การรถไฟฯ ลุยศึกษาปรับโฉมสถานีหัวลำโพง หลังหยุดเดินรถ พ.ย.นี้

การรถไฟฯ ลุยศึกษาปรับโฉมสถานีหัวลำโพง หลังหยุดเดินรถ พ.ย.นี้

ร.ฟ.ท. เตรียมศึกษาแนวทางใช้ประโยชน์สถานีหัวลำโพง หลังเตรียมปิดตำนานหยุดเดินรถไฟชานเมืองสิ้นสุดสถานีบางซื่อในเดือน พ.ย.นี้ เผยพื้นที่ศักยภาพสูง โอกาสต่อยอดคอมมูนิตี้มอลล์ - โรงแรม

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)​ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด)​ ร.ฟ.ท. วันนี้ (29 ม.ค.) โดยระบุว่า หลังจากที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้ ร.ฟ.ท.ไปทบทวนเรื่องแผนการพัฒนาพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ก่อนการเปิดให้บริการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ในเดือน พ.ย. 2564 ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างทบทวนและจัดทำแผนเดินรถ รวมไปถึงให้บริการผู้โดยสาร ซึ่งขณะนี้ยืนยันว่าจะดำเนินการปิดสถานีรถไฟหัวลำโพงในเดือน พ.ย.นี้

“ก่อนหน้านี้การรถไฟฯ ได้มีการศึกษาแผนการพัฒนาพื้นที่หัวลำโพงไว้แล้วตั้งแต่ปี 2555-2556 หรือประมาณ 10 ปีแล้ว การรถไฟฯ จึงต้องมีการนำแผนดังกล่าวมาศึกษาใหม่ และต้องดูว่าจะปรับให้เหมาะสมกับปัจจุบันได้อย่างไรบ้าง แต่ตอนนี้ยืนยันว่าจะดำเนินการตามนโยบายที่จะต้องหยุดเดินรถเข้ามาสถานีหัวลำโพงในเดือน พ.ย.นี้”

นายนิรุฒ กล่าวอีกว่า เมื่อทุกอย่างเข้าที่แล้วจะไม่มีขบวนรถไฟเข้ามาใช้บริการสถานีหัวลำโพง แม้แต่ขบวนที่ต้องเข้ามาซ่อมบำรุง หรือล้างทำความสะอาด ก็จะไม่เดินรถเข้ามาในช่วงทำการ แต่หากมีความจำเป็นจะเดินรถเข้ามาได้เพียงเวลา 22.00 – 04.00 น.เท่านั้น  เพื่อไม่ให้เป็นผลกระทบต่อการจราจรอย่างที่เคยเป็นมา

ส่วนการพัฒนาสถานีหัวลำโพงเมื่อไม่มีการให้บริการรถไฟชานเมืองแล้ว ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างการศึกษานำพื้นที่ดังกล่าวไปปรับปรุงใช้ประโยชน์ ซึ่งก่อนหน้านี้มีการศึกษาพัฒนาสถานีหัวลำโพงเป็นพิพิธภัณฑ์การรถไฟฯ แต่ด้วยศักยภาพของสถานีหัวลำโพง ร.ฟ.ท.ยังเห็นโอกาสที่จะศึกษาพัฒนาเป็นคอมมูนิตี้มอลล์ ห้างสรรพสินค้า หรือโรงแรม ซึ่งสามารถดำเนินการได้แต่ต้องศึกษารายละเอียดให้ชัดเจนก่อน ยังไม่ได้ยึดติดว่าต้องเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปของการพัฒนา

ส่วนกรณีของการปิดสถานีหัวลำโพงที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางมายังสถานีที่ถูกปิดระหว่างทางมาหัวลำโพงนั้น ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกระทรวงคมนาคม เพื่อจัดทำแผนแก้ไขปัญหา ซึ่งอาจมีการนำเอาฟีดเดอร์ประเภทอื่นมารองรับการเดินทาง เช่น รถโดยสารประจำทาง

โดยจากการตรวจสอบพบว่าปริมาณการเดินทางของประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบ อาทิ ประชาชนที่เดินทางมาจากสายตะวันออก จากเดิมที่มีจุดสิ้นสุดที่สถานีหัวลำโพง เมื่อจำเป็นต้องยกเลิกสถานีหัวลำโพง ความเหมาะสมของสถานีที่จะหยุดเดินรถเป็นสถานีสุดท้าย ขณะนี้คือสถานีมักกะสัน เนื่องจากเป็นสถานีที่ใกล้กับการเชชื่อมต่อระบบขนส่งอื่นๆ มาที่สุด อีกทั้งยังพบว่ามีประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เพราะปัจจุบันจากสถานีมักกะสัน เดินทางมายังสถานีหัวลำโพง มีประมาณ 2-3 พันคนต่อวันเท่านั้น