ราคาพืชพลังงานผันผวน เพิ่มภาระอุดหนุน ส่อเลิกขาย B20-เลื่อนดัน E20 น้ำมันพื้นฐาน

ราคาพืชพลังงานผันผวน เพิ่มภาระอุดหนุน ส่อเลิกขาย B20-เลื่อนดัน E20 น้ำมันพื้นฐาน

แผนส่งเสริมให้แก๊สโซฮอล์ อี20 เป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐานของกระทรวงพลังงาน ยังไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนตั้งแต่ปลายปี2563 และล่าสุด จะเลื่อนออกไปเป็นปี 2565 ขณะที่ ดีเซล บี20 กำลังจะถูกพิจารณายกเลิกจำหน่าย หลังคนสนใจใช้น้อยลง

แผนส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซล บี20 สำหรับกลุ่มรถบรรทุกขนาดใหญ่ และรถกระบะ ของกระทรวงพลังงาน ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 เพื่อแก้ไขปัญหาผลผลิตปาล์มน้ำมันล้นตลาดนั้น ปัจจุบัน ยอดการใช้ดีเซล บี20 ลดลงต่อเนื่อง ขณะที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังแบกรับภาระการชดเชยราคาดีเซล บี20 อยู่ที่ 4.16 บาทต่อลิตร

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน ระบุว่า เบื้องต้นได้รับการรายงานข้อมูลจากสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ว่า ยอดจำหน่ายดีเซล ล่าสุดในช่วงเดือนม.ค. 2564 รวมเฉลี่ยอยู่ที่ 60 ล้านลิตรต่อวัน แบ่ง เป็น ดีเซล(บี20) อยู่ที่ 1.08 ล้านลิตรต่อวันเท่านั้น ดีเซล(บี10)อยู่ที่ 20 ล้านลิตรต่อวัน และดีเซล(บี7) อยู่ที่ 43 ล้านลิตรต่อวัน

ขณะที่ กองทุนน้ำมันฯ ยังชดเชยดีเซล(บี20) อยู่ที่ประมาณ 4.16 บาทต่อลิตร ซึ่งหากไม่ชดเชยเลยราคาจำหน่ายอาจขยับขึ้นถึง 26 บาทต่อลิตร ส่วนดีเซล (บี10) ชดเชยอยู่ 2.50 บาทต่อลิตร และดีเซล (บี7) เป็นการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนฯ 1 บาทต่อลิตร ซึ่งจะเห็นว่า ดีเซล (บี7) เป็นน้ำมันหลักที่ทำให้มีเงินไหลเข้ากองทุนฯ

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ราคาน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 100% หรือ บี 100 ยังอยู่ในระดับสูง ล่าสุด ข้อมูลอ้างอิงของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) ณ วันที่ 4 ก.พ.2564 อยู่ที่ 41.62 บาทต่อลิตร จากเดิมเฉลี่ยอยู่ที่กว่า 30 บาทต่อลิตร ในปี 2563 ส่งผลกระทบต่อต้นทุนราคาน้ำมันกลุ่มดีเซล ที่ต้องต้องนำเงินจากกองทุนฯไปชดเชยราคามากขึ้น เพื่อรักษาส่วนต่างระหว่างดีเซล(บี 20) ให้ถูกกว่าดีเซล(บี7) อยู่ที่ประมาณ 3.25 บาทต่อลิตร และดีเซล(บี10) ยังถูกกว่า ดีเซล(บี7) อยู่ที่ 3 บาทต่อลิตร ทำให้กองทุนฯ ยังเกิดปัญหาเงินไหลออก

161249639139

ขณะเดียวกันส่วนต่างราคาระหว่างดีเซล(บี20) กับดีเซล(บี10) ที่แคบลง หรือ ถูกกว่าแค่ 0.25 บาทต่อลิตร ไม่จูงใจให้เกิดการใช้ดีเซล (บี20) ขณะราคาน้ำมันในปัจจุบันอยู่ในระดับที่ไม่แพงนัก ทำให้ผู้ใช้น้ำมันส่วนใหญ่ยังเลือกเติมดีเซล (บี7) ในปริมาณที่สูงอยู่

ดังนั้น สกนช. จึงเตรียมเสนอคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(กบน.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน ในช่วงปลายเดือนก.พ. นี้ พิจารณาแผนปรับลดการชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพ ที่ ตาม พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 กำหนดให้ดำเนินการยกเลิกชดเชยภายในปี 2565 ซึ่ง สกนช.จะเสนอให้ทยอยยกเลิกการชดเชยน้ำมันแต่ละชนิดลง โดยในส่วนของดีเซล จะเสนอให้ยกเลิกจำหน่ายดีเซล(บี20) เป็นอันดับแรก เพราะปัจจุบันยอดจำหน่ายน้อยที่สุด และยังช่วยลดภาระการนำเงินกองทุนฯเข้าไปอุดหนุนราคาด้วย อีกทั้งยังเป็นผลดีต่อผู้ค้าน้ำมันที่จะช่วยลดต้นทุนหัวจ่ายน้ำมันในสถานีบริการ(ปั๊ม)น้ำมัน ที่มีจำนวนหัวจ่ายมากเกินไป

เมื่อเร็วๆนี้นายสุพัฒนพงษ์ ได้สั่งการให้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เตรียมทบทวนแนวทางการปรับโครงสร้างราคาเอทานอลใหม่ ให้มีความเหมาะสมสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง สอดรับกับสถานการณ์การผลิต และความต้องการใช้เอทานอลในตลาดให้มีความสมดุล ป้องกันปัญหาความไม่สมดุลของ Demand และ Supply ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพราคาเอทานอลในอนาคต ก่อนที่จะประกาศให้มีการยกเลิกการใช้แก๊สโซฮอล์ 91 และผลักดันน้ำมันแก๊สโซซอล์ อี20 เป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐานของประเทศ เพื่อลดชนิดของน้ำมันในตลาดให้มีความเหมาะสม

161249641170

แหล่งข่าว กล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่ต้องมีการทบทวนโครงสร้างราคาเอทานอลใหม่ เนื่องจากขณะที่ราคาน้ำมันดิบ อยู่ที่ระดับประมาณ 54-55 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สะท้อนเป็นต้นทุนเนื้อน้ำมันในประเทศ อยู่ที่ประมาณ 12-13 บาทต่อลิตร(ยังไม่รวมภาษีและกองทุนต่างๆ) ขณะที่ราคาเอทานอล ข้อมูลของ สนพ. ณ วันที่ 4 ก.พ.2564 อยู่ที่ประมาณ 24.83 บาทต่อลิตร เมื่อนำมาผสมในแก๊สโซฮอล์ อี20 ก็จะทำให้ราคาต้นทุนที่แท้จริงเกือบทะลุ 40 บาทต่อลิตร แต่การจะส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้แก๊สโซฮอล์ อี20 ก็จะต้องทำให้ราคาถูกกว่าแก๊สโซฮอล์ 95 ดังนั้น จะเป็นภาระต่อการนำเข้าจากกองทุนฯไปอุดหนุนจำนวนมาก

ฉะนั้น มีแนวโน้มสูงที่กระทรวงพลังงาน จะต้องเลื่อนแผนการประกาศให้น้ำมันแก๊สโซฮอล์อี20 เป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐานของประเทศออกไปก่อน จากเดิมจะเริ่มดำเนินการในเดือน ก.ค.2564 ไปเป็นช่วงปี 2565 แทน เพราะหากดูจากไทม์ไลน์การทำงานของกรมธุรกิจพลังงานแล้ว การจะให้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี20 เป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐานของประเทศจะเริ่มจากประกาศหลักเกณฑ์กำหนดลักษณะคุณภาพนํ้ามันเบนซินพื้นฐาน (Gasoline BaseหรือG-Base) ซึ่งจะเป็นการกำหนดสเปก G-Baseใหม่ เบื้องต้นทางกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันในประเทศทั้ง 6 แห่ง ให้การยอมรับแล้ว แต่ยังต้องเสนอกระทรวงพลังงานอนุมัติ 

จากนั้นกรมฯ ต้องใช้เวล่เตรียมการประมาณ 3 เดือน เพื่อออกประกาศร่างกำหนดลักษณะคุณภาพน้ำมันG-Baseใหม่ ให้โรงกลั่นเตรียมพร้อมปรับG-Baseภายในระยะเวลาประมาณ 3 เดือน ก่อนประกาศส่งเสริมให้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี20 เป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐานของประเทศ โดยกระบวนการทั้งหมดนี้ ทางกรมธุริกจฯ ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะจะต้องรอให้ทาง สนพ.ศึกษาโครงสร้างราคาเอทานอลใหม่ให้เสร็จสิ้นก่อน คาดว่าจะมีความชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ดังนั้น กระบวนการผลักดันสู่การส่งเสริมแก๊สโซฮอล์ อี20 ตามไทม์ไลน์ของกรมธุรกิจฯ ที่ต้องดำเนินการภายใน 3-9 เดือนนั้น ก็น่าจะทำให้การประกาศให้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี20 เป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐานของประเทศ จะเกิดขึ้นได้ภายในปี 2565 แทน

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาราคาเอทานอลปรับสูงขึ้นมาก โดยราคาอ้างอิงในเดือน ม.ค.2564 ปรับสูงทะลุระดับ 26 บาทต่อลิตร จากปี 2563 ราคาเฉลี่ย อยู่ที่ประมาณ 21-23 บาทต่อลิตร และมีช่วงเวลาสั้นๆที่ราคาขยับไปแตะ 29 บาทต่อลิตร แต่ทางผู้ผลิตเอทานอลยืนยันว่าระดับราคาดังกล่าวเป็นไปตามวัตถุดิบหลักในการผลิตทั้งมันสำปะหลัง และกากน้ำตาล(โมลาส)ปีนี้มีราคาสูงขึ้นมาก

ทั้งนี้ กำลังการผลิตเอทานอล ปัจจุบันอยู่ที่ 6 ล้านลิตรต่อวัน แต่ผลิตตามความต้องการใช้จริง อยู่ที่กว่า 4 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งผู้ผลิตเอทานอล ยืนยันว่า ปริมาณเอทานอลมีเพียงพอสำหรับส่งเสริมแก๊สโซฮอล์ อี20 เป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐานตามนโยบายรัฐ