‘ททท.’ เข้มมาตรการรับมือโควิด สร้างความเชื่อมั่นท่องเที่ยวไทย

‘ททท.’ เข้มมาตรการรับมือโควิด  สร้างความเชื่อมั่นท่องเที่ยวไทย

ประเด็นความกังวลต่อการระบาดรอบ 2 ของโรคโควิด-19 ภายในประเทศยังคงทำให้นักท่องเที่ยวบางส่วนไม่มั่นใจในการออกเดินทาง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวกลุ่มครอบครัว กลุ่มผู้สูงวัยที่ค่อนข้างอ่อนไหวกับเรื่องของสุขภาพมากๆ รวมถึงกลุ่มองค์กรที่เดินทางเป็นหมู่คณะ

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จึงต้องเข้ามามีบทบาทในการสร้าง “ความเชื่อมั่น” แก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยอีกครั้งผ่านมาตรการต่างๆ ด้านสุขอนามัย เพื่อให้นักท่องเที่ยวรู้สึกวางใจ กล้าออกเดินทาง สร้างความคึกคักให้กับเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 ที่กัดกินมายาวนานร่วม 1 ปี

ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เล่าถึงแนวทางการสร้างความเชื่อมั่นว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือ “การท่องเที่ยววิถีใหม่” (New Normal) นักท่องเที่ยวไม่สามารถทำแบบเดิมๆ ได้ ให้ท่องคาถาของ ททท.เมื่อต้อง “เที่ยวทั่วไทย” ทำทุกครั้งเมื่อออกเดินทางเอาไว้ นั่นคือ “ใส่หน้ากาก การ์ดไม่ตก พกเจลล้างมือ และถือระยะห่างทางสังคม” หากทุกคนร่วมกันปฏิบัติตามทั้ง 4 ข้อนี้ จะเที่ยวที่ไหนก็เชื่อมั่นได้ว่ามีความปลอดภัย

ยิ่งช่วงปลายปีมีการจัดกิจกรรมและอีเวนท์มากมายเพื่อต้อนรับบรรยากาศส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ทาง ททท.เองก็มีทั้งอีเวนท์ที่จัดเองและให้การสนับสนุน โดยสิ่งที่ ททท.ได้เน้นย้ำตลอดคือการปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเข้มข้นและเคร่งครัด 2 เรื่อง ได้แก่ “การจำกัดจำนวนคน” และ “การเว้นระยะห่างทางสังคม” ร่วมกับคำแนะนำอื่นๆ ของคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดนั้นๆ กับนโยบายของรัฐบาล

เมื่อมีการจำกัดจำนวนคนและการเว้นระยะห่างทางสังคมในกิจกรรมหรืออีเวนท์ ก็ทำให้มีการกระจายตัวมากขึ้นในเชิงราบ (Linear) เช่น จากเคยจัดงานที่ความจุ 1 หมื่นคนต่องาน ต้องลดความจุเหลือ 5 พันคนต่องาน ททท.ก็ต้องสนับสนุนให้มีการจัดงานในพื้นที่อื่นๆ เพื่อให้เกิดการกระจายตัวของนักท่องเที่ยวมากขึ้นเพื่อลดความแออัด แต่ยังรองรับนักท่องเที่ยวได้เท่ากับจำนวนเดิมเหมือนภาวะปกติก่อนวิกฤติโควิด-19 ถือกำเนิด

“สิ่งสำคัญที่สุดไม่ได้อยู่ที่ผู้จัดงาน แต่อยู่ที่นักท่องเที่ยวจะปฏิบัติตัวอย่างไรมากกว่า และยอมรับความเข้มข้นของมาตรการด้านสาธารณสุขได้หรือไม่”

ทั้งนี้ ททท.มองด้วยว่าการจัดงานภายใต้มาตรการด้านสาธารณสุขที่เข้มงวด จะเป็นนิวนอร์มอลเพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะไม่เกิดการกลับมาระบาดซ้ำของโรคโควิด-19 เพราะความเสี่ยงที่เกิดจากการรวมกันของคนหมู่มาก เพราะบางทีทางผู้จัดงานก็ไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมด นักท่องเที่ยวในฐานะผู้เข้าร่วมกิจกรรมหรืออีเวนท์จึงมีความจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงไปจุดที่คนแออัดมากๆ ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้การจัดงานของภาคการท่องเที่ยวสามารถจัดต่อไปได้

“เพราะหากมีการจัดงานแล้วเกิดต้องยกเลิกไป ก็สร้างความเสียหายในทุกส่วน ทั้งตัวนักท่องเที่ยวเองที่ต้องกลับก่อนกำหนด เสียค่าใช้จ่ายไปเปล่าๆ ทั้งที่วางแผนเดินทางท่องเที่ยวไว้แล้ว โดยกรณีในต่างประเทศที่มีการระบาดซ้ำก็มีให้เห็นเป็นตัวอย่าง เป็นการส่งสัญญาณเตือนให้เราต้องยกการ์ดสูงไว้ก่อน”

และหนึ่งในมาตรการรับมือโควิด-19 ที่จะมาช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่ภาคท่องเที่ยวไทยของ ททท.คือ “โครงการยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย” หรือ “Amazing Thailand Safety & Health Administration : SHA” โดยความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และภาคเอกชนเพื่อยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมท่องเที่ยวควบคู่มาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย

“มาตรฐาน SHA คือความตั้งใจของ ททท.ที่จะสร้างความเชื่อมั่นและมั่นใจให้แก่นักท่องเที่ยวหรือผู้มาใช้บริการหลังจากสถานการณ์โควิด-19 อยู่ในระดับที่ปลอดภัยสำหรับการเดินทาง ด้วยการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้ดำเนินการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงทั้งด้านการบริการและด้านสุขอนามัยให้เป็นไปตามมาตรการทางสาธารณสุข”

สำหรับกิจการที่สามารถขอรับมาตรฐาน SHA แบ่งเป็น 10 ประเภทกิจการ ดังนี้ 1. ประเภทภัตตาคาร/ร้านอาหาร 2. ประเภทโรงแรม/ที่พักและสถานที่จัดประชุม 3. ประเภทนันทนาการและสถานที่ท่องเที่ยว 4. ประเภทยานพาหนะ 5. ประเภทบริษัทนำเที่ยว 6. ประเภทสุขภาพและความงาม 7. ประเภทห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้า 8. ประเภทกีฬาเพื่อการท่องเที่ยว 9.ประเภทการจัดกิจกรรม การจัดประชุม (MICE) โรงละคร โรงมหรสพ และ 10. ประเภทร้านค้าของที่ระลึกและร้านค้าอื่นๆ

โดยได้มีมาตรฐานเบื้องต้นจากกรมควบคุมโรคของทุกสถานประกอบการ มี 3 องค์ประกอบ ได้แก่ 1.สุขลักษณะอาคารและอุปกรณ์เครื่องใช้ที่มีอยู่ในอาคาร 2.การจัดอุปกรณ์ทำความสะอาดเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค และ 3.การป้องกันสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ทั้งนี้มีรายละเอียดของมาตรฐานเฉพาะประเภทกิจการเพิ่มเติม โดยผู้ที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานจะได้รับตราสัญลักษณ์ SHA ต่อไป

และนับตั้งแต่เปิดตัวมาตรฐาน SHA เมื่อเดือน พ.ค.2563 จากข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา มีสถานประกอบการท่องเที่ยวลงทะเบียนแล้ว 9,587 แห่ง และผ่านเกณฑ์มาตรฐานได้รับตราสัญลักษณ์ SHA แล้ว 7,665 แห่ง โดยอยู่ในกรุงเทพฯมากที่สุด 2,514 แห่ง ตามมาด้วยภูเก็ต 1,126 แห่ง และเชียงใหม่ 863 แห่ง

สะท้อนถึงชื่อเสียงของมาตรฐาน SHA ที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวต่างต้องการเข้าร่วมโครงการเพื่อรับตราสัญลักษณ์จำนวนมาก และพร้อมจะดำเนินตามมาตรฐานอย่างเข้มข้นเพื่อไม่ให้ภาคท่องเที่ยวถูกครหาว่าเป็นสาเหตุการระบาดซ้ำของโรคโควิด-19