วิกฤต คือโอกาสของ 'อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย'

วิกฤต คือโอกาสของ 'อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย'

เทคโนโลยีที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับกิจกรรมต่างๆ ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ทัง AI, IoT, VR, AR หรือ Cloud นอกจากช่วยอำนวยความสะดวกและสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้า ยังมีผลลัพธ์ที่สำคัญคือการได้มาซึ่ง Data สิ่งเหล่านี้จะช่วยเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส

วันนี้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลกยังคงได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศไทยที่รายได้สำคัญมาจากภาคการท่องเที่ยว ในเมื่อการเดินทางระหว่างประเทศยังไม่สามารถกลับมาเป็นปกติ หลายประเทศจึงหันไปกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศแทน

และถึงแม้ประเทศไทยจะมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวบางส่วนและมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศมาได้ระยะหนึ่งแล้ว แต่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็ยังฟื้นตัวไม่มากในหลาย ๆ จังหวัด เนื่องจากนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังติดข้อจำกัดในการเดินทาง รวมถึงมีความกังวลด้านสุขพลานามัย ส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวในช่วงเดือน มกราคม ถึงกันยายน 2563 เหลือเพียง 655,000 ล้านบาท ลดลงไป 1.57 ล้านล้านบาท คิดเป็นลดลงไป 70.57% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ผลสำรวจ GoLocal Survey จาก Agoda ที่ทำการสำรวจใน 8 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย, ไทย, ไต้หวัน, อินโดนีเซีย, เกาหลีใต้, ซาอุดีอาระเบีย, เวียดนาม, และสหรัฐอเมริกา พบว่า มีสัดส่วนการท่องเที่ยวในประเทศมากถึง 65% และอีก 35% เป็นการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ

โดยเฉพาะในประเทศไทย พบว่ามีการเที่ยวในประเทศสูงถึง 78% ซึ่งจากข้อมูลการค้นหาของผู้ใช้งานทั่วโลกยังพบว่า ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่ถูกค้นหามากที่สุดเป็นอันดับ 2 สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวไปจนถึงสิ้นปี 2563 อีกด้วย จะเห็นได้ว่าท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 และสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ “ประเทศไทย” ยังคงเป็น "Top of Mind" จุดหมายที่อยู่ในใจของคนทั่วโลก

วันนี้นอกจากการพึ่งพามาตรการภาครัฐที่มีประสิทธิภาพแล้ว ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องยังต้องโฟกัสในการสร้างความมั่นใจด้านสุขอนามัยและการอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวและผู้มาใช้บริการ นอกจากนี้ผลสำรวจยังพบอีกว่า 39% ของนักท่องเที่ยวชาวไทยคาดว่าจะสามารถใช้แอพพลิเคชั่นเพื่อบริหารจัดการและตอบสนองทุกความต้องการในการเดินทางและท่องเที่ยวได้ ทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องกลับมาดูว่าธุรกิจการท่องเที่ยวของเราควรนำเทคโนโลยีใดมาใช้เพื่อสามารถตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวดังกล่าวได้

ประเทศจีน เป็นตัวอย่างที่น่าจับตามองในการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งบริษัท China Mobile ร่วมกับบริษัทในท้องถิ่นในมณฑลยูนาน ได้สร้าง Smart City โดยการใช้เทคโนโลยี 5G เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ เนื่องจากมณฑลยูนนานเป็นจุดหมายปลายทางยอดฮิตในการเที่ยวในประเทศของนักท่องเที่ยวชาวจีน และประสบปัญหานักท่องเที่ยวแออัดเกินไปในช่วง High Season อยู่บ่อยๆ ทำให้สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ไม่เพียงพอ เช่น ห้องน้ำ รถทัวร์โดยสาร รวมถึงการจำกัดจำนวนคนเข้าชมตามสถานที่ต่างๆ จึงได้พัฒนา Platform ที่มาช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้

โดยนักท่องเที่ยวสามารถเปิดแอพพลิเคชั่นเพื่อค้นหาห้องน้ำที่ใกล้ที่สุด และยังสามารถดูได้ว่ามีคนรอต่อคิวจำนวนกี่คน มีการสร้าง Cloud Platform ที่ช่วยให้บริษัททัวร์สามารถตรวจสอบสภาพการจราจร จำนวนที่จอดรถในแหล่งท่องเที่ยวและที่โรงแรม ระบบการจองตั๋ว และฟังก์ชันอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เช่น การตรวจจับความเร็วและความปลอดภัยในการขับขี่ของรถทัวร์จากชิพ IoT และเทคโนโลยี VR ตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ สำหรับที่ที่นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางเข้าไปถึงได้เนื่องจากประชากรแออัด หรือมุมอื่นๆ ที่โดยทั่วไปไม่สามารถเข้าไปชมทิวทัศน์ในมุมนี้ได้ เช่น การชมทะเลหมอกในมุมสูง เป็นต้น

เราได้เห็นโรงแรมหลายแห่งปิดกิจการชั่วคราว เลิกจ้างพนักงาน ลดเวลาการจ้าง ไปจนถึงปิดกิจการถาวรไปบ้าง ในขณะที่อีกหลายแห่งประสบความสำเร็จในการปรับตัวจนสามารถอยู่รอดได้ เช่น โรงแรมในเครือ Hyatt ที่มีทั้งโรงแรมและรีสอร์ทกว่า 900 แห่งทั่วโลก ได้ปรับตัวครั้งยิ่งใหญ่และผสมผสานประสบการณ์ใหม่ที่ลูกค้าสัมผัสได้

เช่น ให้บริการ "พิธีแต่งงานแบบไฮบริด" ที่ภายในโรงแรมมีเฉพาะคู่บ่าวสาว กับบาทหลวงที่เกี่ยวข้องกับพิธี ในขณะที่แขกส่วนใหญ่ที่มาร่วมงานให้เข้าร่วมผ่านทาง Streaming แทน ซึ่งนอกจากจะช่วยเรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคมแล้ว ยังเป็นการอำนวยความสะดวกแก่แขกที่ไม่สามารถเดินทางมาร่วมงานได้ และเนื่องด้วยจำนวนแขกที่เข้ามาในงานน้อยลงยังทำให้ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจัดงานไปได้มาก

นอกจากนี้ทาง Hyatt ยังทำการ "ห้องอาหารบุฟเฟ่ต์ในโรงแรม" ที่ได้รับความนิยมมากมาตลอด โดยจะเปลี่ยนจากการตักอาหารด้วยตัวเอง มาเป็นการเลือกเมนูที่อยากลองกินผ่านแอพพลิเคชั่นของโรงแรมแทน จากนั้นพนักงานจะมาเสิร์ฟให้ถึงโต๊ะอาหาร เพื่อลดโอกาสการแพร่กระจายของเชื้อโรคและสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการ เป็นต้น

เทคโนโลยีที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็น AI, IoT, VR, AR หรือ Cloud นอกจากช่วยอำนวยความสะดวกและสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้าแล้ว ยังมีผลลัพธ์ที่สำคัญเกิดขึ้นคือการได้มาซึ่ง ‘Data’ ทุกครั้งที่เราเดินทางโดยพกสมาร์ทโฟนไปด้วยนั้น เราก็ได้สร้างข้อมูลขึ้นมาแล้วแม้ว่าจะไม่ได้ยกสมาร์ทโฟนขึ้นมากดก็ตาม ข้อมูลจะบันทึกไว้ว่าเราเดินทางจากไหนและไปที่ไหนบ้าง จุดหมายประเภทใดที่ไปบ่อยๆ ไปจนกระทั่งข้อมูลจากระบบ CCTV ระบบอ่านป้ายทะเบียนรถยนต์ระบบเหล่านี้สร้างข้อมูลขึ้นมา เพียงแค่สัญจรอยู่บนท้องถนนตัวเราก็ถือได้ว่าป้อนข้อมูลบางอย่างให้กับระบบโดยรวมแล้ว

ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นหัวใจสำคัญในการนำมาประมวลผลและประยุกต์ใช้กับภาคส่วนต่างๆ ในการทดลองสิ่งใหม่ๆ บ่อยครั้งที่องค์กรมีความคิดทำสิ่งใหม่ๆ แต่ถูกปัดตกด้วยคำว่า ‘เป็นไปไม่ได้’ หรือ ‘ไม่มีใครมาใช้บริการใหม่นี้หรอก’ สิ่งที่ผมมักถามกลับไปคือหากมีลูกค้าเริ่มใช้งานแม้เพียงหนึ่งคน ก็ถือว่ามีคนใช้บริการแล้วหรือไม่?

แน่นอนการจะตอบคำถามว่าบริการนี้คุ้มค่าต่อการลงทุนทำหรือไม่ได้นั้น จำนวนผู้ใช้บริการที่แม้จะเริ่มต้นด้วยจำนวนที่น้อย แต่หากคุ้มค่าต่อการทดลองทำเพื่อพิสูจน์ตัวเลขดังกล่าวด้วย ‘Data จริง’ ย่อมเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับการอยู่รอดในภาวะวิกฤติของอุตสาหกรรมเช่นนี้ครับ