27 พ.ค.นี้