เงินชดเชย 'ว่างงาน' จากโควิด-19 'กระทรวงแรงาน' แจงยิบเพียงพอหรือไม่?

เงินชดเชย 'ว่างงาน' จากโควิด-19 'กระทรวงแรงาน' แจงยิบเพียงพอหรือไม่?

"กระทรวงแรงาน" แจงยิบเงินชดเชย "ว่างงาน" จากเหตุโควิด-19 เพียงพอหรือไม่? หลังจากรอบแรกเมื่อปี 2563 ได้จ่ายเงินชดเชยไปแล้วกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงมาตรการชดเชยการว่างงานจากเหตุสุดวิสัย (โรคระบาด) ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ทำให้ "คณะกรรมการควบคุมโรค" แต่ละจังหวัดออกมาตรการในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาด โดยมีคำสั่งให้หยุดกิจการบางกิจการ รวมถึงกักตัวผู้ใช้แรงงานที่มีภาวะสุ่มเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ทำให้เกิดการหยุดงาน

โดยกระทรวงแรงงานได้ประชุมหารือถึงข้อสรุปที่ว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์ต้องหยุดกิจการ จะกระทบกับผู้ใช้แรงงานเบื้องต้นแน่นอน เช่นเดียวกันการแพร่ระบาดครั้งแรกเมื่อปี 2563 ได้มีการเยียวยาผู้ใช้แรงงาน แต่กฎกระทรวงในการช่วยเหลือเยียวยาได้หมดระยะเวลาไปเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2563 กระทรวงแรงงานจึงรีบออกกฎกระทรวงเพื่อมาเตรียมรองรับผลกระทบในครั้งนี้ 

สัปดาห์ที่ผ่านมา "บอร์ดประกันสังคม" อนุมัติกฎกระทรวงที่จะต้องใช้ "เงินกองทุนประกันสังคม" ในการเยียวยาให้กับผู้ประกันตนที่จะต้องขาดรายได้ และได้ผ่านมติ ครม.แล้ว คือ "ชดเชยการว่างงานจากเหตุสุดวิสัย (โรคระบาด)" โดยจะจ่ายเงินให้ 50% ของฐานเงินเดือน แต่ไม่เกิน 15,000 บาท รวมระยะเวลาทั้งหมดไม่เกิน 90 วัน ภายใต้เงื่อนไขสำคัญคือ เป็นคำสั่งของคณะกรรมการควบคุมโรคในแต่ละจังหวัดสั่งหยุดกิจการ หรือขอความร่วมมือหยุดกิจการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 

เบื้องต้นกระทรวงการคลังได้ได้ทำข้อมูลแล้วจากคำสั่งของคณะกรรมการควบคุมโรค 28 จังหวัดที่ออกมา นำมาคีย์เขาสู่ระบบประกันสังคมว่ามีจังหวัดไหนบ้าง ธุรกิจอะไรบ้าง แล้วก็มีบริษัทอะไรบ้างที่เข้าข่าย

ทั้งนี้จากข้อมูลพบว่า ปัจจุบันสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งของคณะกรรมการควบคุมโรคที่ขอความร่วมมือให้หยุดกิจการมีประมาณ 6,098 แห่ง จำนวนผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบประมาณ 103,800 คน จากผู้ประกันตนในระบบกองทุนประกันสังคมประมาณ 12 ล้านคน คิดเป็นเงินประมาณการที่กองทุนประกันสังคมเตรียมสำหรับชดเชยอยู่ที่ 2,321 ล้านบาท ซึ่งเป็นประมาณการคร่าวๆ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่า หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2563 การเยียวยาในครั้งที่แล้วได้จ่ายเงินชดเชยผู้ว่างงานจากเหตุสุดวิสัยจากโรคแพร่ระบาดประมาณ 950,000 คน เป็นวงเงิน 15,000 กว่าล้านบาท ซึ่งครั้งนี้พร้อมที่จะดูแลผู้ประกันตน ถ้ามีคำสั่งให้หยุดกิจการจังหวัดไหน หรือเพิ่มเติมอย่างไรก็พร้อมที่จะดูแล ขอให้ประชาชนมั่นใจในส่วนนี้

"เงินชดเชยการว่างงานจากเหตุสุดวิสัย (โรคระบาด) น้ีป็นเงินที่อยู่ในกองทุนว่างงาน ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 150,000 ล้านบาท ใช้ไปครั้งที่แล้ว วงเงิน 15,000 กว่าล้านบาท ยังเหลืออยู่มาก"

สำหรับขั้นตอนในการที่จะขอรับประโยชน์ทดแทนการว่างงานเหตุสุดวิสัยในครั้งนี้ จะทำให้รวดเร็วขึ้น ไม่เหมือนกับครั้งที่แล้ว โดยลูกจ้างยื่นแบบกรอกรับผลประโยชน์ทดแทน สปส. 2-01/7 และนำไปส่งให้กับนายจ้าง พร้อมแนบสำเนาสมุดบัญชีเงินฝาก ซึ่งขอขอให้ผู้ประกันตนกรอกเบอร์โทรศัพท์และเลขที่บัญชีให้ถูกต้อง เพราะถ้าผิด จะทำให้เสียเวลาในการรีเช็ค

เมื่อยื่นนายจ้างเสร็จ นายจ้างจะเป็นผู้เซ็นรับรองว่ากิจการได้หยุดจริง และนำเอกสารทั้งลูกจ้างและนายจ้างส่งโดยบันทึกลงในระบบ e-service เมื่อคีย์ระบบเสร็จ ทางประกันสังคมจะทำการประมวลผลในการที่จะจ่ายเงิน หากเอกสารครบทุกอย่างขั้นตอน จะจ่ายเงินภายใน 5 วันทำการ ให้กับลูกจ้าง ผู้ประกันตนที่มีผลกระทบจากการว่างงาน