จับตา BH  ปรับกลยุทธ์ธุรกิจ รุกตลาดในประเทศทดแทนต่างชาติ

 จับตา BH  ปรับกลยุทธ์ธุรกิจ รุกตลาดในประเทศทดแทนต่างชาติ

การเปลี่ยนขั้วพันธมิตรในธุรกิจโรงพยาบาลส่งสัญญาณว่า “ใหญ่กับใหญ่” อาจจะไม่ใช่สูตรสำเร็จที่ได้ผลอีกต่อไปหลังเผชิญโควิด-19 และรูปแบบการใช้ชีวิตใหม่ หรือ นิวนอร์มอลทำให้หลายธุรกิจหันมาพึ่งพิงตลาดภายในประเทศมากขึ้นและธุรกิจการแพทย์เช่นกัน

ดังนั้นบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)  หรือ BDMS ประกาศขายหุ้นที่ถืออยู่ทั้งหมดใน โรงพยาบาล บำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BH 180 ล้านหุ้น หรือ 22.71% ในราคาหุ้นละ 103 บาทจึงเสมือนเป็นคำตอบว่าความร่วมมือทางธุรกิจ (Synergy) ไม่เกิดประสิทธิภาพเพียงพอกับวิกฤติในครั้งนี้

บวกกับความคิดเห็นที่ไม่ลงรอยกันระหว่างผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ในกรณีเสนอซื้อหุ้น หรือเทนเดอร์ ออฟเฟอร์  BH  ได้รับการปฎิเสธส่งผลทำให้ความร่วมกันทางธุรกิจย่อมมีความกินแหน่งแครงใจ   แม้ว่าช่วงที่ผ่านมา BH ขึ้นชื่อว่าเป็นหุ้นที่จ่ายผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้นในรูปของเงินปันผลได้อย่างสม่ำเสมอ จากปี 2562 มีการจ่ายปันรวม  3.2 บาทต่อหุ้น รวมเป็นเงิน 2,546 ล้านบาท  มีอัตราปันผลอยู่ที่ 2.2 %

ปัจจัยเสี่ยงในธุรกิจหลังโควิด-19 ทำให้กลยุทธ์แบบเดิม BH เริ่มมีความเสี่ยงมากขึ้น  จากเดิม BH ถือว่าเป็นหุ้นที่มีการเติบโตจากภาคการบริการการแพทย์และภาคท่องเที่ยว  จนมีจุดเด่นเป็นฮับในไทยที่ลูกค้าต่างชาติเข้ามารักษาและใช้บริการ 

โดยมีสัดส่วนกลุ่มลูกค้าต่างชาติสูงถึงกว่า 60 % ที่เหลือเป็นคนไทย  ท่ามกลางทีมแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญระดับต้นๆของประเทศทำให้ BH สามารถสร้างรายได้แต่ละปีกว่า 18,000 ล้านบาทได้อย่างสม่ำเสมอ  มีผลกำไรแต่ละปีเกือบ 4000 ล้านบาท และทำอัตรากำไรได้ถึง 20 %

ตัวเลขดังกล่าวถือว่าแข็งแกร่งมากสำหรับธุรกิจโรงพยาบาลที่มีเพียงแต่ศูนย์เดียวคือในกรุงเทพฯ และไม่มีการขยายศูนย์อื่นเพิ่มเติมเลยในช่วงที่ผ่านมา  แตกต่างจากโรงพยาบาลอื่นที่จะมีการขยายและเพิ่มศูนย์เฉพาะทางให้เกิดการขยายฐานคนไข้

ดังนั้นช่วงโควิด-19 ระบาดรุนแรงในไทยและต่างประเทศช่วงต้นปีที่ผ่านมา จึงมีผลกระทบหนักในไตรมาส 2 และยังกระทบเนื่องจากในไตรมาส 3 และ 4  โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่พึ่งพิงต่างชาติ เนื่องจากการแพร่ระบาดรอบ 2 ที่รุนแรงในต่างประเทศเข้ามากดดัน

ดังนั้นจึงเห็นผลการดำเนินงาน BH หดตัวรุนแรงในไตรมาส 2 มีรายได้  2,487 ล้านบาท   ลดลง  40 %  จากไตรมาสก่อน มีกำไรเหลือ 44.43 ล้านบาท  ลดลง 94.19 % จากไตรมาสก่อน   มีอัตรากำไรขั้นต้นลงมาอยู่ที่  1.79 %  ส่วนไตรมาส 3 รายได้กลับมาดีขึ้นอยู่ที่ 2,948.29 ล้านบาท 

ตัวเลขดังกล่าวมาจาก BH มีการลดค่าใช้จ่ายอย่างหนักประกอบไปด้วยค่าธรรมเนียมการแพทย์ และค่าใช้จ่ายพนักงาน จากการปรับอัตราเข้าตรวจของแพทย์ลดลง และการให้บริการพยาบาลลดลงตามจำนวนคนไข้ และยังลดพนักงานส่วนหนึ่งเพื่อลดต้นทุน

อย่างไรก็ตามด้วยรายได้การรักษาพยาบาลปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จนทำให้กำไรในงวดดังกล่าวอยู่ที่  221.53 ล้านบาท  และมีอัตรากำไรขั้นต้นดีขึ้นจากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 7.51 % แต่โดยรวมถือว่าฐานลูกค้าต่างชาติที่หายไปถึง 44 % ซึ่งแนวโน้มคนไข้ต่างชาติและภาพการท่องเที่ยวของไทยยังไม่ฟื้นตัวได้เร็วหนัก  แม้จะมีพัฒนาการของวัคซีนหลายบริษัทออกมาระบุว่ามีประสิทธิแต่กว่าจะสามารถใช้กับประชาชนในวงกว้างอาจจะต้องใช้ระยะเวลาไปถึงสิ้นปี 2564

ดังนั้น BH จึงถูกบีบให้ต้องหาแนวร่วมพันธมิตรรายใหม่ที่ตอบโจทย์ฐานคนไข้ในประเทศให้เพิ่มขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากคนไข้ต่างประเทศที่ยังไม่มีวี่แววจะกลับมาเป็นปกติได้ในเร็ววัน  ซึ่งการเข้ามาของ บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ PRINC สามารถปิดจุดอ่อนในส่วนนี้ได้

ทาง รพ.พริ้นซ์ มีโรงพยาบาลตามเมืองรองในมือมากถึง 11 แห่งมีจำนวนเตียงเกิน 1,000 เตียงและยังต้องการขยายโรงพยาบาลเพิ่มอีกปีละ 3 แห่ง จึงต้องมองหาจุดแข็งที่เพิ่มขึ้นมามาช่วยหนุนแบรนด์  จึงทำให้ BH สามารถขยายฐานคนไข้ทางอ้อมไปโดยปริยาย

จากนี้ไปถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนใหญ่ในธุรกิจการแพทย์ที่กลยุทธ์  “ใหญ่ + เล็ก อาจจะกลายเป็นสูตรธุรกิจใหม่ที่สร้างความแข็งแกร่งในอนาคตได้