อุตฯพลังงานหมุนเวียน ห่วงสหรัฐ-อียู กีดกันการค้าเก็บภาษีคาร์บอน

อุตฯพลังงานหมุนเวียน ห่วงสหรัฐ-อียู กีดกันการค้าเก็บภาษีคาร์บอน

ส.อ.ท. ห่วง อียู และสหรัฐ ดึงมาตรการคาร์บอนเครดิต ตั้งเงื่อนไขกีดกันทางการค้า ขู่เริ่มเก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดน สินค้าเหล็ก และแบตเตอรี่ แนะรัฐเร่งวางแนวทางรับซื้อ ขณะที่โปรเจคโซลาร์ฟาร์มทหารและอีอีซี ควรชัดเจนอยู่ในแผนพีดีพีหรือไม่

นายสุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานสกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ภาคเอกชน ได้ติดตามกระแสข่าวโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) พื้นที่ราชพัสดุในการดูแลของกองทัพบก(ทบ.) ในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศรวมกว่า 4.5 ล้านไร่ หรือ คาดหมายจะมีศักยภาพผลิตไฟฟ้าได้ถึง 30,000 เมกะวัตต์ และโครงการผลิตไฟฟ้าโซลาร์ ฟาร์ม ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) นำร่อง 500 เมกะวัตต์

โดยมองว่า ทั้ง 2 โครงการดังกล่าวยังไม่มีผลต่อการลงทุนผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนในประเทศไทย เนื่องจากยังไม่ได้บรรจุอยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ(PDP) แต่หากทั้ง 2 โครงการจะเกิดขึ้นจริงในอนาคต ก็เป็นหน้าที่ของกระทรวงพลังงาน ที่ควรไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน 2 โครงการดังกล่าว เพื่อนำมาบรรจุในแผน PDP ต่อไป

“ตอนนี้ ทั้ง 2 โครงการ ถือว่าไม่มีอยู่จริง เพราะไม่ได้อยู่ในแผน PDP แต่หากโครงการจะเกิดขึ้น ก็ควรเข้ามาอยู่บนกระดาษเดียวกัน และควรชัดเจนว่า เป็นโควตาในส่วนไหน กระทบกับโซลาร์ภาคประชาชน และโซลาร์ของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนที่ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองโดยไม่ขายเข้าระบบของการไฟฟ้า(IPS) หรือไม่ อย่างไร”

สิ่งที่ภาครัฐควรให้ความสำคัญและเตรียมพร้อมแล้วทางรับมือในขณะนี้ คือ การที่สหภาพยุโรป(EU) และสหรัฐ ได้หยิบยกเรื่องของคาร์บอนเครดิต คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สามารถลดได้จากการดำเนินโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด หรือ CDM (Clean Development Mechanism) มาเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ในปี 2573 และในปี 2565 ทาง EU จะเริ่มใช้ภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดน กับกลุ่มสินค้าเหล็ก และแบตเตอรี่ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อผู้ส่งออกสินค้าของไทย

ดังนั้น ทางผู้ประกอบการได้เรียกร้องให้ กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ส.อ.ท. เร่งเสนอแนะเรื่องนี้ให้กับภาครัฐพิจารณา ซึ่ง ส.อ.ท. มองว่า การจะส่งเสริมพลังงานทดแทนเป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่ควรกระจุกอยู่ที่โซลาร์เพียงอย่างเดียว แต่ควรกระจายสัดส่วนเชื้อเพลิงให้เหมาะสมด้วย”

ทั้งนี้ การผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ ในปัจจุบัน มีต้นทุนอยู่ที่ 2.50 บาทต่อหน่วย ขณะที่โซลาร์ฯ มีต้นทุนค่าไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 1 บาทต่อหน่วย แต่ยังไม่เสถียร ซึ่งหากจะทำให้การผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ฯเสถียรขึ้น ก็จะต้องติดตั้งโซลาร์ฯ ควรคู่กับแบตเตอรี่ แต่จะทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าสูงขึ้นอยู่ที่ประมาณ 2.50-3 บาทต่อหน่วย โดยใน 5 ปีข้างหน้า ราคาแบตเตอรี่มีแนวโน้มจะถูกลงเท่าตัว และทำให้การผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ฯแข่งขันกับก๊าซฯได้

อย่างไรก็ตาม ในเดือนมี.ค. นี้ ทาง ส.อ.ท. เตรียมนำเสนอแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ฉบับภาคประชาชน ให้กระทรวงพลังงาน พิจารณานำไปประกอบการจัดทำแผนพลังงานให้สอดรับกับการลงทุนจริงของภาคเอกชนและภาคประชาชนต่อไป