เปิดรายงาน 'ธนาคารโลก' เตือน 'โควิด' กดดันไทยเร่งพัฒนาคน

เปิดรายงาน 'ธนาคารโลก' เตือน 'โควิด' กดดันไทยเร่งพัฒนาคน

ธนาคารโลกฉายภาพคะแนน PISA ไทยยังต่ำเกณฑ์ตามหลังสิงคโปร์ - เวีดยนาม ห่วงครัวเรือนยากจนเผชิญปัญหาเหลื่อมล้ำการศึกษาเพิ่มหลังเรียนออนไลน์ช่วงโควิดเข้าถึงได้แค่ 50% ส่วนการจัดสรรงบฯลงสู่นักเรียนยังต่ำแค่ 1 ใน 3 ของกลุ่ม OECD

ธนาคารโลก ประจำประเทศไทยจัดงานสัมนาในหัวข้อ “Strengthening the Foundation for Education Success in Thailand – PISA 2018” เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2563 เพื่อเสนอแนะการพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศไทย

นางเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวว่า ดัชนีทุนมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งที่จะบ่งชี้ถึงการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งการลงทุนการศึกษาที่มีคุณภาพที่เพียงพอให้กับประชากรอย่างทั่วถึงจะช่วยเพิ่มดัชนีทุนมนุษย์ของประเทศและเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว 

การวัดคะแนน Programme for International Student Assessment หรือ PISA ในไทยวัดคะแนนเด็กอายุ 15 ปี เรื่องการอ่าน คณิตศาสตร์และทัศนคติ รวมทั้งการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่ธนาคารโลกสำรวจ โดยคะแนนล่าสุดปี 2018 คะแนนแต่ละด้านได้แก่ คะแนนด้านการอ่าน ประเทศไทยอยู่ในลำดับ 68 จากทั้งหมด 79 ประเทศ 

ส่วนด้านคณิตศาสตร์อยู่ในลำดับที่ 59 และ 56 ในอันดับด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งคะแนนส่วนนี้ไทยยังนำหน้าฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียอยู่ แต่ธนาคารโลกยังเห็นแนวโน้มที่ไทยมีคะแนนตามหลังหลายประเทศ 

“ในปี 2010-2020 ประเทศไทยถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีการพัฒนาของดัชนีทุนมนุษย์ค่อนข้างดี ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 0.60 ช่วงที่มีโควิด-19 หรือมีวิกฤติต่างๆยิ่งมีความจำเป็นในการพัฒนาทุนมนุษย์ให้มีความเข้มแข็งมากขึ้นเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง” 

ทั้งนี้ค่าใช้่จ่ายในการลงทุนการศึกษาจากปฐมวัยถึงมัธยมศึกษาตอนต้นในไทยยังถือว่าน้อย ซึ่งที่จริงแล้วการลงทุนในเรื่องทุนมนุษย์ถือว่าสำคัญมากต่อการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตการจัดสรรงบประมาณเพื่อการศึกษาอย่างถูกที่ และกระจายออกไปให้ไม่มีความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องสำคัญที่ไทยต้องคำนึงถึงมากขึ้นในอนาคตด้วย

นายโรนัลด์ มูทาสะ ผู้นำด้านทรัพยากรมนุษย์ ธนาคารโลก กล่าวว่า ดัชนีทุนมนุษย์ของไทยในปี 2020 ที่ธนาคารโลกมีการปรับปรุงข้อมูลล่าสุดอยู่ที่ 0.60 เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในอาเซียนจะตามหลังสิงคโปร์ และเวียดนาม ซึ่งในปี 2020 ประเทศไทยถือว่ามีความคืบหน้าที่ดีขึ้นจากการเก็บข้อมูลล่าสุดในปี 2018 ที่อยู่ในระดับ 0.58 จากคะแนนเต็ม 1 คะแนน โดยในส่วนนี้หมายความว่าเด็ก 1 คนที่เกิดขึ้นในไทยจะสร้างผลิตภาพได้ 60% เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ 

อย่างไรก็ตามเมื่อเจาะลึกลงไปพบว่าดัชนีทุนมนุษย์ของประเทศไทยนั้นแม้จะมีความคืบหน้าที่ดีในหลายมิติ แต่ในด้านการศึกษาต้องถือว่าติดลบเมื่อดูจากหลายมุมมองทั้งการศึกษาระดับก่อนปฐมวัย และมาตรฐานการศึกษาในระดับที่สูงกว่า พบว่ายังต้องปรับปรุงและปลดล็อกปัญหาและอุปสรรคในหลายด้าน

ทั้งนี้ในภาคการศึกษาของไทยเมื่อเทียบในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ไทยนำเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาได้มากขึ้น และเพิ่มจำนวนระยะเวลาที่เด็กอยู่ในระบบการศึกษาได้นานขึ้น แต่ปัญหา คือ การศึกษามีความเหลื่อมล้ำมากและมีปัญหาระหว่างจำนวนปีค่าเฉลี่ยที่เด็กอยู่ในการศึกษากับจำนวนระยะเวลาที่เด็กได้เรียนรู้จริงช่องว่าง ส่วนนี้ไทยกว้างกว่าประเทศอื่น ซึ่งรัฐบาลต้องให้ความสนใจแก้ปัญหาส่วนนี้มากขึ้น 

ภาวะทางเศรษฐกิจที่กระทบจากโควิด-19 เด็กที่มาจากครอบครัวยากจนได้รับผลกระทบมากขึ้นและส่งผลต่อการศึกษาซึ่งรัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับปัญหาระยะสั้น โดยเฉพาะในครัวเรือนที่มีความเป็นอยู่ที่ยากจนซึ่งจะช่วยลดปัญหาเรื่องการเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่จะยิ่งมีมากขึ้นในอนาคต 

นายดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ด้านทรัพยากรมนุษย์ ธนาคารโลก กล่าวในหัวข้อผลจากโปรแกรมประเมินผลสมรรถนะนักเรียนตามมาตรฐานสากล (PISA) ปี 2561 : สู่การเสริมสร้างรากฐานการศึกษาเพื่อความสำเร็จว่าธนาคารโลกวิเคราะห์ผลลัพธ์ของ PISA ในเรื่องการอ่าน วิทยาศาสตร์  และคณิตศาสตร์ กับภูมิหลังของเด็กที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง 

โดยพบว่านักเรียนไทยยังทำคะแนนในด้านต่างๆต่ำกว่าพื้นฐานและมีคะแนนในเรื่องวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่ตกต่ำลง มีเด็กเพียง 0.2% ในไทยที่ทำคะแนนได้ค่อนข้างดี ขณะที่ในกลุ่มประเทศองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) จะอยู่ 9% 

สำหรับข้อมูลที่พบทำให้ทราบว่าการลงทุนในระบบการศึกษาที่ลงไปยังนักเรียนโดยตรงของเรายังค่อนข้างต่ำอยู่ที่เฉลี่ยคนละ 22,271 ดอลลาร์ต่อคน ซึ่งถือว่าต่ำมากเพราะคิดเป็นแค่ 1 ใน 3 ของนักเรียนต่อคนในกลุ่มประเทศ OECD เท่านั้น 

นอกจากนั้นเมื่อนักเรียนมีการเรียนที่สูงขึ้นรัฐบาลเพิ่มงบประมาณในการอุดหนุนการศึกษารายคน แต่ไม่ได้ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนเท่าที่ควร และยังมีการขาดแคลนบุคลากรทางการศึกษาอย่างมากเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศ OECD ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากทางการศึกษา และก่อให้เกิดความไม่เสมอภาคระหว่างโรงเรียนในเมืองกับชนบท โดยเฉพาะเมื่อมีการให้นักเรียนเรียนออนไลน์ความเหลื่อมล้ำยิ่งมีความชัดเจนเพราะมีนักเรียนที่ยากจนสามารถเข้าถึงการเรียนออนไลน์ได้เพียง 50%

ขณะที่ในกลุ่มฐานะดีมีการเข้าถึงได้ถึง 89% ขณะที่มีโรงเรียนเพียง 57% เท่านั้นที่มีความพร้อมในการรองรับการสอนออนไลน์ 

“ต้นกำเนิดที่เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามาจากการจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษาที่ไม่สมดุล และการจัดสรรทั้งคนและทรัพยากรในการเรียนรู้ระหว่างโรงเรียนในเมืองและชนบท จึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนของประเทศไทยในการแก้ปัญหาการศึกษา และเมื่อรู้ปัญหาแล้วก็ต้องเร่งแก้ปัญหา โดยเฉพาะจัดสรรทรัพยากรอย่างเหมาะสมเพื่อให้สร้างการศึกษาที่ดีขึ้นเพื่อให้เกิดการพัฒนาทุนมนุษย์ต่อไป”นายดิลกะ กล่าว