‘ACT'จี้ตื่นตัวเร่งแก้คอร์รัปชั่น ฟื้นความเชื่อมั่นนักลงทุน

‘ACT'จี้ตื่นตัวเร่งแก้คอร์รัปชั่น  ฟื้นความเชื่อมั่นนักลงทุน

ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perception Index) หรือ “CPI” ปี 2563 ที่ องค์กรโปร่งใสนานาชาติ ประกาศผลคะแนนและการจัดอันดับ ปรากฎว่าประเทศไทยได้ 36 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน อันดับโลกอยู่อันดับที่ 104 จาก 180 ประเทศทั่วโลก

อันดับความโปร่งใสของไทยปรับตัวลดลงจากปี 2562 ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 101 ขณะที่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกคะแนน CPI ของไทยอยู่ในอันดับที่ 19 จากทั้งหมด 31 ประเทศ และหากดูในภูมิภาคอาเซียนเราอยู่ในอันดับ 5 จากทั้งหมด 10 ประเทศ  

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้แก้ไขและมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการและสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นหน่วยงานหลักในการดูแล

นายมานะ นิมิตรมงคลเลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ "ACT" เปิดเผย “กรุงเทพธุรกิจ” ว่าดัชนี CPI ของไทยที่ปรับลดลงมาอยู่ในอันดับที่ 104 จากการจัดอันดับ 180 ประเทศทั่วโลกเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสนใจและตระหนักในการแก้ปัญหานี้ร่วมกันเพราะถือว่าเป็นอันดับคะแนนที่ย่ำแย่ที่สุดตั้แต่เคยมีการจัดอันดับมา และถึงแม้ว่าคะแนน CPI ของไทยจะอยู่ที่ 36 คะแนนซึ่งใกล้เคียงกับหลายปีที่เราทำได้ทุกปีคือ 35 - 38 คะแนน ต้องถือว่าเรายังแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ไม่ดีนักเพราะเมื่อเราได้คะแนนในระดับเดิมแต่อันดับลดต่ำลงแสดงว่าประเทศอื่นๆในระดับเดียวกันทำได้ดีขึ้นกว่าเดิมส่งผลไม่ดีต่อภาพลักษณ์การแก้ปัญหาทุจริตในประเทศ 

161303372785

สาเหตุที่ CPI ของไทยอันดับแย่ลงเนื่องจากคะแนนการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันที่วัดโดย International Institute of Management Development (IMD) แม้อันดับโดยรวมของไทยในดัชนีนี้จะปรับเพิ่มขึ้นแต่คะแนนในเรื่องของภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นของไทยปรับลดลง 

ขณะที่ในรายงานของ World Economic Forum (WEF) ระบุว่าที่ผ่านมาแม้ประเทศไทยจะมีกฎหมาย พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการแล้วแต่การนำไปสู่การปฏิบัติยังไม่เกิดผลเป็นรูปธรรมมากนัก ซึ่งในส่วนนี้ในมุมมองที่ต่างชาติมองเข้ามายังเห็นว่าประเทศไทยยังมีปัญหาเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย หรือการนำเอากฎเกณฑ์ที่มีการปรับปรุงไปสู่การอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนของภาคธุรกิจยังไม่เห็นผลที่ชัดเจน 

นอกจากนั้นสิ่งที่ภาคเอกชนสะท้อนว่ายังเป็นปัญหา คือ การปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมายที่มีความล้าสมัยซึ่งต้องทำในเรื่องของการปฏิรูปกฎหมายหรือ  “Regulatory Guillotine” ยังคงต้องทำต่อเนื่องเพราะการมีกฎหมายที่มากเกินความจำเป็นจะเป็นต้นทุนกับธุรกิจและภาคประชาชนและนำไปสู่การทุจริตและรับสินบนได้ 

161303379854

“จริงอยู่ที่คะแนน CPI เป็นการประเมินจากมุมมองภายนอก แต่ก็มีการเชื่อมโยงจากการประเมินในส่วนของ IMD และ WEF ซึ่งหากคะแนนในส่วนนี้ไม่ดีนักลงทุน นักธุรกิจที่มองเข้ามาไทยก็อาจเกิดความไม่แน่ใจในการเข้ามาลงทุน การที่อันดับ CPI เราต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์แบบนี้เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องใส่ใจ ทุกอย่างต้องทำให้โปร่งใส ให้ภาคธุรกิจเห็นว่าต้นทุนที่แท้จริงคืออะไร ไม่ใช่ปล่อยให้มีต้นทุนแฝงซึ่งจะกระทบต่อความมั่นใจของภาคธุรกิจที่จะลงทุนในไทย”นายมานะกล่าว 

ส่วนของคดีและโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่องค์การต่อต้านคอร์รัปชั่นได้มีการติดตามเนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่กระทบต่อความรู้สึกและการใช้ชีวิตของประชาชน และเป็น 3 เรื่องที่องค์กรระหว่างประเทศกำลังจับตาอยู่เช่นกัน ได้แก่ 1.คดีบอส อยู่วิทยา 2.เรื่องการขยายอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 หรือเทอร์มินัล 1 ด้านทิศเหนือ (North Expansion) ในสนามบินสุวรรณภูมิ หรือที่เรียกกันว่า เทอร์มินัล 2 ตัดแปะ แทนการขยายด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก 

3.การต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวและข้อพิพาทเรื่องการประมูลรถไฟฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งประเด็นเหล่านี้ภาคประชาชนรวมทั้งต่างชาติมองเห็นว่าเป็นเรื่องของการเอื้อประโยชน์ในกลุ่มผู้มีอำนาจ เครือข่ายพวกพ้อง รวมทั้งมีการต่อรองทางการเมืองจนกระทบต่อส่วนรวมในที่สุดก็สะท้อนมาที่ภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่นของประเทศไทยที่ตกต่ำลงในสายตาของต่างประเทศ 

นายมานะ กล่าวต่อว่า สิ่งหนึ่งที่ไทยประสบความสำเร็จในการลดการทุจริตคอร์รัปชั่นการในประมูลและจัดซื้อจัดจ้างโครงการขนาดใหญ่โดยใช้ในเรื่องของสัญญาคุณธรรมเข้ามาเป็นเครื่องมือในการช่วยให้โครงการต่างๆมีความโปร่งใสมากขึ้น โดยมีโครงการที่ได้เข้าร่วม "ข้อตกลงคุณธรรม" (Integrity Pact) รวมทั้งสิ้น 126 โครงการ คิดเป็นมูลค่าโครงการ 1.86 ล้านล้านบาท โดยเป็นมูลค่าโครงการ ที่ดำเนินการจัดประมูลหรือจัดซื้อจัดจ้างแล้ววงเงินรวม 383,000 ล้านบาท และคิดเป็นงบประมาณที่ภาครัฐประหยัดได้ประมาณ 106,000 ล้านบาท เนื่องจากราคาลดลงจากราคากลางที่รัฐตั้งไว้ได้ถึง 25 - 30% และทำให้ลดปัญหาเรื่องการจ่ายใต้โต๊ะ สินบนต่างๆลงไปได้  

ซึ่งการใช้ข้อตกลงหรือสัญญาคุณธรรมมาควบคุมความโ ปร่งใสของโครงการในลักษณะนี้ได้รับการยอมรับจากนานาชาติและเป็นตัวอย่างที่ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และธนาคารพัฒนาเอเชีย(ADB)นำไปเผยแพร่ว่ามีส่วนสำคัญในการช่วยลดการคอร์รัปชั่นในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐได้