‘เงาฝรั่งบนฝั่งอยุธยา’บอกเล่าการทูตวัฒนธรรม

‘เงาฝรั่งบนฝั่งอยุธยา’บอกเล่าการทูตวัฒนธรรม

‘เงาฝรั่งบนฝั่งอยุธยา’บอกเล่าการทูตวัฒนธรรม เยือนหมู่บ้านโปรตุเกส หมู่บ้านญี่ปุ่น หมู่บ้านฮอลันดา และวัดนักบุญยอแซฟ มีหลักฐานบ่งบอกเรื่องราวของฝรั่งและคนต่างชาติในอยุธยาเมื่อหลายร้อยปีก่อน

“อยุธยา” ในความทรงจำของคนไทยที่ได้จากการเรียนประวัติศาสตร์ในวัยเยาว์ คืออดีตราชธานีที่รุ่งเรืองยาวนาน 417 ปี ระหว่าง พ.ศ.1893-2310 เคยเสียกรุงให้พม่าข้าศึก 2 ครั้ง ครั้นเวลาผ่านไปองค์ความรู้ได้รับการพัฒนามากขึ้นจึงทราบว่า อยุธยาคือเมืองท่านานาชาติที่รุ่งเรืองไม่แพ้เมืองท่าสำคัญใดๆ ของโลกในยุคเดียวกัน การทำการค้าและการเปิดรับคนต่างชาติอย่างเป็นมิตร มีส่วนสร้างความมั่งคั่งให้กับราชธานีแห่งนี้เป็นอย่างมาก

กองการทูตวัฒนธรรม กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ นำคณะสื่อมวลชนทัศนศึกษา “เงาฝรั่งบนฝั่งอยุธยา” ที่หมู่บ้านโปรตุเกส หมู่บ้านญี่ปุ่น หมู่บ้านฮอลันดา และวัดนักบุญยอแซฟ ที่มีหลักฐานบ่งบอกเรื่องราวของฝรั่งและคนต่างชาติในอยุธยาเมื่อหลายร้อยปีก่อน ได้ รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้บรรยายนำคณะย้อนอดีตไปสู่ต้นศตวรรษที่ 16 ที่โปรตุเกสเป็นมหาอำนาจโลกด้วยเทคโนโลยีการเดินเรือ เป็นชนผิวขาวพวกแรกที่เข้ามาติดต่ออยุธยา

ปรีดีเล่าว่า อยุธยามีความสัมพันธ์กับตะวันออกมานานแล้วแต่ความสัมพันธ์กับตะวันตกเริ่มต้นขึ้นใน พ.ศ.2054 (ค.ศ.1511) สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เมื่อโปรตุเกสมาเหยียบแผ่นดิน หลังจากโปรตุเกสได้มะละกาซึ่งขณะนั้นเป็นดินแดนของอยุธยาใน พ.ศ.2053 จึงส่งทูตชุดแรกมาขออนุญาตทำการค้ากับกษัตริย์อยุธยา

การมาของคนกลุ่มนี้ปรากฏหลักฐานที่หมู่บ้านโปรตุเกส เริ่มต้นที่โบสถ์นักบุญเปรโต คณะโดมินิกัน แผ่นดินที่ตั้งหมู่บ้านได้รับพระราชทานจากพระไชยราชา หลังทหารโปรตุเกสร่วมรบจนอยุธยาชนะศึกเชียงกราน

ปรีดีเล่าต่อว่า การจัดการหมู่บ้านโปรตุเกสเป็นแบบ Indian State เหมือนกับการปกครองรัฐกัว บนชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดีย ที่เป็นศูนย์กลางการค้าใหญ่ของโปรตุเกส “ไปที่ไหนก็ให้ปรับเมือง ปรับคน เป็นแบบอินเดีย แล้วเปลี่ยนนโยบายเป็นแบบโปรตุเกส” หนึ่งในนั้นคือการแต่งงานกับคนพื้นเมือง แล้วมีลูกให้มากที่สุดเพื่อเป็นแรงงานให้กับบริษัทโปรตุเกส

"การเข้ามาอยุธยาของโปรตุเกส “เพื่อนคนแรก” มีข้อดีคือมาด้วยภารกิจด้านศาสนาเพียงอย่างเดียว ไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง ไม่เคยมีการปฏิวัติ กิจกรรมเศรษฐกิจก็มีน้อยมาก แต่เพื่อนคนนี้สำคัญมากตรงที่ ภาษาโปรตุเกสเป็นภาษาต่างชาติทางการของอยุธยา ข้าราชการต้องพูดภาษาโปรตุเกสได้" มัคคุเทศก์กิตติมศักดิ์ย้ำ

ณ ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านญี่ปุ่น ข้อมูลจากหนังสือชนชาติต่างๆ ในอยุธยา ระบุว่า ชุมชนชาวญี่ปุ่นในอยุธยา น่าจะมีขึ้นในสมัยพระนเรศวร แต่ก่อนหน้านั้นสยามกับญี่ปุ่นต่างติดต่อทำการค้าระหว่างกันโดยมีอาณาจักรริวกิว (หมู่เกาะโอกินาวา) เป็นตัวแทนการค้า กระทั่งริวกิวยุติบทบาทการค้ากับอุษาคเนย์ในสมัยเดียวกับที่อยุธยาเสียกรุงครั้งที่ 1 เรือสำเภาญี่ปุ่นจึงเดินทางออกมาทำการค้าโดยตรงกับอยุธยา 20 ปีหลังจากนั้นจึงมีการตั้งชุมชนชาวญี่ปุ่นในสมัยพระเจ้าทรงธรรม คนรุ่นหลังรู้จักหมู่บ้านญี่ปุ่นจากแผนที่ของลาลูแบร์ การขุดค้นทางโบราณคดีพบร่องรอยหลายอย่าง

บุคคลสำคัญของชุมชนชาวญี่ปุ่นในอยุธยาคือ ยามาดะ นางามาซะ ซามูไรที่ออกมาแสวงโชคค้าขายที่อยุธยา ก่อนสมัครเป็นทหารอาสา ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าหมู่บ้านญี่ปุ่น ภายหลังมีตำแหน่งออกญาเสนาภิมุข ถือเป็นชาวต่างชาติคนแรกที่ได้บรรดาศักดิ์

อีกคนคือนางมารี กีมาร์ เดอปิน่า หรือ “ท้าวทองกีบม้า” ลูกเสี้ยวญี่ปุ่น-โปรตุเกส ภริยาเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ทำหน้าที่ดูแลรับทูต เชื่อว่ากันว่าเธอเป็นคนนำขนมลูกครึ่งญี่ปุ่น-โปรตุเกสออกสู่สาธารณะจนรู้จักกันอย่างกว้างขวาง

อีกหนึ่งชุมชนที่ปรากฏหลักฐานคือหมู่บ้านฮอลันดา ตั้งอยู่ใกล้กับเกาะเมืองมากที่สุดในบรรดา 3 หมู่บ้าน ตั้งอยู่ในจุดที่เคยเป็นคลังสินค้า ฮอลันดาพัฒนาระบบการเดินเรือให้เดินทางได้เร็วขึ้น มั่นคงขึ้น นักธุรกิจจึงร่วมทุนกันทำการค้าในนามบริษัท VOC (Verenigde Oost-Indische Compagnie) หรือบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา ออกเรือไปหาซื้อเครื่องเทศมาขาย ราวต้นศตวรรษที่ 17 VOC ตั้งสถานีการค้าในอินโดนีเซียได้ทั้งหมด หาสินค้าทุกอย่างที่อยากได้ในตะวันออก ทำลายระบบการค้าที่เปอร์เซียเคยครอบงำ จากนั้นชาติอื่นจึงตั้งบริษัทการค้าตามรอย VOC

ฝรั่งเศสเป็นอีกชาติหนึ่งที่มีหลักฐานความสัมพันธ์กับอยุธยา บาทหลวงลังแบร์ต เดอ ลามอต กับนักบวชอีก 2 ท่านเดินทางมาเผยแผ่ศาสนา ต่อมาคณะบาทหลวงได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเพื่อทูลขอที่สร้างโบสถ์และโรงเรียน เริ่มก่อสร้างวัดนักบุญยอแซฟเมื่อ พ.ศ.2209 ตั้งอยู่นอกเกาะเมือง เป็นจุดเริ่มต้นให้ศาสนาคริสต์สถิตย์สถาพรในประเทศไทย

สถานที่ทั้ง 4 แห่งที่คณะได้ไปเยือนตามโครงการ “เงาฝรั่งบนฝั่งอยุธยา” ปรีดีกล่าวว่า แสดงให้เห็นถึงร่องรอยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่หลากหลาย ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ ศาสนา พัฒนาสูงสุดในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ เมื่อการเมืองอยุธยามีเสถียรภาพชาวต่างชาติจะเข้ามาเป็นจำนวนมาก อยุธยามีมาตรการควบคุมคนกลุ่มนี้ที่เป็นแบบอย่างให้รัตนโกสินทร์รับไปปฏิบัติ เช่น

1. การดึงคนต่างชาติเข้ารับราชการ

2. การอนุญาตให้ชาวต่างชาติตั้งถิ่นฐานอยู่ทางใต้ของเกาะเมือง (ริมแม่น้ำเจ้าพระยา) ด้วยเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจ เพราะคนต่างชาติเหล่านี้มีเรือสินค้านำเข้ามาจอดได้ ถัดไปไม่ไกลเป็นวัดโปรดสัตว์ซึ่งเป็นด่านขนอนเก็บภาษี อยุธยามั่งคั่งเพราะภาษีการค้าที่แต่ละปีมีเรือเข้ามาหลายร้อยลำ นอกจากนี้ยังมีเหตุผลด้านความปลอดภัย เพราะเรือสินค้าเหล่านี้นำอาวุธมาด้วย หากแล่นเลยป้อมเพชรจะเป็นอันตรายต่ออยุธยา แนวคิดนี้ถูกนำมาใช้ในสมัยรัตนโกสินทร์ ที่อนุญาตให้กงสุลต่างชาติอยู่บน ถ.เจริญกรุงทางตอนใต้ของพระบรมมหาราชวัง

เรื่องราวของอยุธยามีมากเกินกว่าจะเรียนรู้ได้จบภายใน 1 วัน แต่เงาวิบวับของฝรั่งที่ยังหลงเหลืออยู่บ่งบอกให้ทราบถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับโลกอย่างไรให้ได้ประโยชน์ สร้างความมั่งคั่งรุ่งเรืองให้แผ่นดิน ถือเป็นมรดกวัฒนธรรมทางการทูตให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา และสื่อมวลชนรับหน้าที่บอกต่อเรื่องราวการทูตวัฒนธรรมเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องต่อไป