ไทยเร่งชิง“ตู้สินค้า” ผวาทำภาคส่งออกสะดุด

ไทยเร่งชิง“ตู้สินค้า”  ผวาทำภาคส่งออกสะดุด

ปัญหาการขาดแคลน“ตู้สินค้า” หรือตู้คอนเทนเนอร์ กำลังทำให้ภาคการส่งออกไทย“สะดุด”เพราะแม้ตลาดต้องการสินค้าไทยแต่หากไทยไม่มีความสามารถขนส่งสินค้าได้ ความพยายามต่างๆที่ผ่านมาก็มีค่าเท่ากับศูนย์

พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะนายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า ภาวะขาดแคลนตู้สินค้าเริ่มมีมาตั้งแต่เดือนมิ.ย. สาเหตุมาจากจากตู้คอนเทนเนอร์ไปค้างอยู่ที่ประเทศสหรัฐกับสหภาพยุโรป และทั้งสองท่านี้ไม่ได้ส่งออกสินค้าเพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19จึงเกิดการตกค้าของตู้สินค้า ขณะที่จีนกับเวียดนามสามารถที่จะดึงตู้เปล่าอยู่ในประเทศได้มาก ทำให้ยิ่งขาดแคลน ดังนั้น ไทยจำเป็นต้องเร่งแก้ปัญหาเพื่อไม่ให้กระทบต่อการส่งออกไทย 

“การส่งออกไทยมีสัดส่วนมากขึ้นเมื่อเทียบกับการนำเข้าคิดเป็นสัดส่วนถึง 22 % สะท้อนให้เห็นว่า ตู้สินค้านำเข้าลดน้อยลงเรื่อยๆ และการนำเข้าตู้เปล่าจากสายเดินเรือก็มีค่าบริการแพง”

160795047057

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมการค้าภายใน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ลงพื้นตรวจเยี่ยมท่าเรือคลองเตย กรุงเทพและประชุมร่วมกับผู้ประกอบการส่งออก เช่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.)  สามารถกำหนดแนวทางแก้ปัญหาได้ 6 แนวทางดังนี้ 

1.กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.) และภาคเอกชนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาลู่ทางในการเร่งนำตู้เปล่าเข้ามาให้พอกับการใช้บรรจุสินค้าส่งออก 2.นำตู้เก่ามาซ่อมแซมในประเทศเพื่อใช้บรรจุสินค้าเพื่อการส่งออก โดยให้ความช่วยเหลือให้นำเข้าตู้เปล่าและตู้เก่าให้สะดวกรวดเร็ว

 3.หาทางเพิ่มช่องทางการส่งออกโดยไม่ใช้ตู้ เช่น ใช้เรือสินค้าทั่วไป 4.สนับสนุนช่วยเหลือ SME ซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายย่อย ให้รวมตัวกันจองตู้ล่วงหน้าผ่านสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ 5.เร่งดำเนินการหาลู่ทางให้เรือที่มีขนาดความยาว 400 เมตรสามารถเข้าท่าที่แหลมฉบังได้แทนที่จะอนุญาตเฉพาะเรือ 300 เมตร ในปัจจุบัน เพื่อให้การส่งออกการนำเข้าสามารถบรรทุกสินค้าได้มากขึ้น และ 6.ให้หามาตรการในการลดต้นทุนการนำเข้าตู้เปล่า

ในส่วนของปัญหาค่าบริการภายในประเทศ(Local Charge) นั้นเพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการที่ประชุมเห็นว่า จะร่วมมือกับการท่าเรือแห่งประเทศไทยและภาคเอกชนในการหาทางลดค่าบริการในประเทศ ปัจจุบันเฉลี่ยตู้ขนาด 20 ฟุต ประมาณ 1,800 บาทต่อตู้ สำหรับภาครัฐ โดยกทท.จะไปหาลู่ทางปรับลดเพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออก และการนำเข้าตู้เปล่าหรือตู้เก่าเข้ามา ช่วยรับภาระได้ 6 เดือนหรือตั้งแต่เดือนม.ค.-มิ.ย. 2564

สำหรับปัญหาการจองพื้นที่ตู้หรือการจองตู้ที่บางครั้งถูกเลื่อนหรือถูกยกเลิก เป็นปัญหากับผู้ส่งออก ได้ขอให้สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เข้ามารับภาระในการรับเรื่องร้องเรียนจากภาคเอกชนที่ประสบปัญหาซึ่งหากผู้ร้องเรียนมีหลักฐานพร้อมและมายื่นร้องก็จะดำเนินการพิจารณาให้เสร็จภายใน 30 วัน

นอกจากนี้ในส่วนค่าบริการอื่นๆที่สร้างภาระเกินสมควร ทางกรมการค้าภายในจะใช้กฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการพ.ศ. 2452 เข้ามากำกับดูแล ซึ่งวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ได้ให้ผู้ประกอบการขนส่งสินค้า 

สมาคมโลจิสติกส์ สายเดินเรือ สมาคมชิปปิ้งแห่งประเทศ แจ้งอัตราค่าบริการต่างๆให้กับกรมการค้าภายในเพื่อประกอบการพิจารณาว่าอัตราค่าบริการมีความเหมาะสมหรือไม่

คงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) กล่าวว่า ข้อสรุป 6 ข้อถือว่าแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง เพราะปัญหาตู้สินค้าขาดแคลนเป็นปัญหาเรื่องดีมานด์ ซัพพลาย ที่เป็นปัญหาทั่วโลก ดังนั้นประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไปคือ การพิจารณาอัตราค่าบริการ หรือค่าธรรมเนียมต่างๆ ของการท่าเรือฯที่เก็บจากผู้ส่งออก ที่ต้องช่วยแบ่งเบาภาระผู้ส่งออกในช่วงที่ประสบปัญหาอยู่ในขณะนี้ ทำให้สามารถประคองธุรกิจให้อยู่รอดไปได้ ซึ่งทางการท่าเรือก็รับไปพิจารณา และแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงต้องมีการหารือกันอีกครั้ง

การร่วมประชุมระหว่างกระทรวงพาณิชย์และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้า ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการปลดล็อคปัญหาที่กระทบต่อการส่งออกของไทย