'จอห์นสันฯ'ยื่นขอขึ้นทะเบียน'วัคซีนโควิด-19'ในไทย

'จอห์นสันฯ'ยื่นขอขึ้นทะเบียน'วัคซีนโควิด-19'ในไทย

ล่าสุด'จอห์นสันฯ'ยื่นขอขึ้นทะเบียน'วัคซีนโควิด-19'ในไทย ทีมจัดหาเร่งประสานแอสตราฯขอความชัดเจนจัดส่งวัคซีนล็อตแรก 50,000โดสได้เมื่อไหร่ หลังอียูจำกัดการส่งออก ทีมบริหารให้วัคซีนฯจัดระบบเตรียมพร้อมเสร็จภายในกลางเดือน ก.พ.นี้

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรค โควิด 19 กล่าวถึงความคืบหน้าการนำเข้าวัคซีนโควิด19 ของบริษัทแอสตราเซเนกมายังประเทศไทยล็อตแรก 50,000 โดส ว่า ตามแผนการดำเนินการจัดระบบการให้บริการวัคซีนโควิด-19 ยังคงเดินหน้าตามเดิม ซึ่งการจัดระบบเพื่อเตรียมพร้อมรับวัคซีนโควิด-19 จะแล้วเสร็จภายในกลางเดือน ก.พ.นี้


“หากวัคซีนไม่ว่าของบริษัทใดมาถึงก็จะเข้าสู่ระบบการบริการ จัดสรรวัคซีนได้ทันที ส่วนวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทแอสตราเซนเนก้านั้น เดิมทีวางแผนว่าจะมาในช่วงต้นก.พ. แต่เนื่องจากติดปัญหาการจำกัดการขนส่งวัคซีนของอียู จึงทำให้ต้องมีการขยายเวลาออกไป แต่หากมาเมื่อไหร่ก็พร้อมดำเนินการทันที”นพ.โสภณกล่าว


เมื่อถามว่าคาดว่าวัคซีนโควิด-19ของแอสตราฯ จะมาถึงไทยได้เมื่อไหร่ นพ.โสภณ กล่าวว่า ขณะนี้ต้องรอว่า ทางแอสตราฯ จะมีการดำเนินการอย่างไร ซึ่งทางคณะทำงานจัดหาวัคซีนที่มี นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เป็นผู้ประสานติดต่อเรื่องนี้ ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่แค่บริษัทเดียว ประเทศไทยไม่ได้ปิดโอกาส มีการพิจารณาหารือทั้งหมด ทั้งของซิโนแวค และของอื่นๆ อย่างบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ก็มีการพิจารณาหาข้อมูลอยู่ว่า ใช้เข็มเดียว และประสิทธิภาพเป็นอย่างไร เพราะล่าสุดมีข่าวถึงประสิทธิภาพออกมา ก็ต้องมาศึกษาทั้งหมดด้วย รวมทั้งของโนวาแว็กซ์ ก็ต้องพิจารณาเช่นกัน


ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีวัคซีนโควิดซิโนแวค ขณะนี้ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ของจีน จะนำเข้าถึงไทยได้หรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า ทีมก็มีการพิจารณาอยู่ เรื่องนี้ก็ต้องอยู่ที่ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ของไทยว่า จะมีการดำเนินการอย่างไร หากเป็นกรณีฉุกเฉินนำมาใช้ก่อนได้หรือไม่


“ขอย้ำว่าแผนการจัดบริการวัคซีนโควิดยังต้องมี เพื่อรองรับไว้เมื่อวัคซีนโควิดมาถึง ซึ่งไม่ว่าอย่างไรก็ตาม สำหรับวัคซีนโควิด-19 ที่เดิมมีแผนในการผลิตร่วมกับทางแอสตราฯ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ที่ให้ทางบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์เป็นผู้ผลิตยังคงมีอยู่เช่นเดิม โดยแผนเมื่อผลิตก็จะเริ่มฉีดได้ช่วงเดือน มิ.ย.2564” นพ.โสภณ กล่าว


นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า ในระหว่างนี้ที่ยังไม่มีวัคซีนโควิด19 ทาง สธ.ก็มีมาตรการอื่นๆ อย่างระบบการป้องกันบุคลากรก็จะมีหน้ากากอนามัย ทั้งชุดPPE ยา เครื่องมือเวชภัณฑ์ต่างๆ และหากมีวัคซีนมาก็เป็นอีกเกาะอีกชั้นหนึ่งให้บุคลากรมั่นใจ ทั้งลดการเจ็บป่วยรุนแรง และหากลดการแพร่เชื้อได้ก็จะดี เพราะการลดการแพร่เชื้อขณะนี้ยังไม่มีงานวิจัยชัด แต่ไม่ได้หมายความว่า ไม่มี


เมื่อถามว่าการสำรวจความสมัครใจการรับวัคซีนโควิด19 ในบุคลากรมีความคืบหน้าอย่างไร นพ.โสภณ กล่าวว่า กำลังดำเนินการ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 15 ก.พ. 2564 และในวันที่ 4 ก.พ.นี้ รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการโรคติดต่อ จะมีการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับวัคซีน ทั้งของแอสตราฯ และซิโนแวต และภาพรวมทั้งหมดผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ให้บุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ

0 จอห์นสันยื่นขอขึ้นทะเบียนวัคซีนในไทย

   ด้านนพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวว่า ในส่วนวัคซีนซิโนแวคนั้น ยังยื่นเอกสารไม่ครบ อย่างไรก็ตาม แม้วัคซีนนี้จะยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศจีน แต่หากผู้เชี่ยวชาญในประเทศไทยพิจารณาแล้วพบว่ามีความปลอดภัย ประสิทธิภาพ และคุณภาพก็สามารถอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนในประเทศไทยก่อนได้

“ ขณะนี้มีบริษัทที่เป็นผู้แทนริษัท จอห์นสันแอนด์จอห์นสันในประเทศไทยได้ยื่นเอกสารเพื่อขอขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19แล้ว แต่ยังยื่นเอกสารไม่ครบ โดยระหว่างนี้ผู้เชี่ยวชาญจะมีการอ่านเอกสารที่ยืนมาแล้วก่อน แต่จะพิจารณาต่อเมื่อมีการยื่นเอกสารครบตามที่กำหนดภายใน 30 วันที่มีการยื่นเอกสารครบ ส่วนบริษัทอื่นๆยังไม่มีการยื่นขอขึ้นทะเบียน ไม่ว่าจะเป็น สปุตนิก หรืออื่นๆ”นพ.สุรโชคกล่าว