บุกทวงถาม ผลสอบเอาผิด 'รฟม.-คกก.คัดเลือกรถไฟฟ้าสีส้ม' เหตุเปลี่ยน TOR จนศาลสั่งคุ้มครองฯ

"ศรีสุวรรณ" บุกกรมสอบสวนคดีพิเศษ ทวงถามผลสอบเอาผิด รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกรถไฟฟ้าสีส้ม กรณีเปลี่ยน "ทีโออาร์" จนศาลสั่งคุ้มครองฯ

วันนี้ (21 ธ.ค.) เวลา 10.00 น. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ (DSI) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมายื่นหนังสือเพื่อทวงถามความคืบหน้า กรณีที่สมาคมร้องเรียนเอาผิด คณะกรรมการคัดเลือกฯ ตาม ม. 36 แห่ง พรบ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และ รฟม. ที่ได้มีมติเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2563 เห็นชอบเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขเอกสารประกวดราคาใหม่ (TOR) หลังจากที่มีการขายซองประกวดราคาไปแล้ว อันเป็นข้อพิรุธที่ส่อไปในทางใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมายนั้น

160853308143

ล่าสุด มีบริษัทเอกชนที่เป็นผู้มีส่วนได้เสีย ในการเข้าร่วมแข่งขันประกวดราคา ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ 2280/2563 และต่อมาศาลได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2563 ที่ผ่านมา ให้ทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ที่แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพื่อร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

เนื่องจากศาลฯ เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) แม้คณะกรรมการคัดเลือกฯและ รฟม. ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมีอำนาจที่จะสามารถกระทำได้ แต่ต้องไม่เกินขอบอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ประกอบกับในการแก้ไขหลักเกณฑ์ครั้งนี้สืบเนื่องมาจากมีข้อเรียกร้องจากเอกชนผู้ซื้อซองอีกราย ที่มีสิทธิที่จะเข้าแข่งขันในการเสนอราคาในครั้งนี้

ในชั้นนี้ศาลจึงเห็นว่า กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม และการแก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 โดยใช้การประเมินซองที่ 2 และซองที่ 3 รวมกันแบ่งสัดส่วนเป็นคะแนนซองที่ 2 จำนวน 30 คะแนน และคะแนนซองที่ 3 จำนวน 70 คะแนน จึงเป็นคำสั่งที่น่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความไม่ชอบด้วยกฎหมาย

160853311146

คำสั่งของศาลปกครอง จึงเป็นหลักฐานที่ชี้ชัดว่าการใช้อำนาจของคณะกรรมการคัดเลือกตาม ม. 36 แห่ง พรบ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 และ รฟม. เป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เข้าข่ายความผิดหลายประการที่ส่อไปในทางที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจและการคลังของประเทศ และที่สำคัญเป็นเหตุให้การเปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มต้องล่าช้าออกไป ทำให้ประชาชนเสียโอกาสในการใช้รถไฟฟ้าล่าช้าไปอีกด้วย ซึ่งมีผลมาจากการใช้อำนาจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของคณะกรรมการคัดเลือกตาม ม.36 และ รฟม.ทั้งสิ้น

160853312881

"สมาคมฯ จึงนำคำสั่งศาลมามอบให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI และทวงถามความคืบหน้าในการสอบสวนเอาผิดคณะกรรมการคัดเลือกฯที่กล้าเปลี่ยน TOR รถไฟฟ้าสายสีส้ม และ รฟม.ที่บังอาจกระทำการดังกล่าวด้วย" นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด