BGRIM ไตรมาส3 กำไรลด 34% แต่กำไรจากการดำเนินงานนิวไฮ

BGRIM ไตรมาส3 กำไรลด 34% แต่กำไรจากการดำเนินงานนิวไฮ

BGRIM เผยไตรมาส3 ปี63 กำไรสุทธิ 500.76 ล้านบาทลดลง 34% รับผลกระทบขาดทุนค่าเงิน แต่กำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ 1,245 ลบ. สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ผลักดัน EBITDA Margin สูงสุดที่ 30.4% ลั่นการเงินแข็งแกร่ง มีเงินสดในมือกว่า 2 หมื่นล้านบาท มั่นใจ 7 โครงการ SPP ทยอย COD ปี 65-66 ตามแผน

บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM แจ้งผลประกอบการ (รวมบริษัทย่อย) งวดไตรมาส 3/63 มีกำไรสุทธิ 500.76 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 763.47 ล้านบาท ลดลง 34.4%

สำหรับ Q3/63 กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ อยู่ที่ 501 ล้านบาท ผลต่างจากกำไรสุทธิจากการดาเนินงาน ส่วนใหญ่มาจากรายจ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน ผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง จำนวน 310 ล้านบาท จากรายการหนี้สินสุทธิและเจ้าหนี้ค้างจ่ายที่เป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่สกุลเงินท้องถิ่นอ่อนค่า เมื่อเทียบกับสกุลดอลลาร์สหรัฐ การคิดลดมูลค่าเจ้าหนี้ค่าก่อสร้าง ตามมาตรฐานบัญชี 35 ล้านบาท และ การตัดจาหน่ายเงินคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 26 ล้านบาท อันเป็นรายการที่เกี่ยวเนื่องกับการก่อสร้างโครงการในปี 58      

ส่วนงวด 9 เดือน ปี 63 มีกำไรสุทธิ 1,598.6 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,921.68 ล้านบาท

นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยว่า ไตรมาส 3/63 บริษัทมีกำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ 1,245 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยเป็นส่วนของบริษัทใหญ่ที่ 745 ล้านบาท เป็นผลมาจากการเติบโตของกำลังการผลิตไฟฟ้า ปริมาณการใช้ไฟฟ้าของลูกค้าอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในอัตราถึง 28% จากไตรมาสก่อนหน้า การปรับปรุงประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลักดัน EBITDA Margin สู่ระดับสูงสุดที่ 30.4%

ทั้งนี้ BGRIM มีการกู้เงินสกุลต่างประเทศเพื่อป้องกันความเสี่ยงในส่วนของรายได้สกุลต่างประเทศ (natural hedge) ทำให้ในช่วงไตรมาส 3/63 เกิดรายการขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจากอัตราแลกเปลี่ยน 310 ล้านบาท เนื่องจากเงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเปรียบเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ดีรายการดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายทางบัญชีที่ไม่กระทบกระแสเงินสด และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้กำไรสุทธิอยู่ที่ 859 ล้านบาท โดยเป็นส่วนของบริษัทใหญ่ที่ 501 ล้านบาท

ในช่วงที่เหลือของปี คาดปริมาณการขายไฟฟ้าของลูกค้าอุตสาหกรรมจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมนั้นได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม หลังจากนั้นได้มีการฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญต่อเนื่องมาโดยตลอด และกลับสู่ภาวะปกติในเดือนกันยายน-ตุลาคม ด้วยปริมาณการใช้ไฟฟ้าของลูกค้าอุตสาหกรรมที่กลับมาอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนต่อเนื่องมา 2 เดือนแล้ว อันเป็นการฟื้นตัวจากทุกกลุ่มอุตสาหกรรม

โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์และโรงงานผลิตยางรถยนต์ ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของความต้องการภายในประเทศ รวมถึงจากการย้ายคำสั่งผลิตจากประเทศที่มีการแพร่ระบาดอย่างหนักของโรคโควิด-19 ขณะเดียวกันกลุ่มอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ และอิเล็กทรอนิกส์ ยังคงเติบโตตลอดช่วง 9 เดือนในปี 63 ด้วยปริมาณขายไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 16% และ 12% ตามลำดับ นอกจากนี้แนวโน้มราคาก๊าซธรรมชาติยังเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม โดยในไตรมาสสุดท้ายของปีตามประมาณการของ ปตท. คาดจะมีราคาลดลงอีกราว 6-7% จากไตรมาส 3/63

สำหรับโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Ray Power ในประเทศกัมพูชา ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 39 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมบ่อทอง วินด์ฟาร์ม 1&2 ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 16 เมกะวัตต์ มีความคืบหน้าตามแผน มีกำหนดการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ในไตรมาส 4/63 ถึงไตรมาส 1/64

นอกจากนี้ยังเดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 7 โครงการ กำลังการผลิตรวม 980 เมกะวัตต์ มีกำหนดการ COD ในปี 65-66 ตามแผนที่วางไว้ มั่นใจเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ตั้งเป้าการมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญาการซื้อไฟฟ้าที่ 7.2 กิกะวัตต์ ภายในปี 2568

ทั้งนี้ สถานะทางการเงินของบี.กริม เพาเวอร์ ยังคงแข็งแกร่ง ด้วยเงินสดในมือกว่า 2 หมื่นล้านบาท มีกระแสเงินสดที่มั่นคงจากโครงการโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการแล้ว 47 โครงการ มีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่ระดับต่ำ 1.3 เท่า และได้รับการสนับสนุนจากหลายสถาบันการเงิน ซึ่งเพียงพอในการพัฒนาโครงการที่อยู่ในแผนทั้งหมด