คมนาคมนำร่องเปิดทางหลวงสายเอเชีย วิ่ง 120 กิโลเมตร ภายในสิ้นเดือนนี้

คมนาคมนำร่องเปิดทางหลวงสายเอเชีย วิ่ง 120 กิโลเมตร ภายในสิ้นเดือนนี้

"คมนาคม" เร่งผลักดันกฎกระทรวงฯ กำหนดความเร็วยานพาหนะให้ใช้ความเร็วสูงสุดได้ 120 กิโลเมตร นำร่องใช้ทางหลวงสายเอเชีย 50 กิโลเมตร ภายใน มี.ค.นี้

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (รวค.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการผลักดันนโยบายปรับเพิ่มอัตราความเร็วสูงสุดของรถยนต์บนถนนทางหลวงให้สามารถใช้ความเร็วสูงสุดได้ 120 กิโลเมตร (กม.) ต่อชั่วโมง (ชม.) เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการจราจรในปัจจุบัน ตลอดจนความสะดวก รวดเร็ว และความปลอดภัยในทุกการเดินทางของประชาชน

อย่างไรก็ดี กระทรวงคมนาคมได้ลงนามในกฎกระทรวงกำหนดความเร็วยานพาหนะฯ ซึ่งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2564 โดยในขั้นตอนต่อไป กรมทางหลวง (ทล.) จะเป็นผู้ออกประกาศผู้อำนวยการทางหลวงแผ่นดิน เพื่อกำหนดรายละเอียดสายทางที่จะบังคับใช้ความเร็วสูงสุดใหม่ต่อไป โดยคาดว่าจะนำร่องเส้นทางแรก คือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 สายบางปะอิน–แยกหลวงพ่อโอ (ทางหลวงสายเอเชีย) ไม่เกิน 50 กม. ภายในสิ้นเดือน มี.ค.นี้

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมได้พยายามผลักดันนโยบายปรับเพิ่มอัตราความเร็วสูงสุดของรถยนต์บนถนนทางหลวง โดยพิจารณาจากความปลอดภัยเป็นสำคัญ ซึ่งต้องพิจารณาจากลักษณะทางกายภาพ และสภาพการใช้พื้นที่ ตลอดจนการอยู่อาศัย ซึ่งพบว่าสามารถปรับเพิ่มความเร็วสูงสุดของรถยนต์ส่วนบุคคลขนาดไม่เกิน 7 ที่นั่ง จากเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกิน 90 กม.ต่อชม. เป็นความเร็วไม่เกิน 120 กม.ต่อชม.

ทั้งนี้ เฉพาะพื้นที่ที่มีความปลอดภัยทางกายภาพ ซึ่งจะต้องเป็นถนนที่มีมาตรฐานสูงขนาด 4 ช่องจราจรขึ้นไป ไม่มีจุดตัดหรือจุดกลับรถเสมอระดับถนน มีการแบ่งทิศทางจราจรอย่างชัดเจน และมีเกาะกลางถนนเฉพาะแบบกำแพงกั้น (Barrier Median) โดยกำหนดความเร็วขั้นต่ำสำหรับช่องจราจรขวาสุดไว้ไม่ต่ำกว่า 100 กม.ต่อชม. เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุชนท้ายกันในช่องทางที่รถวิ่งด้วยความเร็ว

พร้อมทำการปักป้ายกำกับความเร็วตลอดแนวเส้นทางโดยวิศวกรของหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น ป้ายจำกัดความเร็วไม่เกิน 30 กม.ต่อชม. ในเขตชุมชนหรือเขตโรงเรียน ป้ายจำกัดความเร็วไม่เกิน 60 กม.ต่อชม. ในบริเวณทางโค้ง ทางแยก หรือทางกลับรถ ป้ายจำกัดความเร็วไม่เกิน 120 กม.ต่อชม. บริเวณทางตรงซึ่งสามารถทำความเร็วได้ แต่ต้องไม่เกินตามที่ป้ายกำหนด โดยผู้ขับขี่ต้องปฏิบัติตามกฎจราจรและขับขี่ด้วยความเร็วตามที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยและลดอุบัติเหตุบนท้องถนนตลอดการเดินทาง

 

สำหรับรถประเภทอื่นๆ ได้มีการพิจารณาปรับกำหนดความเร็วขึ้นตามความเหมาะสม ทั้งรถบรรทุกที่มีน้ำหนักเกิน 2,200 กิโลกรัม หรือบรรทุกคนโดยสารเกิน 15 คน สามารถใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 90 กม.ต่อชม.ส่วนรถในขณะลากจูงรถอื่น รถสี่ล้อเล็ก หรือรถยนต์สามล้อ ใช้ความเร็วไม่เกิน 65 กม.ต่อชม. รถจักรยานยนต์

ใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กม.ต่อชม. ส่วนรถจักรยานยนต์กำลังเครื่องยนต์ตั้งแต่ 35 กิโลวัตต์ หรือกระบอกลูกสูบรวม 400 CC ขึ้นไป ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 110 กม.ต่อชม. รถโรงเรียนใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กม.ต่อชม. และรถโดยสารเกิน 7 คน แต่ไม่เกิน 15 คน ใช้ความเร็วไม่เกิน 100 กม.ต่อชม.

นายศักดิ์สยาม กล่าวด้วยว่า ตนได้มีข้อสั่งการโดยกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมการขนส่งทางบก และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ดำเนินการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับข้อมูลรายละเอียดที่ปรากฎในร่างกฎกระทรวงกำหนดความเร็วยานพาหนะฯ ใช้ความเร็วสูงสุดได้ 120 กม.ต่อชม. ให้มีความชัดเจน เข้าใจง่าย ตั้งแต่ในระยะแรกรวมทั้ง อยากให้ช่วยกันรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนที่ใช้รถ ใช้ถนน ปฏิบัติตามกฎจราจรการควบคุมความเร็ว ที่กฎหมายกำหนด สังเกตป้ายเตือนความเร็วต่าง ๆ ที่ได้กำหนดความเร็วไว้ในช่องทางเดินรถ ที่เหมาะสมแต่ละช่องถนน จะช่วยลดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับตัวเองและผู้อื่นได้อีกด้วย